“หลวงพ่อคอหัก” หรือ “พระสุริยมุนี” พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี

หลวงพ่อคอหัก พระสุริยมุนี พระนครศรีอยุธยา
“หลวงพ่อคอหัก” หรือ “พระสุริยมุนี” ประดิษฐานภายในวิหารตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อคอหัก นามเรียกขานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกที่ประดิษฐานภายในวิหารตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี

มีเรื่องเล่าขานถึงที่มาของนาม “หลวงพ่อคอหัก” [1][2] ผู้ที่ทำให้ชื่อเสียงของพระพุทธรูปศิลาองค์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ นายพวง อุณจักร นายสถานีรถไฟอยุธยากับคณะ ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2475 ได้ช่วยกันรวบรวมพระพุทธรูปที่ชำรุดปรักหักพังที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดในบริเวณวัดหัวกระบือ (ร้าง) อันเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ในเขตที่ดินของรถไฟ โดยนำมาตั้งเรียงกันและทำหลังคาบังแดดบังฝนไว้

นายพวงเล่าว่า เมื่อประมาณปี 2475 ย้ายจากทุ่งสง มาดำรงตำแหน่งนายสถานีอยุธยา โดยปกตินายพวงเป็นคนมีใจบุญสุนทานอยู่แล้ว ได้เห็นโคกแห่งหนึ่งในเขตย่านสถานีอยุธยา เต็มไปด้วยป่าสะแก รกรุงรังมาก เป็นที่พักเลี้ยงควายของชาวบ้าน เพราะที่โคกนี้ฤดูน้ำท่วมไม่ถึง

นายพวงเห็นชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูปทิ้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป บางส่วนมีมูลควายทับถมอยู่ บางชิ้นเป็นที่นั่งเล่นของชาวบ้าน เมื่อพบพระพุทธรูปชำรุดที่จมอยู่ในสิ่งโสโครกในที่แวดล้อมเช่นนี้ก็มีความรู้สึกสังเวช จึงได้เก็บมารวบรวมไว้เป็นที่ แล้วถากถางบริเวณที่รกรุงรังให้สะอาดตาขึ้นตามสมควร นำชิ้นส่วนมาประกอบติดต่อกันเท่าที่จะทำได้

ในจำนวนพระพุทธรูปทั้งหมด มีอยู่องค์หนึ่งที่งามเป็นพิเศษ นั่นก็คือพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกที่ผู้ที่สนใจร่วมกันในคราวนั้นและชาวบ้านพากันเรียกนามว่า “หลวงพ่อคอหัก” เนื่องจากปะติดปะต่อกันจากชิ้นส่วนที่เก็บมาได้ และชื่อนี้ยังใช้กันมาอยู่จนทุกวันนี้

ภาพมุมสูงบริเวณวิหารประดิษฐาน “หลวงพ่อคอหัก” ตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

อภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ “หลวงพ่อคอหัก” ปรากฏขึ้น เมื่อนายพวงกับพนักงานรถไฟ ได้พากันไปอธิษฐานขอให้ถูกสลากกินแบ่งที่นายพวงและเพื่อนร่วมหุ้นกันซื้อไว้ 1 ใบ ใบละบาท โดยออกเงินคนละ 10 สตางค์ แล้วจะสร้างวิหารถวายพร้อมกับทำสะพานไม้ เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ข้ามไปนมัสการโดยสะดวก น่าอัศจรรย์ยิ่งเพราะเมื่อถึงกำหนดออกรางวัล สลากใบนั้นตรงกับเลขรางวัลที่ 1 ได้รับเงินถึง 80,000 บาท แบ่งหุ้นกันคนละ 8,000 บาท ค่าของเงินจำนวนนี้นับว่ามากโขในสมัยนั้น

นายพวงกับคณะที่ถูกลอตเตอรี่ก็ได้ช่วยกันออกเงินสร้างวิหารถวายทำด้วยไม้ สิ้นเงินไปประมาณ 2,000 บาทเศษ ต่อจากนั้นได้รวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่เหลือมาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อีก 8 องค์ รวมหลวงพ่อคอหักจึงมีพระพุทธรูปที่อยู่ในวิหารไม้แห่งนี้ 9 องค์ พระพุทธรูปทั้งหมดเป็นพระพุทธรูปหินทราย

ในวิหารไม้แห่งนี้ มีพระพุทธรูปปฏิสังขรณ์ 9 องค์ โดยมาจากที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว “หลวงพ่อคอหัก” เป็นพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกทำด้วยหินทรายสีเขียว (นอกนั้นเป็นหินทรายสีแดง) ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธรูปหลายท่านกล่าวว่า มีพุทธลักษณะแบบศิลปะทวาราวดี แกะนูนออกมาจากแผ่นศิลา พระพักตร์มีรอยกะเทาะหลุดออกทำให้เศียรขาด ส่วนตั้งแต่คอลงมาจนถึงฐานอยู่ในลักษณะดี ศีรษะพญานาคชำรุดซีกหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูปทุกองค์ ในลักษณะเป็นพระประธาน เมื่อชำรุดอยู่นั้นได้รับการปิดเป็นทองเด่นกว่าทุกองค์ ประชาชนมักพุ่งความศรัทธาต่อพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพิเศษ

มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส “หลวงพ่อคอหัก” พากันมาสักการบูชาอธิษฐานขอพรกันมากขึ้นเรื่อยๆ กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ก็เลื่องลือออกไปไกล ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาโดยเฉพาะทางรถไฟ มักจะยกมือขึ้นสักการะขอพรเสมอๆ และมีผู้รวมกันปวารณาเป็นศิษย์ของหลวงพ่อใช้นามว่า คณะศิษย์หลวงพ่อคอหัก

ต่อมาได้มีการก่อสร้างวิหารไม้เป็นอาคารคอนกรีต เนื่องมาจาก นายเฮาะจิว นิธากร เจ้าของโรงงานผลิตถ่านไฟฉายศรีชัยอยู่ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสมัยยังหนุ่มได้ไปมาค้าขายระหว่างกรุงเทพ-ปากน้ำโพ เมื่อนั่งรถไฟผ่านวิหารหลวงพ่อคอหักก็ยกมือไหว้อธิษฐานขอให้ทำมาค้าขึ้นร่ำรวย แล้วจะมาสร้างวิหารให้ใหม่ ภายหลังมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็เลยมาทำบุญตามคำพูด

ราวปี พ.ศ. 2507 นายเฮาะจิวได้บริจาคเงินประมาณ 200,000 บาท สร้างวิหารหลังใหม่และสะพานคอนกรีต พร้อมกับบูรณะพระพักตร์ที่ชำรุดอยู่จนเรียบร้อย และได้นิมนต์ หลวงพ่ออั้น คนฺธาโร หรือ พระครูศิลกิตติคุณ เจ้าอาวาสวัดพระญาติการามในเวลานั้น มาประกอบพิธีตามหลักทางพระพุทธศาสนาต่อเศียรองค์พระพุทธรูป

พระครูศิลกิตติคุณมีความเคารพนับถือใน“หลวงพ่อคอหัก” มาก ท่านได้เรียกนามพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกองค์นี้ใหม่ว่า “พระสุริยมุนี” และได้นำเอารูปแบบพุทธลักษณะขององค์พระสุริยมุนีไปสร้างเป็นพระพิมพ์ขึ้นมาด้วย เรียกว่า พระพิมพ์นาคปรก “พระสุริยมุนี” สร้างด้วยดินเผาอุดผงพุทธคุณใต้ฐาน

ราว พ.ศ. 2508-2510 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชา “พระสุริยมุนี” กันอย่างทั่วถึง คณะกรรมการจึงได้จัดสร้าง “พระสุริยมุนีจำลอง” ขนาดเท่าองค์จริง จำนวน 9 องค์ นำไปประดิษฐานตามต่างจังหวัดต่างๆ ดังนี้

องค์ที่ 1 ประดิษฐานที่บึงพระราม สวนสาธารณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่โรงเรียนวัดพระญาติการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

องค์ที่ 3 ประดิษฐานที่วัดป่าสวนเกษตรรังสรรค์ (วัดดงสระพัง) จังหวัดอุดรธานี

องค์ที่ 4 ประดิษฐานที่มณฑปวัดพุทธภูมิ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

องค์ที่ 5 ประดิษฐานที่วัดในจังหวัดชัยภูมิ

องค์ที่ 6 ประดิษฐานที่ ภาคตะวันออก

องค์ที่ 7 ประดิษฐานที่ ภาคเหนือ

องค์ที่ 8 ประดิษฐานที่ ศาสนาสถาน ค่ายพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

องค์ที่ 9 ประดิษฐานที่ จังหวัดอุบลราชธานี [1]

“หลวงพ่อคอหัก” หรือ “พระสุริยมุนี” ตามคำบอกเล่าว่าพระพักตร์มีรอยกะเทาะหลุดออกทำให้เศียรขาด ส่วนตั้งแต่คอลงมาจนถึงฐานอยู่ในลักษณะดี ศีรษะพญานาคชำรุดซีกหนึ่ง เมื่อพิจารณาพุทธลักษณะในปัจจุบันหลังการบูรณะ ยังคงปรากฏรูปแบบพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีอย่างชัดเจนดังนี้

– พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ

– พระอุษณีษะนูน ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่

– พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปน พระขนงสลักเป็นเส้นนูนโค้งติดต่อกันดังรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวจรดพระอังสา

– พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระอังสาซ้าย มีลักษณะเหมือนชายผ้าพับซ้อนทับกัน

หลวงพ่อคอหัก พระสุริยมุนี พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อคอหักภายในวิหารในปัจจุบัน

