พระนิรันตราย: พระพุทธรูปอันมีมงคลนามว่าปราศจากอันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปหล่อจากทองคำ ประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทรงครองจีวรห่มเฉียง พระเกตุมาลาใหญ่ไม่ปรากฏพระอุษณีษะ พระนลาฏกว้าง มีพระขนงต่อกันเป็นปีกการับกับพระนาสิกโด่งเป็นสัน พระเนตรเหลือบลงต่ำ และพระโอษฐ์หนา จากพุทธลักษณะซึ่งประทับสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ลักษณะของพระพักตร์ใกล้เคียงมากกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำหนดอายุเวลาประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (พิริยะ ๒๕๕๕, ๑๑๖)

ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๙ นายปั้นได้ไปขุดร่อนหาทองคำที่ดงพระศรีมหาโพธิซึ่งอยู่ระหว่างเมืองฉะเชิงเทราต่อกับปราจีนบุรี (ปัจจุบันอยู่ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี) พบพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่งสูง ๔ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว หนัก ๘ ตำลึง หรือ ๓๒ บาท พระยาเสศฤๅชัยกรมการเมืองฉะเชิงเทรา จึงทำใบบอกให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา เชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ ในปีเดียวกัน (ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ จ.ศ. ไม่ปรากฏ เลขที่ ๒๖๙)*** โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน ๗ ชั่งเป็นรางวัลแก่ผู้พบ และให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองถวาย (ประกาศพระราชพิธี ๒๕๐๘, เล่ม ๑: ๑๕๐) เป็นขาสิงห์ค่อมรองรับกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย

Advertisement

ครั้นรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ก็ทรงเชิญพระนิรันตราย
ไปประดิษฐานที่หอพระบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญรวมกับพระพุทธรูปและปูชนียวัตถุอื่นๆ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๐๓ ผู้ร้ายมาลักพระกริ่งทองคำองค์น้อยที่ประดิษฐานไว้ด้วยกันกับพระนิรันตรายและพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ แทนจะลักพระพุทธรูปทองคำ เช่น พระนิรันตราย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ทรงพระราชดำริว่าเป็นการบังเอิญแคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง นับจากครั้งแรกที่มีผู้ขุดได้ก็อุตส่าห์นำมาถวายไม่นำไปเป็นของตน และในครั้งนี้ก็นับว่าแคล้วคลาดอีกเช่นกันถือเป็นอัศจรรย์ จึงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำนั้นว่า “พระนิรันตราย” พระราชทานแบบส่วนให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ และกลุ่มช่างในพระองค์ หล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชรให้ต้องตามพุทธลักษณะด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายนั้นอีกชั้นหนึ่ง และหล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์ให้เป็นคู่กัน โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนามว่าพระนิรันตรายทุกองค์ แต่เฉพาะองค์ทองคำให้เชิญประดิษฐานในการพระราชพิธี (ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ๒๕๕๐, ออนไลน์)

พระนิรันตรายองค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้นอกจากจะมีพุทธลักษณะสอดคล้องกับองค์ที่ได้จากดงพระศรีมหาโพธิ คือประทับสมาธิราบ ปางสมาธิแล้ว ยังแสดงพุทธลักษณะของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อครั้งทรงพระผนวช ภายใต้ฝีมือช่างของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างปั้นหล่อสำคัญของพระองค์ เห็นได้จากริ้วจีวรที่ดูยับย่นสมจริงและสังฆาฏิเป็นแถบหนาพาดพระอังสาแบบการครองจีวรของคณะสงฆ์ธรรมยุต องค์พระพุทธรูปประทับบนปัทมาสน์ฐานสิงห์เป็นกลีบบัวหงายของบัวฟันยักษ์รองรับขาสิงห์ค่อมตั้งซ้อนบนฐานแปดเหลี่ยมแบบโรมัน ประดับบัวคว่ำและบัวหงายเป็นกลีบบัวฟันยักษ์ มีท่อสำหรับสรงน้ำต่อกับปลายท่อรูปศีรษะโคที่หน้าฐานเป็นเครื่องหมายแห่ง “โคตมโคตร” ของพระพุทธองค์ (ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ๒๕๕๐, ออนไลน์)

พระนิรันตรายองค์ใหม่ยังแสดงพุทธลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปคณะสงฆ์ธรรมยุต คือ นิยมสร้างพระพุทธรูปให้ปราศจากพระอุษณีษะแบบเดียวกับพระพุทธรูปของลังกา ด้วยรัชกาลที่ ๔ ทรงนับถือว่าลังกาเป็นสมณวงศ์อันประเสริฐและเป็นต้นรากของสมณวงศ์เถรวาททั้งปวง จึงน่าจะทรงสร้างให้พระพุทธรูปของคณะสงฆ์ธรรมยุตให้ไม่มีพระเกตุมาลาเช่นเดียวกับพระพุทธรูปของลังกาบ้าง ดังเห็นได้จากภายในพระนิรันตรายเงินก็ทรงบรรจุพระพุทธรูปลังกาสลักงาช้าง ประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ไว้ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างในการสร้างพระพุทธรูปของคณะสงฆ์ธรรมยุตให้ปราศจากพระอุษณีษะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปลังกานั่นเอง

ส่วนการสร้างพระกรรณของพระนิรันตรายให้เหมือนสามัญมนุษย์ ก็เป็นการปรับปรุงพุทธลักษณะให้สอดคล้องกับมหาบุรุษลักษณะที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระกรรณ การสร้างจีวรของพระนิรันตรายให้ดูสมจริงยิ่งขึ้นยังแสดงให้เห็นว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงเข้าพระทัยในหลักการของศิลปะตะวันตกที่ต้องประดิษฐ์ให้จีวรให้ดูมีรอยยับย่นเกินจริง เพื่อดึงดูดสายตาของผู้ชมให้เห็นว่าริ้วจีวร มีความสมจริงยิ่งขึ้น ดังปรากฏในจีวรของพระนิรันตรายองค์ใหม่ ซึ่งถือเป็นที่สุดของการปรับปรุงพุทธลักษณะของพระพุทธรูปแบบธรรมยุตของรัชกาลที่ ๔

พระนิรันตรายองค์ใหม่จึงแสดงถึงการผสมผสานกันระหว่างคตินิยมทางพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ธรรมยุตกับโลกทรรศน์แบบตะวันตก กล่าวคือ ในด้านหนึ่งก็เป็นการปรับปรุงพุทธลักษณะให้สอดคล้องกับพระพุทธรูปของลังกาเพื่อย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดอันแท้จริงของสมณวงศ์แบบเถรวาทตามแบบลังกา และความถูกต้องตามพระอรรถกถาบาลี

ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ให้กับกระแสของตะวันตกที่ไหล่บ่าเข้ามาในช่วงระยะเวลานั้น การผสมผสานกันระหว่างจารีตดั้งเดิมของพุทธศาสนาเข้ากับรสนิยมแบบตะวันตก ถือเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลักษณะเฉพาะของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่ทรงสถาปนา (ดูรายละเอียดใน พิชญา ๒๕๐๘, ๒๐๓ – ๒๐๘)

พระนิรันตรายนับเป็นพระพุทธรูปสำคัญอันเกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะนอกจากจะแสดงปางสมาธิประจำวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพแล้ว พระนามก็มีความหมายเป็นมงคลว่าปราศจากอันตราย จึงได้เชิญประดิษฐานในการพระราชพิธีสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เชิญประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ปัจจุบันประดิษฐานในหอพระสุลาลัยพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

***หมายเหตุ ประวัติพระนิรันตรายจากเอกสารตัวเขียนที่กล่าวถึงนี้ ต่างจากประวัติ
บนจารึกแผ่นหินอ่อนผนังพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งกล่าวว่ากำนันอินกับนายยังผู้บุตรนอนฝันไปว่าจับช้างเผือกได้ จึงพากันไปขุดมันนกที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรีห่างดงพระศรีมหาโพธิประมาณ ๓ เส้น ได้พระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นทองคำเนื้อหก
หนัก ๘ ตำลึง มาทูลเกล้าฯ ถวาย (ดูรายละเอียดใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ๒๕๕๐, ออนไลน์)

อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะถือตามประวัติที่ได้จากเอกสารตัวเขียน เพราะนอกจากจะเขียนขึ้นใกล้กับเหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๔ ก่อนจารึกที่ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แล้ว ยังระบุวันเดือนปีที่ได้มาอย่างชัดเจนถูกต้องด้วย

บรรณานุกรม

๑. “นายปั้นได้พระพุทธรูปทองคำ.” ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. จ.ศ. ไม่ปรากฏ. เลขที่ ๒๖๙.

๒. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ๒๕๕๐, “จารึกพระพุทธรูปนิรันตราย ด้านที่ ๑.”
http://www.sac.or.th/…/inscripti…/inscribe_image_detail.php…
(สืบค้นเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๐.)

๓. ประกาศพระราชพิธีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. ๒๕๐๘. ๒ เล่ม. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.

๔. พิริยะ ไกรฤกษ์. ๒๕๕๒. ลักษณะไทย ๑ พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐).
http://www.laksanathai.com/book1/p116.aspx

๕. พิชญา สุ่มจินดา. ๒๕๔๘. “ธรรมยุติกนิกาย:การศึกษาความสัมพันธ์กับสมณวงศ์ของลังกา
ผ่านพุทธศิลป์.” ไทยคดีศึกษา ๓ (ต.ค. ๒๕๔๘ – มี.ค. ๒๕๔๙): ๑๖๑ – ๒๓๒.
http://www.finearts.cmu.ac.th/upload/56/Dhammayutika2556.pdf

ที่มาของภาพ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

ขอบพระคุณเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์  https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts  ที่อนุญาตให้เผยแพร่ต่อ