ร่องรอย “ควายโบราณ” จากกระดูกสัตว์ ยุคโลหะ แหล่งขุดค้นบ้านกระถินแดง นครปฐม

ซาก กระดูก ควายโบราณ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ซากกระดูกควายโบราณ ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ร่องรอย “ควายโบราณ” จากกระดูกสัตว์ ยุคโลหะ แหล่งขุดค้นบ้านกระถินแดง นครปฐม

นอกจากโครงกระดูกช้างที่ขุดค้นพบที่เมืองศรีเทพ ซึ่งอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นแล้ว เรื่องราวของสัตว์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีในประเทศไทยยังนับว่ามีรายละเอียดน้อยมาก

อาจจะเพราะสภาพกระดูกสัตว์ที่ขุดค้นพบ โดยเฉพาะทางด้านก่อนประวัติศาสตร์ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ชนิดที่ว่าคนธรรมดาดูไม่รู้เรื่องว่าเป็นตัวอะไรบ้าง ต้องอาศัยฝีมือผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณชีวะเข้ามาช่วย จึงทราบกันว่ามีตัวอะไรบ้างที่มาเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของเรา

เรื่องราวของสัตว์เหล่านี้ ความจริงสนุกสนานและน่าสนใจไม่น้อยกว่าหลักฐานแขนงอื่นๆ ทางด้านโบราณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสัตว์ป่ายุคแรกๆ ที่มนุษย์เริ่มรู้จักนำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์ติดต่อกันมาจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงไป

ร่องรอยของสัตว์เหล่านี้ที่แหล่งขุดค้นบ้านกระถินแดง ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ระแคะระคายมาบ้างแล้ว จากการสำรวจโดยทีมนักโบราณคดีสมัครเล่นจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร-ทับแก้ว และมีพี่เลี้ยงเป็นเจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ฝ่ายแรกมีอาจารย์ชูสิริ จามรมาน เป็นหัวหน้าทีมและฝ่ายหลังมีคุณนิคม สุทธิลักษณ์ กับคุณอัศวี ศรจิตติ์ เป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษา

จากการสำรวจขุดค้นครั้งนั้นได้พบโครงกระดูกคนและเครื่องมือเครื่องใช้ ในบริเวณพื้นที่ซึ่งเป็นลุ่มน้ำนครไชยศรีตามบริเวณสองข้างทางถนนมาลัยแมน ในจำนวนของที่พบจากการสำรวจซึ่งมีกำไลสัมฤทธิ์แบบติดลูกกระพรวนรอบนอกแล้ว ยังมีรูปควายนอนหมอบทำจากหินขัดมันอีก 1 ตัวอยู่ด้วย

จากความน่าสนใจของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ประกอบกับความยุ่งยากในการติดตามศึกษา จากรายงานเดิมที่กล่าวแล้ว คณาจารย์ในภาคโบราณฯ คณะโบราณคดี จึงได้ตัดสินใจออกสำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นพร้อมการเจาะตรวจทางธรณีวิทยาเพื่อเตรียมการขุดค้นประจำปีทันที

ผลจากข้อมูลเบื้องต้นทำให้คณาจารย์ของภาควิชาผู้ต้องรับผิดชอบงานขุดค้นประจำปีเห็นพ้องต้องกันหลังจากโต้แย้งกันบ้างพอหอมปากหอมคอว่า ที่บ้านกระถินแดงควรเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งถ้าได้ขุดค้นก็น่าที่จะได้หลักฐานในยุคดังกล่าวซึ่งน่าสนใจ สำหรับการติดตามเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่หรือยุคโลหะมาเป็นยุคที่อ่านเขียนหนังสือกัน เป็นการเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์

งานขุดค้นจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2532 นี้ ท่ามกลางความร้อนของแสงแดดและฝุ่นดิน

ในระยะแรกของงานขุดค้นปีนี้ ทีมงานขุดได้พบแต่เพียงชิ้นส่วนชำรุดของเครื่องใช้ดินเผา ซึ่งก็ไม่มีลวดลายและลักษณะโดดเด่นให้ตื่นตาตื่นใจแต่อย่างใด มีแต่แวดินเผาซึ่งรูปร่างแปลกไปกว่าเดิมที่เคยพบกันในแหล่งขุดค้นอื่นๆ บ้าง ส่วนลูกปัดแก้วและลูกปัดหินที่พบก็ยังไม่มีลักษณะพิเศษในการศึกษาเปรียบเทียบ นอกจากนี้ก็มีชิ้นส่วนของเครื่องประดับชนิดกำไล แหวน และกำไลกระพรวนสัมