ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ทวารวดี” เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร แปลว่าเมืองที่ประกอบไปด้วยประตูและรั้ว ทั้งยังถือเป็น “นามมงคล” เพราะเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ พื้นที่ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นที่สนใจของนักวิชาการมากหน้าหลายตา แม้ว่าหลายเรื่องจะได้ข้อสรุปไปแล้วบ้าง เช่น ช่วงเวลาการเกิดและล่มสลาย แต่ก็ยังมีรายละเอียดเล็กน้อยหลายอย่างที่ไม่สามารถสรุปได้
ด้วยความพิเศษดังกล่าว จึงทำให้มีการสืบเสาะหาเกี่ยวกับที่มาและเรื่องราวของทวารดีมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือชื่อทวารวดี
คาดกันว่าชื่อทวารวดีมาจากการเทียบเสียงในเอกสารจีน โดยนักวิชาการตะวันตกอย่าง “แซมมวล บีล” ได้วิเคราะห์และเสนอความคิดของตนเองจากการอ้างอิงบันทึกของพระภิกษุชาวจีนนาม “เสวียนจั้ง” (เหี้ยนจั้ง) ที่ปรากฏชื่อ “แคว้นโตโลโปตี” (Tolopoti) และบันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่บันทึกถึง “แคว้นตุยโหโปตี้”
บีลได้นำหลักฐานสองชิ้นนี้มาวิเคราะห์ และมีความเห็นว่าคำดังกล่าวมื่อถอดเสียงเป็นภาษาสันสกฤตจะได้เป็นทวารวดี
เมื่อมีการคาดการณ์เช่นนี้ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสอย่าง “ปอล โปลิโยต์” ก็ได้วิเคราะห์ผ่านจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถังที่มีการพูดถึงคำว่า “โถ-โล-โป-ตี” และหนังสือประวัติศาสตร์ใหม่สมัยราชวงศ์ถังที่ปรากฏคำว่า “ฉวนโลโปตี” เห็นพ้องว่า 2 คำนี้ตรงกับภาษาสันสกฤตว่าทวารวดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตามชื่อทวารวดียังเป็นข้อสันนิษฐานของนักวิชาการชาวตะวันตกที่ทำได้เพียงเทียบคำจากเอกสารจีนกับคำในภาษาสันสกฤตเท่านั้น
กระทั่งมีการค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับชื่อเมืองทวารวดีในเหรียญเงินที่โบราณสถานเนินหิน จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ. 2486 ปรากฏข้อความอักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต ที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ว่า ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺยะ ซึ่ง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แปลความหมายว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี
ก่อนที่ต่อมา ชะเอม แก้วคล้าย นักอ่านจารึกประจำกองหอสมุดแห่งชาติ จะแยกศัพท์ออกเป็น ศรี+ทวารวดี+อิศวร+ปุณยะ มีความหมายว่า พระเจ้าทวารวดีผู้ยิ่งใหญ่ หรือ พระเจ้าทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ
ขณะเดียวกันก็มีการค้นพบหลักฐานแบบเดียวกันที่โบราณสถานคอกช้างดิน จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ช่วยชี้ถึงทวารวดี เพราะหลังจากวิเคราะห์และตีความก็ได้ความหมายว่า การบูณย์ของพระเจ้าศรีทวารวดี
นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการเทียบเคียงก่อนหน้าตรงกับหลักฐานที่พบ และสมัยนั้นก็เรียกเมืองดังกล่าวว่าทวารวดี
อ่านเพิ่มเติม :
- เจดีย์ทุ่งเศรษฐี กับชุมชนชายทะเลสมัยทวารวดี ที่เพชรบุรี
- ข้อสันนิษฐาน “รัฐทวารวดี” ล่มสลาย เพราะกัมพูชานำ “กลียุค” มาสู่ชาวรามัญ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นนทพร อยู่มั่งมี. “เหรียญทองคำ ‘ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺยะ’ : ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยทวารวดีในภาคกลางกับภาคใต้ และการรับพุทธศาสนาจากลังกาทวีป”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566.
กรรณิการ์ ฉิมสร้อย. “‘ทวารวดี’ คืออะไรกันแน่? อ่านมุมมองจาก ‘รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง’ อ.โบราณคดี ม.ศิลปากร.” สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_36408.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566