ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นยุคสมัยที่มีการติดต่อกับตะวันตกอย่างใกล้ชิด รวมถึงด้านศาสนา เมื่อพระองค์ทรงยอมให้นักบวชในคริสต์ศาสนาดำเนินกิจกรรมทางศาสนาได้ในดินแดนของพระองค์ และลพบุรีศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ก็น่าจะมีร่องรอยของคริสต์ศาสนาหลงเหลืออยู่ไม่น้อย เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไปหลายร้อยปี ปัจจุบันมีคำร่ำลือกันว่า ในลพบุรีมีศาสนวัตถุสำคัญของชาวคริสต์ในยุคก่อนชิ้นหนึ่งนั่นคือ “ไม้กางเขน” ซึ่งอาจถูกทิ้งร้างไปเมื่อศาสนาคริสต์เสื่อมลง ถูกช่างฝีมือยุคหลังนำมาใช้เป็นแกนกลางในการสร้าง “พระพุทธรูป”!
เรื่องนี้ ส.สีมา ผู้เขียนบทความเรื่อง “พระประธานในวิหารวัดเสาธงทอง” กล่าวว่า พระพุทธรูปดังกล่าว [หากมีจริง] น่าจะประดิษฐานอยู่ในวัดที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ หรือเกี่ยวโยงกับกิจกรรมของราชสำนักที่เกี่ยวเนื่องกับชาวต่างชาติอีกที ซึ่งวัดดังกล่าวก็น่าจะเป็น “วัดเสาธงทอง” หรือไม่ก็ “วัดรวก” ที่อยู่ติดกัน และอยู่ห่างจากประตูวิเศษไชยศรี พระนารายณ์ราชนิเวศน์เพียง 50 เมตร
และหากเทียบกันระหว่าง พระประธานในอุโบสถของวัดรวก กับหลวงพ่อโตในพระวิหารวัดเสาธงทองแล้ว ส.สีมา เชื่อว่า น่าจะเป็นหลวงพ่อโตมากกว่าเนื่องจาก หลวงพ่อโต เป็น “พระพุทธรูป” ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง สกุลช่างอู่ทอง-อยุธยาปางมารวิชัย เป็นพระประธานขนาดใหญ่มาก พระเกศามาลาสูงเสมอไม้เครื่องบนพระวิหาร ขณะที่พระประธานในอุโบสถของวัดรวกเป็นพระยืนไม่เหมาะกับการก่อรูปโดยมีไม้กางเขนเป็นแกนกลาง
ต่อมา ส.สีมา ได้พบหลักฐานในหนังสือ “ที่ระลึกกฐินพระราชทานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทอด ณ วัดเสาธงทอง อำเภอเมือง ลพบุรี ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๐” ซึ่งกล่าวว่า พระธรรมรามมุนี (ขุน) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทองเมื่อช่วงปี 2478-2506 เคยกล่าวกับพระภิกษุในวัดว่า พระพุทธรูปองค์นี้ (หลวงพ่อโต) สร้างหุ้ม “ไม้กางเขน” เหล็กของคริสต์ศาสนาเอาไว้ และเชื่อว่าเจ้าอาวาสรูปนี้น่าจะได้เห็นหลักฐานกับตาตัวเองจึงได้กล่าวเช่นนั้น
นอกจากนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวยังกล่าวว่า พระวิหารหลังนี้ อาจเคยเป็นที่ทำการ หรือโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย
ข้อมูลดังกล่าว ส.สีมา ได้ตรวจสอบซ้ำกับ พระครูประภัสร์สุตคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (พระครูสุทัศน์) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ได้ความว่า เรื่องไม้กางเขนในหลวงพ่อโตเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาช้านาน โดยไม่มีเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือหลักฐานอื่นใดมายืนยัน แต่มีข้อประหลาดประการหนึ่งก็คือ หลวงพ่อโตมีพระเกศสูงเกินระดับเพดานพระวิหาร ต่างไปจากปกติที่จะอยู่เสมอหรือต่ำกว่า “จึงชวนให้สงสัยกันเป็นพิเศษ!”
สรุปรวมความได้ว่า เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันปากต่อปาก ยังขาดหลักฐานที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่า “หลวงพ่อโต” สร้างขึ้นเมื่อใด ใครสร้าง และมีแรงจูงใจอะไรที่จะเอาไม้กางเขนมาเป็นแกนกลางในองค์พระ มีเอกสารเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงตำนานดังกล่าว ซึ่งก็อาจจะเป็นการเอาตำนานที่เล่ากันอยู่แล้วมาพิมพ์ลงหนังสือเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่หลักฐานร่วมสมัย จึงต้องมีการสืบค้นหาหลักฐานอื่นๆ มาประกอบการพิจารณากันต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลวงพ่อคอหัก” หรือ “พระสุริยมุนี” พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี
- พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูปที่พระราชทานให้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส.สีมา. “พระประธานในวิหารวัดเสาธงทอง”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2561