ทำไม “เมืองสุพรรณบุรี” ในอดีต ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองโจร-เมืองคนดุ” !?

หอดูโจร ตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า สุพรรณบุรี เมืองสุพรรณบุรี
เมื่อภัยโจรลามไปทั่วสุพรรณ แม้แต่ที่ตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า ยังมีหอดูโจร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477

เหตุใด “เมืองสุพรรณบุรี” ในอดีต ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองโจร” หรือ “เมืองคนดุ” ?

เมื่อ 70-80 ปีมาแล้ว เมืองสุพรรณบุรี มีชื่อเสียงลือกระฉ่อนไปในทางลบ เป็นเมืองคนดุ เป็นเมืองโจร เป็นเมืองเสือปล้น จริงแค่ไหน? สาเหตุเกิดจากอะไร?

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองสุพรรณค่อย ๆ ก่อตั้งเป็นเมืองเป็นตลาดมีร้านค้าขายขึ้น ตลาดจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นตลาดเล็ก มีห้องแถวไม้ไม่เกิน 100 ห้อง

ในช่วงนี้โจรผู้ร้ายชุกชุมจริง ๆ ข้าพเจ้าเป็นเด็กฟังผู้ใหญ่เขาเล่าว่า เสือเข้าปล้นที่โน่น อีกไม่กี่วันมีข่าวว่าปล้นที่นี่อีก จนแทบจะเป็นข่าวปกติธรรมดา ทั้งตื่นเต้นและไม่ตื่นเต้น แต่ออกจะตื่นเต้นเมื่อมีข่าวว่าเสือจะเข้าปล้นเศรษฐีในตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี ทุกคนในตลาดเตรียมมีดเตรียมไม้ ใครมีปืนก็เตรียมตัวไว้ แต่แล้วก็เงียบหายไป ไม่มีการปล้นตลาดเกิดขึ้น

ในช่วงนั้นเมืองสุพรรณลือลั่นไปด้วยข่าวในทางลบว่าเป็นเมือง “เสือ” เมืองโจร เมืองคนดุ ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธมิได้ จนมีคำกล่าวของคนต่างจังหวัดว่า ถ้าใครย้ายไปรับราชการเมืองสุพรรณจะต้องเตรียมเอาหม้อไปใส่กระดูกให้ญาติไปเอากลับมาด้วย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเกิดจากปัจจัยลบรอบด้าน

พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งหลัง สร้างแบบอย่างไว้ให้คนไทยถือเอาเป็นตัวอย่าง ด้วยพม่าปล้นทรัพย์สินราษฎรพร้อมกับทำทารุณกรรมต่าง ๆ นานา ใครไม่ยอมก็ต้องถูกฆ่าตาย เมื่อสงครามสงบราษฎรอดอยากยากแค้น ผู้ที่เกียจคร้านไม่คิดจะทำงานทำการ จึงดิ้นรนด้วยการปล้นสะดม

อีกปัจจัยหนึ่ง คือข้าราชการกดขี่ข่มเหงราษฎร ซ้ำยังปล่อยปละละเลยให้ราษฎรเล่นการพนันเพื่อหวังผลตอบแทนด้วยเงิน เป็นมูลเหตุให้เกิดความยากจน จึงต้องฉกชิงวิ่งราว จนกระทั่งเกิดการปล้นกันขึ้น

ปัจจัยที่สาม การชลประทานสมัยโน้นไม่ดี หรือยังไม่มี เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ราษฎรอดอยาก ไม่รู้จะหันไปทางไหน จึงหันไปประกอบพฤติกรรมเสือร้ายปล้นสะดมชาวบ้าน

หอดูโจร ตลาดเก้าห้อง สุพรรณบุรี
ภัยโจรลามไปทั่วสุพรรณ แม้แต่ที่ตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า ยังมีหอดูโจร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477

