พระพุทธรูปนาคปรก ที่นิยมในอุษาคเนย์ มีที่มา-ความหมายอย่างไร

 พระพุทธรูปนาคปรก เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย (ภาพจากเว็บไซต์ กรมศิลปากร)

พระพุทธรูปนาคปรก หรือที่มักจะเรียกกันโดยสามัญว่า พระพุทธเจ้านั่งเหนือนาค เป็นพระพุทธรูปที่นิยมกันมากในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกัมพูชาและในประเทศไทย

ในราวต้นศตวรรษนี้ในประเทศตะวันตกมักจะมีปัญหาถกเถียงกันเสมอเกี่ยวกับพระพุทธรูปนาคปรก เพราะชาวตะวันตกโดยทั่วไปมักจะสับสนโดยคิดว่า เป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์คือรูปพระวิษณุ แต่ไม่เคยมีใครคิดว่าเป็นพระพุทธรูป

โดยทั่วไปปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 ประการ คือ ประการแรก : ความหมายของประติมากรรม และประการที่ 2 : เหตุใดประติมากรรมรูปพระพุทธรูปนาคปรกจึงปรากฏจำนวนมากในบางสกุลช่าง (โดยเหตุที่ศิลปะอินเดียคลาสสิกมีจำนวนพระพุทธรูปนาคปรกน้อยกว่า)

ความหมายของรูปพระพุทธรูปนาคปรก

คัมภีร์ทุกเล่มเห็นพ้องว่าหมายถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้ที่ตรัสรู้ และเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สืบต่อจากการตรัสรู้ ซึ่งอาจเป็นสัปดาห์ที่ 3 ที่ 5 หรือที่ 6 แล้วแต่คัมภีร์ที่ให้จำนวนสัปดาห์เสวยวิมุติสุขไม่เท่ากัน เพราะบางคัมภีร์กล่าวว่าพระพุทธองค์เสวยวิมุติสุขถึง 7 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ต่อเนื่องจากการตรัสรู้ และเกิดขึ้นก่อนหน้าที่พระพุทธองค์จะรับภัตตาหารมื้อแรก และก่อนการตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

ระหว่างสัปดาห์ดังกล่าวพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่ามุจจลินท์) เพื่อบำเพ็ญสมาธิ ซึ่งใช้เวลาตลอดสัปดาห์ ต้นมุจลินท์นี้ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งอาจจะเป็นทะเลสาป สระ หรือสายน้ำ แล้วแต่คัมภีร์ ที่มีชื่อว่ามุจลินท์เช่นเดียวกัน และยังเป็นที่อาศัยของนาค ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดานาคที่มีฤทธิ์ หรือ “พญานาค” ที่มีชื่ออย่างเดียวกันอีกด้วย

ขณะนั้นได้เกิดมีพายุฝนอันแรงกล้าซึ่งเป็นฝนนอกฤดู พัดกระหน่ำพร้อมกับลมและความหนาวเหน็บ ลมได้พัดหมุนใต้ต้นไม้และพาบรรดาแมลงทั้งหลาย เช่น ยุง (ในคัมภีร์ต่างๆ กล่าวเน้นเพราถือว่าสำคัญ) มารบกวน

สิ่งต่างๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งที่คอยก่อกวนหรือขัดจังหวะการบำเพ็ญสมาธิที่ลุ่มลึก แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามพระพุธเจ้าที่ได้ตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ได้สัมมาสัมโพธิญาณแล้วจะถูกรบกวนไม่ได้ไม่ว่าจะจากอะไรก็ตาม

ดังนั้น พญานาคที่ห่วงใยและอยากจะได้บุญบารมีจึงได้เลื้อยมาปกป้องการบำเพ็ญสมาธิของพระพุทธองค์ โดยการขนดตัวแผ่พังพานปรก

ในที่สุดแห่งสัปดาห์เมื่อทุกอย่างคืนสู่สภาวะปกติแล้ว พญานาคจึงได้จำแลงร่างเป็นมนุษย์โดยที่นาคอาจจะมีรูปเป็นงูตามปกติหรืออยู่ในรูปมนุษย์จำแลง และเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อฟังพระธรรมเทศนา (คัมภีรบางคัมภีร์ได้เน้นว่า พญามุจลินท์เป็นสัตว์ตัวแรกที่ได้รับพระธรรมเทศนา)

