“หลวงพ่อโต” วัดป่าเลไลยก์ ที่สุพรรณบุรี แสดงปางป่าเลไลยก์ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปางประทานปฐมเทศนา?

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จ. สุพรรณบุรี
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จ. สุพรรณบุรี (ภาพจาก เพจ Matichon Academy - มติชนอคาเดมี)

“หลวงพ่อโต” พระประธานวิหาร วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หรือ วัดป่าเลไลยก์ ที่ จ. สุพรรณบุรี สรุปแล้วเป็น “ปางป่าเลไลยก์” ตั้งแต่แรก หรือเดิมทีคือ “ปางปฐมเทศนา” กันแน่? 

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จ. สุพรรณบุรี
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จ. สุพรรณบุรี (ภาพจาก เพจ Matichon Academy – มติชนอคาเดมี)

เรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้อธิบายและชี้ชัดว่า พระประธานของ “หลวงพ่อโต” แสดงปางป่าเลไลยก์มาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปางประทานปฐมเทศนาเหมือนพระพุทธศิลาขาว ที่วัดพระเมรุ จ. นครปฐม อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยสันนิษฐานและบันทึกไว้ ว่า

“สังเกตดูลักษณะพระป่าเลไลองค์นั้น (คือหลวงพ่อโต พระประธานวิหาร วัดป่าเลไลยก์ -ผู้เขียน) ดวงพระพักตร์เป็นแบบทวารวดี และทํานั่งห้อยพระบาทเหมือนอย่างแบบพระทวารวดีที่พระปฐมเจดีย์ (ภาพด้านล่าง-ผู้เขียน)”

พระพุทธศิลาขาว ทวารวดี
พระพุทธศิลาขาว (ภาพ : หอสมุดวังท่าพระ)

สร้างในสมัยเมื่อนับถือแบบทวารวดี และของเดิมคงทําเป็นพระปางปฐมเทศนา คือจีบพระหัตถ์ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างที่ตรงพระอุระ เหมือนอย่างพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลเช่นเรานับถือกัน ชั้นหลังมีรูปช้างและรูปลิง ของเดิมที่วัดพระป่าเลไลที่เมืองสุพรรณบุรีก็ไม่มี แต่พระพุทธรูปองค์เดิมนั้นทิ้งชํารุดมาช้านานจนพระกรและพระหัตถ์หักพังหายไป ผู้ไปปฏิสังขรณ์ทีหลังไม่รู้ว่าพระหัตถ์ของเดิมเป็นอย่างไร จึงทําใหม่แปลงเป็นอย่างปางพระป่าเลไล สมัยชั้นหลัง”

หลักฐานที่สุจิตต์นำมาเสนอ คือ “ภาพพิมพ์ดินเผา” หลักฐานที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงไม่เคยพบเห็น มีอายุหลัง พ.ศ. 1300 ปัจจุบันเรียกกันว่าสมัยทวารวดี ซึ่งมีอายุตรงกับ “หลวงพ่อโต” ในภาพพิมพ์ดินเผานั้นปรากฏรูปช้างกับลิงที่เป็นเครื่องยืนยันและแสดงให้เห็นว่าเป็นปางป่าเลไลยก์ 

พระพิมพ์ดินเผา ทวารวดี
(ซ้าย) พระพิมพ์ดินเผา อายุหลัง พ.ศ. 1300 บ้านสําเภาล่ม ต. นางบวช อ. เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี (อ. ศรีศักร วัลลิโดม พบอยู่ในครอบครองของชาวบ้าน ราวพ.ศ. 2510 ภาพจากหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ของ ธิดา สาระยา สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532), (ขวา) ลายเส้นโดย ธัชชัย ยอดพิชัย (ศิลปวัฒนธรรม มติชน) [ภาพ : มติชน]
ขณะเดียวกันหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ก็มีส่วนประกอบเหมือนกันคือมีช้างและลิงกำลังถวายสิ่งของ จึงทำให้คาดเดาได้ว่า พระประธานองค์นี้เดิมน่าจะเป็นปางป่าเลไลยก์ตั้งแต่แรก

แม้สุนทรภู่และเสมียนมี กวีสมัย ร.3 ผู้เห็นหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ ก่อน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเขียนในโคลงนิราศ ถึงพระประธานองค์นี้ว่า พระป่าเลไลยก์ “ยอกรหย่อนบาท” หรือยกมือและนั่งห้อยพระบาท โดย “ยอกร” ที่ว่าคือการยกขึ้นทำปางอย่างใดอย่างหนึ่งตามประเพณีที่มีมาก่อน และปางที่ว่าก็เป็นได้หลายปาง เช่น เทศนา ประทานพร เป็นต้น ซึ่งในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ อาจระบุว่าปาง “ยอกร” ที่หมายถึง ยกพระหัตถ์ (ทำปางปฐมเทศนา) 

แต่ขณะเดียวกัน สุนทรภู่ได้เขียนระบุไว้อีกด้วยว่า มีรูปลิงเผือกกับช้างเผือกถวายของ ส่วนเสมียนมี ก็พรรณาไว้ในกลอนนิราศสุพรรณว่า พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแขนหักทั้งซ้ายขวา มีลิงกับช้างหมอบข้างละตัว 

จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า แม้พระองค์จะยอกรหรือยกพระหัตถ์ทำปางปฐมเทศนาก็จริง (ซึ่งพระพิมพ์ดินเผาก็ทำทำท่ายอกรเหมือนปางปฐมเทศนาเช่นเดียวกัน) แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และทำให้ชี้ชัดได้ว่า “หลวงพ่อโต” เป็นปางป่าเลไลยก์ ตั้งแต่ต้น ก็คือ การมีลิงและช้างขนาบข้างทั้ง 2 องค์ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.matichon.co.th/columnists/news_4349119


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2566