ส่วนที่บูรณะใหม่ขององค์พระพุทธรูป ถ้าดูจากด้านหลังจะเห็นแนวบูรณะในส่วนศีรษะพญานาค และส่วนที่ขนาบข้างซ้ายขวาองค์พระพุทธรูป ที่เดิมน่าจะเป็นรูปสถูปทรงหม้อน้ำขนาบอยู่ทั้งสองข้าง สันนิษฐานว่ารูปสลักสถูปส่วนนี้อาจชำรุดอยู่มากเหลือเพียงชิ้นส่วนเล็กน้อย ทำให้ถูกแปลงรูปแบบบูรณะใหม่เป็นรูปฉัตร เครื่องสูงปักตั้งขนาบข้างซ้ายขวาพระพุทธรูปแทนในปัจจุบัน

ด้านหลัง หลวงพ่อคอหัก พระสุริยมุนี พระนครศรีอยุธยา
ด้านหลังหลวงพ่อคอหัก

รูปสถูปทรงหม้อน้ำขนาบอยู่ทั้งสองข้างพระพุทธรูปปางนาคปรก มีปรากฏในพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี องค์ที่สำคัญคือ พระพุทธรูปนาคปรก หินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 5 นอกเมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก หินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 5 นอกเมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 14 – 15 (ภาพจากเพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)
พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก หินทราย พบที่โบราณสถานหมายเลข 5 นอกเมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 14 – 15 (ภาพจากเพจ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

น่าสนใจว่า พระพิมพ์นาคปรก “พระสุริยมุนี” ที่จัดสร้างตามรูปแบบพุทธลักษณะขององค์หลวงพ่อคอหัก โดย พระครูศิลกิตติคุณ เจ้าอาวาสวัดพระญาติการามในช่วงเวลานั้น จะเห็นความเป็นรูปสถูปทรงหม้อน้ำขนาบอยู่ทั้งสองข้างพระพุทธรูปปางนาคปรก มากกว่าจะเป็นรูปฉัตรขนาบข้าง

พระเครื่องพิมพ์นาคปรก “พระสุริยมุนี” โดย พระครูศิลกิตติคุณ วัดพระญาติการาม (ภาพจาก http://www.baantonmai-pra.com)

ส่วนการจัดสร้าง “พระสุริยมุนีจำลอง” ขนาดเท่าองค์จริง จำนวน 9 องค์ พบภาพในอินเทอร์เน็ตเพียง 1 องค์ ที่จังหวัดยะลา “พระสุริยะมุนีศรียะลา” ประดิษฐ์อยู่ที่มณฑปวัดพุทธภูมิ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา [3]

พระสุริยะมุนีศรียะลา พระพุทธรูปองค์จำลองจากองค์จริง องค์ที่ 4 ประดิษฐ์อยู่ที่มณฑปวัดพุทธภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา (ภาพจากเพจ ศรีสุมัญญพราหมณ์ “ลิตเติ้ลฮินดู”)

อนึ่ง มีพระพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี สำคัญอีกหนึ่งองค์ ที่พบไม่ไกลจากบริเวณที่พบ “หลวงพ่อคอหัก” วัดหัวกระบือ(ร้าง) หรือสถานีรถไฟอยุธยา คือ พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะทวารวดี จากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร [4]

พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-15 จากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

พระพุทธรูปองค์นี้อัญเชิญมาจากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2474 ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์โปรดว่าเป็นประติมากรรมที่งามองค์หนึ่ง ดังข้อความในจดหมายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ถึงอำมาตย์ตรี พระสมัครสโมสร มหาดไทยมณฑลอยุธยา ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ด้วยพระพุทธรูปสมัยทวารวดีนาคปรกจำหลักในแผ่นศิลาคล้ายใบเสมา มีรูปสถูป 2 ข้าง ใต้ขนดนาคเปนหน้าสิงห์ 2 ข้างหน้าสิงห์มีรูปเทวดายกมือรองสถูป อยู่ที่วัดประดู่โรงธรรมซึ่งผมได้ขึ้นมาตรวจเมื่อ 2-3 วันนี้นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ตรัสว่าเปนของดี สมควรจะเชิญเอาลงไปรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ผมจึงได้จดหมายฉบับนี้มาเรียนคุณพระขอให้ช่วยจัดการเอาใส่หีบส่งลงไปทางรถไฟ…” [4]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลอ้างอิง :

[1] ประวัติพระสุริยมุนี (หลวงพ่อคอหัก) โดย dhammanon ใน นวรัตน์ดอทคอม http://www.navaraht.com/forum/forum46/topic5936.html

[2] หลวงพ่อคอหัก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย หนุ่มสุทน ใน https://travel.trueid.net/detail/RpELLD4AWyNw

[3] พระสุริยะมุนีศรียะลา ใน https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1636992603285200.1073741865.1457936097857519&type=3

[4] พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-15 จากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร https://www.finearts.go.th/museumbangkok/view/37722-พระพุทธรูปนาคปรก  ?fbclid=IwAR3ixSuNsw_pTbvEHBn2XhQBC4O_v-XtkXv6LxlxIMGVL9Y55U5Iuahhz9M


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566