คัมภีร์บางคัมภีร์ให้คุณค่าของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวของพญานาคตนนี้โดยกล่าวว่าพญานาคตนนี้อายุยืนยาว เพื่อที่จะได้อธิบายว่า มิใช่แต่พระสมณโคดมเท่านั้นที่นาคได้ปกป้อง แต่ได้เคยปกป้องพระอดีตพุทธองค์อื่นๆ มาแล้ว คัมภีร์กล่าวว่าในขณะที่พระพุทธองค์ทรงเข้าสู่สมาธิ พระองค์ได้เปล่งรัศมีออกมาจากพระวรกาย เพื่อดึงดูความสนใจของพญามุจลินท์ ซึ่งโดยธรรมชาติงูมักให้ความสนใจกับสภาวะความแตกต่าง เช่น ร้อนหรือเย็น มากกว่าการใช้สายตา และทำให้พญานาคจำได้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตถึง 3 ครั้ง โดยตัวพญานาคเองมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เคยปกป้องพระอดีตพุทธเจ้าถึง 3 องค์ ที่มีมาก่อนหน้าพระสมณโคดม กล่าวคือ พระกะกุสันโท พระโกนาคม และพระกัสสปะ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 22 ที่ 23 และที่ 24 ตามลำดับ ทั้งนี้พระพุทธเจ้าของเราอยู่ในลำดับที่ 25

เราจะคิดถึงเรื่องราวอันวิเศษสุดนี้ได้อย่างไร?

นาย อา. ฟูเชร์ (A. FOUCHER) ซึ่งเป็นอรรถกถาจารย์ทางพุทธศาสนาชาวตะวันตก ได้กำหนดทฤษฎีแรกว่าตำนานและประติมากรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานเป็นสิ่งที่ “ชาวตะวันตกเห็นว่าแปลกประหลาดที่สุด แต่สิ่งเหล่านี้ดูเป็นอินเดียอย่างยิ่ง” ซึ่งนับว่าเป็นความจริง แต่ควรจะย้ำว่าในขณะเดียวกันยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งในอินเดียและดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตร

ในที่นี้ ฟูเชร์ ตั้งใจจะหมายความว่า การที่คนและงูมาอยู่ด้วยกัน ชาวตะวันตกเห็นว่าแปลกประหลาดที่สุด แต่สำหรับชาวตะวันออกแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง

แต่นักโบราณคดีบางท่านถึงกับคิดว่า ประติมากรรมต่างหากที่เป็นตัวทำให้เกิดเรื่องราวในคัมภีร์ โดยคิดไปว่ารูปของพญานาค เช่นมนุษยนาคในสกุลช่างมถุราที่มีพังพานหลายเศียร ได้ทำให้เกิดความคิดในการทำพระพุทธรูปนาคปรกขึ้น แต่สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ รูปดังกล่าวมีอายุไม่เก่าไปกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 2 หรือที่ 3 ดังนั้น ถ้าเชื่อว่ารูปของพญานาคทำให้เกิดเรื่องราวในคัมภีร์ เรื่องราวเหล่านั้นก็คงจะพัฒนาโดยเริ่มต้นจากสมัยนี้เท่านั้น

ถ้าฟูเชร์มองปัญหาจากแนวคิดดังกล่าว เขาเองก็มิอาจที่จะไปได้ไกลมากกว่านั้น

สำหรับทฤษฎีหลังเราจะใช้ประติมากรรมเป็นสิ่งคัดค้าน กล่าวคือ ในขั้นแรกเราจะดูถึงอุปนิสัยใจคอของพญานาค

แน่นอนเราจะให้พญานาคนี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติตามปกติของงูทั้งขนาดและอายุ เราจะเห็นว่าการที่อาศัยอยู่ตามริมแหล่งน้ำ ก็เป็นลักษณะธรรมดาที่เป็นไปได้ การที่จะออกมาจากที่อาศัยในขณะเกิดอุทกภัยก็เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดา และการที่สัตว์เช่นงูและคนจะมาอยู่ร่วมกันในสภาพที่ถูกสถานการณ์บังคับ ก็ดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เช่นกัน

โดยเหตุที่การทำสมาธิซึ่งร่างกายจะอยู่นิ่งเฉยย่อมทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยที่จะเข้าใกล้ และการเข้าสมาธิก่อให้เกิดสภาวะพิเศษที่สัตว์จะรู้สึกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมถึงอำนาจเมตตาไมตรีอันเกิดจากสมาธิจิต

ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันในเอเชียอาคเนย์ ว่างูบางประเภทพยายามเข้าหาคนเพื่อเอามาเป็นบริษัท ซึ่งสภาวะนี้เกิดจากความเห็นอกเห็นใจร่วมกัน โดยต้องไม่ลืมว่า ในประเทศลาตินอเมริกามีการเลี้ยงงูเหลือมบางประเภทเพื่อจับหนูแทนแมว งูจึงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน

