“สำเนียงหลวงอยุธยา” มาจาก “สำเนียงเหน่อสุพรรณบุรี” รากเหง้าสำเนียงโคราช?

จิตรกรรมฝาผนัง ขุนช้างขุนแผน วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี บทความ สำเนียงเหน่อสุพรรณบุรี
“วัดวาอาราม กุฏิพระสงฆ์ และบ้านเรือนริมน้ำ” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

“สำเนียงหลวงอยุธยา” มาจาก สำเนียงเหน่อสุพรรณบุรี รากเหง้าสำเนียง โคราช?

รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ใช้ภาษาไทย (สำเนียงเหน่อ ลาวลุ่มน้ำโขง) ในตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าทางบกกับทางดินแดนภายใน สถาปนาภาษาไทยและความเป็นไทยในรัฐอยุธยา

ตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา ใช้ภาษาเขมรเป็นหลักสืบจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทั้งในราชสำนักและในคนทั่วไป นอกนั้นใช้ภาษามอญ, ภาษามลายู, และภาษาอื่นๆ

สำเนียงหลวงจากสุพรรณ ประชากรรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทย (ตระกูลไต-ไท) เคลื่อนย้ายไปอยู่ในอยุธยาเป็นเจ้านายขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และประสมประสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ได้แก่ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ นับตั้งแต่นั้น สำเนียงเหน่อ “สุพรรณ” หรือ สำเนียงเหน่อสุพรรณบุรี ก็กลายเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา พยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ

สำเนียงโคราช กับเพลงโคราชมีพัฒนาการความเป็นมาโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในโคราชคราวเดียวกัน จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง

สำเนียงโคราช น่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ (แบบลาว)

หลัง พ.ศ. 2000 อยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู แต่ต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียก สำเนียงเหน่อ แต่ทางลุ่มน้ำมูลจะเรียกภายหลังว่าสำเนียงโคราช ใกล้เคียงสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออก

เพลงโคราช เป็นเพลงโต้ตอบของหญิง-ชาย (ที่นักวิชาการสมัยหลังเรียกด้วยคำบาลี-สันสกฤตให้ยากขึ้นว่าเพลงปฏิพากย์) มีพัฒนาการคราวเดียวกับสำเนียงโคราช ต่างกันแต่สำเนียงโคราชเป็นร้อยแก้ว ส่วนเพลงโคราชเป็นร้อยกรอง ประเภทกลอนหัวเดียว ฉันทลักษณ์เดียวกันกับเพลงฉ่อยของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ในบทไหว้ครูเพลงฉ่อย มีกล่าวถึงครูเพลงโคราชพาดควาย (หมายถึงเพลง โคราช กับเพลงพาดควายเป็นสองเพลง) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเพลงฉ่อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“สุจิตต์ วงษ์เทศ : สำเนียงหลวงยุคอยุธยา ปัจจุบันเรียกเหน่อ ตกค้างตามท้องถิ่นต่างๆ”. มติชนออนไลน์

สุจิตต์ วงษ์เทศ. โคราชของเรา. มติชน, 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2561