การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!

ภาพถ่าย ซาก เจดีย์ยุทธหัตถี
(ซ้าย) ซากเจดีย์ยุทธหัตถีเดิม (ขวา) เจดีย์ยุทธหัตถี สร้างใหม่ครอบองค์เดิม ตำบล ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ โบราณวัตถุสถานทั่วพระราชอาณาจักร จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร, พ.ศ. 2500)

เจดีย์ยุทธหัตถี เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ถึง ยุทธหัตถี ระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ พระมหาอุปราชมังกะยอชวา (หรือมังสามเกียดที่เรารู้จักกันในประวัติศาสตร์ไทย) ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2135 นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกเน้นย้ำถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งตำราเรียน การ์ตูน รวมไปถึงภาพยนตร์

ชื่อเสียงและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรในสงครามครั้งนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อสักการะเจดีย์ยุทธหัตถี

อย่างไรก็ตาม เจดีย์ยุทธหัตถี ที่เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ พระนเรศวร เอาชนะ พระมหาอุปราช ได้ในศึกคราวนั้น กลับเพิ่งค้นพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การค้นพบ “เจดีย์ยุทธหัตถี” สมัยรัชกาลที่ 6

ตลอดรัชสมัยในรัชกาลที่ 6 นโยบายชาตินิยมที่มุ่งเน้นการยกย่องวีรบุรุษของชาติ เช่น พระร่วง สมเด็จพระเจ้าตากสิน และสมเด็จพระนเรศวร ถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนชาติบ้านเกิดเมืองนอน

โดยเฉพาะกรณีของสมเด็จพระนเรศวร ดูเหมือนว่าจะทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในฐานะวีรบุรุษสงครามผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย

ดังนั้นแล้ว พระบรมราโชบายชาตินิยมต่าง ๆ ในรัชกาลที่ 6 จึงได้พยายามที่จะเชื่อมโยงพระราชกรณียกิจในพระองค์กับพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนเรศวร เช่น การก่อตั้ง “กองเสือป่า” ซึ่งนับได้ว่าเป็นนโยบายชาตินิยมที่สำคัญที่สุด มุ่งหวังปลูกฝังข้าราชการประชาชน ให้มีความรักและหวงแหนชาติบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่า เพื่อจะได้ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติจากการรุกรานของอริราชศัตรู

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำชื่อหน่วย “เสือป่าแมวเซา” ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ทำหน้าที่สอดแนมข้าศึกของสมเด็จพระนเรศวรมาตั้งชื่อให้กับ “กองเสือป่า” ในพระองค์ (Stephen L. Greene, 1999, p. 41)

การมีชัยใน สงครามยุทธหัตถี ทำให้สถานะวีรบรุษสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมีความพิเศษเหนือพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย อย่างไรก็ตามนช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 การถกเถียงถึงการเกิดขึ้นจริงของสงครามยุทธหัตถี และการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารพระมหาอุปราชได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพม่าได้นำเสนอพงศาวดารฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ใน พ.ศ. 2375 ซึ่งอธิบายว่าสมเด็จพระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์เพราะถูกยิง (Barend Jan Terwie, 2013, p. 25)

พงศาวดารดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า สงครามยุทธหัตถีนั้นได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่

เพื่อตอบโต้พงศาวดารฉบับหอแก้ว สยามได้เริ่มต้นตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้น โดยมีหน้าที่ชำระ รวบรวม จัดพิมพ์ และเผยแพร่ ความรู้ต่าง ๆ ของชาติไทย รวมทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามยืนยันการมีอยู่จริงของสงครามยุทธหัตถี ผ่านงาน “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” ซึ่งหอสมุดค้นพบใน พ.ศ. 2450

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้องการใช้ภาพลักษณ์วีรบุรุษสงครามในสมเด็จพระนเรศวร เพื่อสนับสนุนพระบรมราโชบายชาตินิยม

ด้วยเหตุนี้ การเริ่มต้นสำรวจทางโบราณคดีเพื่อค้นหา เจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ชนช้าง อันจะเป็นการยืนยันว่าสงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง จึงเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2456

เมื่อพระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งพยายามค้นหาเจดีย์ดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดาร ที่บันทึกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2846 – 2847) ได้ค้นพบพระเจดีย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตั้งอยู่กลางป่า ณ บริเวณลำน้ำบ้านคอย ในแขวงเมืองสุพรรณ