เรื่องราวของคนกับงูนี้ ดูเหมือนจะรู้จักและถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องราวในชาดกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาดกที่ 253 คือ มณิกัณฑชาดก อันมีความย่อว่า “กว่าพระดาบสหนุ่มน้อยจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าความรักของพญานาคที่มีต่อตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว” ซึ่งชาดกเรื่องนี้มีแสดงในภาพสลักสมัยอมราวดี

ดังนั้นเราจะเห็นว่าเกือบตลอดเวลาที่ตำนานหรือเรื่องราวจะพัฒนาขยายความให้วิเศษสุดต่างๆ จากเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในพุทธประวัติ แม้เรื่องเล็กน้อยต่างล้วนมีพื้นฐานของความเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่มีการพัฒนาขยายความให้ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์สมกับความเป็นพระพุทธเจ้า

สำหรับประติมากรรมแล้ว เรามีข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องปาฏิหาริย์ตอนนี้มีมาเก่าแก่ ก่อนที่จะมีการทำรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์เสียอีก และดูเหมือนว่าจะได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล

ตัวอย่างเช่น ภาพสลักจากเปาณีและภารหุต ในศิลปะอินเดียโบราณซึ่งมีจารึกประกอบที่พิสูจน์ว่าแม้ว่ารูปพระพุทธเจ้าจะยังไม่มีการแสดงออกมาในรูปมนุษย์ แต่ประติมาณวิทยาได้ถูกกำหนดอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยการทำบัลลังก์ปรกโดยพญานาคแผ่พังพานหลายเศียร หน้าบัลลังก์มีพระบาทคู่ ซึ่งจารึกบอกว่า นาคมุจลินท์

เราจะเห็นว่า คัมภีร์ต่างหากที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดประติมากรรม ไม่ใช่ประติมากรรมเป็นสิ่งที่ทำให้มีการเขียนคัมภีร์ตามรูปประติมานั้น

ขณะนี้จึงเหลือสิ่งที่เราจะต้องค้นหาต่อไปว่า เหตุใดในสกุลช่างบางสกุล ปาฏิหาริย์ตอนนี้จึงเป็นที่นิยมทำอย่างยิ่ง เช่นในประเทศกัมพูชาสมัยโบราณหรือในศิลปะลพบุรีในประเทศไทย ซึ่งจะเห็นว่าประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าเกือบทุกรูปตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นสมัยของการฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชา เป็นพระนาคปรก

คัมภีร์ในพุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาท หรือมหายานโดยทั่วไปไม่ได้ให้คำตอบที่น่าพอใจแก่เรา เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจถึงความหมายในความผันแปรบางประการในประติมาณวิทยาเท่านั้น เช่นบรรดารูปสลักศิลปะอานธระ ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 และที่ 4 ศิลปะลังกาและศิลปะพม่ายุคหลัง ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และหลังจากนั้น เป็นต้น

ในที่สุดคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาจีน ซึ่งจัดพิมพ์โดย E. CHAVANNES ก็ได้ให้คำตอบที่เรารอคอย

คัมภีร์ซึ่งมีเนื้อเรื่องเป็นมหายานอย่างแท้จริงได้เน้นว่า “พญานาค” ได้ระลึกถึงเหตุการณ์จากรัศมีของพระพุทธองค์ว่าพระอดีตพุทธ รวมทั้งพระพุทธเจ้าของเราจะบรรลุพุทธิปัญญาหรือความสมบูรณ์ในสัมมาโพธิญาณได้ก็ต่อเมื่อได้ผ่านการทำสมาธิในสภาวะอากาศอันเลวร้าย

ดังนั้น จึงเป็นการพิสูจน์ประจักษ์ชัดว่า การบำเพ็ญสมาธิในสัปดาห์ต่างๆ หลังการตรัสรู้ ถือกันว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ เพื่อให้เห็นว่าการเสวยวิมุติสุขนั้นสำคัญยิ่ง

ในการมองด้วยมิติดังกล่าว พระพุทธรูปนาคปรกจึงหมายถึงพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้สมบูรณ์แล้ว ความเป็นพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ถูกแสดงด้วยรูปแบบต่างๆ กันตามประเพณีนิยมทางประติมาณวิทยา ดังต่อไปนี้

1) พระพุทธรูปปางสมาธิ (หมายถึงสมาธิใต้ต้นโพธิ์) นิยมทำในประเพณีนิยมทางประติมาณวิทยาของประเทศลังกา หมายถึงขณะที่ทรงตรัสรู้

2) พระพุทธรูปมารวิชัย นิยมทำในประเพณีนิยมทางประติมาณวิทยในศิลปะปาละ และศิลปะในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ หมายถึงขณะก่อนตรัสรู้แต่ขาดเสียไม่ได้

