ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
พระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรกในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
การที่ “พระปฐมเจดีย์” เจดีย์องค์ใหญ่แห่งจังหวัดนครปฐมได้ชื่อนี้มานั้น ควรเป็นเพราะองค์เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นก่อนที่ไหนๆ หาไม่แล้วคนคงไม่เรียกชื่อที่มีความหมายสื่อไปเช่นนั้น
แต่จากข้อมูลของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จริงๆ แล้วพระปฐมเจดีย์หาใช่เจดีย์แห่งแรกที่ถูกก่อสร้างขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันไม่ (ขออภัยที่ต้องใช้คำรุงรัง เพราะหลายท่านชอบให้แยกไทย-สยาม ก่อนไทย-ก่อนสยามให้ชัด ผู้เขียนจึงขอเทียบจากสิ่งที่เป็นปัจจุบันเพื่อความสะดวก) ด้วยดินแดนแถบนี้มีสถูปเจดีย์ทั้งร่วมสมัย และก่อนหน้าอยู่แล้ว
คุณสุจิตต์กล่าวว่า เมืองในลุ่มน้ำท่าจีนที่เก่ายิ่งกว่าเมืองนครไชยศรี หรือนครปฐมโบราณก็คือเมืองอู่ทอง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ด้วยเป็นชุมชนเก่าแก่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อร่างเป็นบ้านเป็นเมืองมาตั้งแต่ก่อนยุคทวารวดี มีโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอยู่มากมาย
เมืองนครปฐมโบราณก้าวขึ้นมามีความสำคัญนำหน้าเมืองอู่ทองตั้งแต่ยุคหลังทวารวดีลงมา (หลัง พ.ศ. 1100) ซึ่งคุณสุจิตต์อธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากปากน้ำชายทะเลร่นมาอยู่ที่นครไชยศรี ทำให้นครไชยศรีได้เปรียบ ครองความรุ่งเรืองได้อยู่หลายร้อยปี จนถึงราวๆ พ.ศ. 1600 จึงถูกทิ้งร้างไป
ถ้าพระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรก แล้วเหตุใดจึงได้ชื่อว่า
“พระปฐมเจดีย์” ?
คุณสุจิตต์ อธิบายว่า เจดีย์องค์นี้ถูกเรียกว่า “พระปฐมเจดีย์” เป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะที่พระองค์ยังผนวชอยู่ และได้เสด็จธุดงค์ไปนมัสการองค์เจดีย์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทั้งนี้ตามเอกสารเก่าระบุว่า
“พระปฐมเจดีย์เป็นมหาเจดีย์สถานที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างแต่แรกพระศาสนามาประดิษฐานในสยามประเทศนี้ เก่าก่อนพระสถูปเจดีย์องค์อื่นๆ ทั้งหมด แม้มหานครเดิมอันตั้งอยู่ที่ประดิษฐานพระปฐมเจดีย์นั้นร้างกลายเป็นป่าเปลี่ยว มหาชนก็ยังเลื่อมใสไปบูชาพระปฐมเจดีย์ต่อมามิได้ขาด จึงทรงพระราชศรัทธาโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วทั้งบริเวณ…” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 2, อธิบายเรื่องตำนานวังเก่า ตอนที่ 5 ว่าด้วยสร้างวังในรัชกาลที่ 4)
ชื่อพระปฐมเจดีย์จึงถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 นี่เอง ซึ่งแต่เดิมมาชาวบ้านก็ไม่ได้เรียกว่า “พระปฐมเจดีย์” แต่เรียกกันว่า “พระธาตุหลวง” หรือบ้างก็เรียกว่า “พระธม” ตามที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 จารึกวัดศรีชุม
ซึ่งคุณสุจิตต์ อธิบายว่า “ธม” เป็นภาษาเขมรแปลว่าใหญ่ “พระธม” จึงหมายถึงพระธาตุองค์ใหญ่โตมโหฬารหรือพระธาตุหลวง แต่คนทั่วไปอาจจะเรียกเพี้ยนจาก “พระธม” เป็น “ประธม” หรือ “ประทม” สืบมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์
แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าไม่ถูกต้อง “เพราะทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสว่า เป็นมหาเจดีย์ใหญ่กว่าพระเจดีย์ในประเทศสยามทุกๆ แห่ง ทั้งทรงเลื่อมใสอีกว่าเป็นของเก่าที่มีมาช้านานก่อนพระเจดีย์อื่นใดในสยามประเทศ จึงทรงเรียกชื่อว่า ‘พระปฐมเจดีย์’”
นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเจดีย์ใหญ่แห่งนครไชยศรี ซึ่งภายหลังเมืองนครไชยศรี ที่ถูกย้ายศูนย์กลางไปอยู่บริเวณสถานีรถไฟใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง “นครปฐม” เพื่อให้คล้องกับชื่อองค์เจดีย์สำคัญที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ แต่ชื่อเป็นทางการที่เรียกกันติดปากในปัจจุบันเพิ่งตั้งมั่นได้ไม่นานมานี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ร.6 ทรงบันทึก ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์ “พระปฐมเจดีย์” สว่างโพลงทั้งองค์
- จังหวัดนครปฐมมาจากไหน พระปฐมเจดีย์มีที่มาอย่างไร
- ร่องรอย “ควายโบราณ” จากกระดูกสัตว์ ยุคโลหะ แหล่งขุดค้นบ้านกระถินแดง นครปฐม
อ้างอิง :
“นครปฐม และพระปฐมเจดีย์”. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2538
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2560