เจ้าพระยาสุนทรสงครามจึงได้ให้ช่างถ่ายรูป ประกอบทำแผนที่ระยะทาง และทำหนังสือกราบบังคมทูลแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2456

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับหนังสือที่เจ้าพระยาสุนทรสงครามทูลเกล้าถวายแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า เรื่องพระเจดีย์ที่เจ้าพระยาสุนทรสงครามพบนั้น น่าจะเป็น เจดีย์ยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2841) และเพื่อยืนยันว่าเจดีย์ที่พระยาสุนทรสงครามค้นพบนั้นเป็นของจริง

รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีขุดค้นพื้นที่รอบพระเจดีย์ เพื่อค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลือจากสงครามในคราวนั้น ซึ่งในรายงานที่ทูลเกล้าถวายฯ พระองค์ ก็ปรากฏว่ามีการค้นพบอาวุธโบราณถูกฝังอยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งธนูโบราณ ปืนใหญ่ ธงไชยนำพระคชาธารของกองทัพสมเด็จพระนเรศวร (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2846)

(ซ้าย) ซากเจดีย์ยุทธหัตถีเดิม (ขวา) เจดีย์ยุทธหัตถี สร้างใหม่ครอบองค์เดิม ตำบล ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ โบราณวัตถุสถานทั่วพระราชอาณาจักร จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร, พ.ศ. 2500)

เจดีย์ยุทธหัตถีตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี

หลังจากที่มีการค้นพบ เจดีย์ยุทธหัตถี ที่เมืองสุพรรณบุรีแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระเจดีย์แห่งนี้

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2456 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ เสือป่ามณฑลนครไชยศรี และลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็ก รวมกว่า 400 คน เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคจากพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อไปนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถี

กระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2456 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกราบนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถีแล้ว พระยาสุนทรสงครามได้ทูลเกล้าถวายสิ่งของโบราณที่พบในบริเวณรอบ ๆ พระเจดีย์ยุทธหัตถี

หนึ่งในของโบราณที่ค้นพบคือ วชิระ ซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ยอดหนึ่ง โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยอดธงไชยนำพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งในคำกราบบังคมทูลรายงานของพระยาสุนทรสงคราม ก็ได้พยายามผูกโยงภาพลักษณ์ของวีรบุรุษสงครามกับรัชกาลที่ 6

พระยาสุนทรสงครามได้รายงานว่า การค้นพบ “วิชระ” ในคราวนี้ว่า “… เป็นของซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งพระราชหฤทัยประทานไว้สำหรับพระองค์ให้เป็นสวัสดิมงคล สนองพระราชอุสาหะ …” (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2847)

ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม ได้มีการทำพิธีบวงสรวง และสมโภชพระเจดีย์ โดยมีบรรดาเสือป่า ลูกเสือ ตำรวจ ทหารเข้าร่วมในพิธี ซึ่งในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชากองผสมด้วยพระองค์เองในพิธีคราวนี้ (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2847)

นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์สองเล่ม ที่มีส่วนสำคัญในการยืนยันว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำ ยุทธหัตถี กับมังกะยอชวา คือ ไทยรบพม่า และ พระประวัติสมเด็จพระนเรศวร งานทั้งสองชิ้นได้บรรยายฉากรบระหว่างทั้งสองพระองค์และสรุปว่า

สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารมังกะยอชวาสิ้นพระชนม์คาคอช้างใน ยุทธหัตถี คราวนั้น

ด้วยเหตุนี้ ตำนานการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระมหาอุปราชจึงได้ถูกยืนยันว่ามีอยู่จริง ผ่านการค้นพบ เจดีย์ยุทธหัตถี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกบันทึกสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Barend Jan Terwie. (2013). “What Happened at Nong Sarai? Comparing Indigenous and European Sources for Late 16th Century Siam,” Journal of the Siam Society 101, p. 19 – 34.

Stephen Lyon Wakeman Greene. (1999). Absolute dreams: Thai government under Rama VI, 1910-1925. Bangkok: White Lotus Press.

เสด็จพระราชดำเนิน ไปนมัสการพระเจดีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีไชย ชนะยุทธหัตถี,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30, ตอนที่ ง (3 มีนาคม 2456): 2839 – 2859.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2562