3) พระพุทธรูปนาคปรก นิยมทำในประเพณีนิยมทางประติมาณวิทยาของพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศกัมพูชาสมัยโบราณและในศิลปะลพบุรีในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ปางทั้ง 3 ปางของพระพุทธรูปดังกล่าวที่แสดงถึงความจริงอย่างเดียวกัน คือพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้โดยสมบูรณ์ อาจจะใช้สำหรับแสดงรูปพระอดีตพุทธเจ้า คือ พระอดิสัยพุทธเจ้าในพุทธศาสนามหายาน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าของเรา คือพระสมณโคดม ซึ่งพระองค์ถือว่าเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ และมองเห็นได้ของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธรูปนาคปรก ในเอเชียอาคเนย์

แม้ว่าจะมีการเน้นความสำคัญของพระพุทธรูปนาคปรกในประติมาณวิทยาของเขมร เช่นทับหลังที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้ศึกษาถึงรูปแบบต่างๆ ในสมัยโบราณของประเทศอินเดีย หรือแม้แต่จะค้นคว้าว่าศิลปะเขมรนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากที่ใด

ในประเทศอินเดียจะปรากฏในศิลปะอานธระ (อมราวดี นาคารชุนโกณฑะ) ที่ให้ความสำคัญและแสดงให้เห็นถึงรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะหาคำอธิบายได้จากคัมภีร์เท่านั้น เช่นคัมภีร์มหาวัสถุ กล่าวว่านอกจากมุจลินท์นาคราชแล้ว ยังมีพญานาคชื่อ วินิปาต อีกตนหนึ่งที่มาร่วมปกป้องพระพุทธองค์

ดังนั้น ในภาพสลักของอมรวดีบางภาพพังพ่นนาคจึงมีซ้อนกันสองชั้น เพราะมีนาค 2 ตน และควรจะสังเกตว่ารูปแบบดังกล่าวนี้แตกต่างไปจากที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ลลิตวิสตะระ ซึ่งเป็นคัมภีร์ศาสนาพุทธนิกายมหายานซึ่งแต่เดิมเป็นของนิกายหินยานที่เป็นภาษาสันสกฤต เช่นนิกายโลกุตรวาท ซึ่งในที่นี้กล่าวว่าไม่ใช่พญานาค 2 ตัวแต่เป็นกองทัพพญานาคที่มาร่วมกันปกป้องพระพุทธองค์และเราพบว่าในปฐมสมโพธิมีข้อความที่ส่อให้เห็นเชนเดียวกัน

ที่มาของพระพุทธรูปเขมรนาคปรก

ในส่วนของพระพุทธเขมรนาคปรก ซึ่งดูเหมือนว่าจะปรากฏขึ้นในประเทศกัมพูชาราวครึ่งหลังของศตวรรษที่ 10 คือในรัชกาลพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 เท่านั้น

เราน่าจะหาที่มาของพระพุทธรูปดังกล่าวในประเทศไทยปัจจุบัน เพราะเหตุว่ามีจารึกในประเทศกัมพูชาหลักหนึ่งสนับสนุนความคิดนี้ โดยระบุว่า “ขุนนางท่านหนึ่งได้ไปค้นหาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในต่างประเทศ”

ต่างประเทศ จะเป็นที่ใด ถ้าไม่ใช่ประเทศไทย เพราะในขณะนั้นอินเดีย ก็เลิกทำพระพุทธรูปนาคปรกแล้ว พม่าในขณะนั้นก็ไม่มีพระพุทธรูปนาคปรก และภูมิภาคในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นบ่อเกิดลัทธิธรรมเนียมการทำพระพุทธรูปนาคปรกที่เก่าแก่ที่สุดก็น่าจะเป็นประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงเพราะได้พบพระพุทธรูปนาคปรกที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีเท่านั้น แต่ยังได้พบพระพิมพ์รูปพระพุทธรูปนาคปรกในเขตจังหวัดกระบี่ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของรูปแบบศิลปะอานธระของอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 หรือที่ 5 ทีเดียว

ดังนั้น เราจึงอาจตั้งข้อสังเกต โดยบังเอิญจากการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปนาคปรกว่าประเทศไทยเช่นกันเป็นบ่อเกิดตัวอย่างทางศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในคาบสมุทรและอาจจะเก่าที่สุดในเอเชียอาคเนย์โดยเป็นศิลปะที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียใต้และมีอายุอย่างน้อยที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งนอกจากจะมีทั้งรูปพระพุทธรูปแล้ว ยังมีเทวรูปในศาสนาพราหมณ์อีกด้วย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2565