เพราะทางราชการขาดความสนใจเมืองสุพรรณ ปล่อยทิ้งตามบุญตามกรรม ขาดการติดต่อกับโลกภายนอก การสัญจรไปมามีทางน้ำทางเดียว เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปกลับต้องใช้เวลานั่งนอนในเรือไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่การเดินทางไปเชียงใหม่โดยทางรถไฟไปกลับไม่ถึง 30 ชั่วโมง

เมืองสุพรรณบุรี สมัยโน้นยังเป็นป่าเป็นดงจริง เพียงฝั่งตรงข้ามตัวตลาดจังหวัดในขณะนั้น วัดพระรูป อาจารย์คำ เจ้าอาวาส เล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนท่านเป็นเด็ก ต้นไผ่ลำโต ๆ ใหญ่เท่าโคนขา สุนัขนอนหลับอยู่บนศาลา เสือมาลากเอาไปกิน (เข้าใจว่าเป็นเสือบองซึ่งเป็นเสือขนาดเล็กไม่ทำร้ายคน) ในโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอายุราว 10 ขวบ (พ.ศ. 2467) เดินเข้าไปในโรงเรียนตอนเช้าเห็นขี้กระต่ายอยู่กลางสนามฟุตบอล (ปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี) ซึ่งอยู่กลางใจเมือง

จวบจนกระทั่งข้าพเจ้ามีอายุร่วม 30 ปี (พ.ศ. 2485-2487) ที่วัดพระรูปก็ยังมีดงกระต่าย ชะมด อีเห็น ตกกลางคืนมีคนเอาปืนลูกซองไปยิงกระต่าย ก่อนที่จะสร้างโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ที่ตรงนี้เป็นวัดโพธิ์ร้าง มีต้นยางสูงลิบลิ่วประมาณ 6-7 ต้น

ภาพถ่าย ภาพเก่า ชาวบ้าน สุพรรณบุรี
ภาพถ่ายชาวบ้านเมืองสุพรรณ (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2540 บันทึกภาพโดย มนัส โอภากุล)

ชาวบ้านมักจะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อกุยเฮง (เสื้อผ่าอกตลอด) แบบจีน ปล่อยชายมีกระเป๋า 2 ใบ สีดำ กินหมาก เวลาจะออกจากบ้านต้องถือมีดดาบ หรือมีดซึ่งเหน็บไว้ข้างหลัง อย่างน้อยก็ไม้ตะพด เพื่อป้องกันอันตราย

พฤติกรรมดังกล่าวของชาวบ้านเมืองสุพรรณ บวกกับสำเนียงพูดหนัก ไม่เหมือนสำเนียงการพูดของชาวกรุงเทพฯ จึงบอกว่าชาวสุพรรณพูดเสียง “เหน่อ” ผิดไปจากเสียง “เยื้อง” ของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นเสียงมาตรฐาน ทั้งการแต่งการนุ่งโสร่งหยักรั้งเหมือนนักเลงโต ถือมีดดาบ มีมีดเหน็บหลัง รวมทั้งสำเนียงพูดหนัก ในสายตาทำให้ชาวต่างจังหวัดเหมาเอาว่าคนสุพรรณเป็นคนดุ

ความเป็นจริงคนสุพรรณหาได้เป็นคนดุไม่ แต่เป็นคนจริง รักพวกรักพ้องและรักอาคันตุกะจากต่างท้องถิ่นที่ไปดี ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือไม่จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ยกขันน้ำพร้อมเชิญชวนให้รับประทานอาหารด้วยอัธยาศัยดี

ข้าราชการก่อนย้ายไปเมืองสุพรรณกลัวนักหนา ต่อเมื่อย้ายไปอยู่แล้ว รักคนสุพรรณ เป็นกันเองกับชาวสุพรรณ ไปแล้วก็ยังอยากกลับเมืองสุพรรณตลอดมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ?” เขียนโดย มนัส โอภากุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2561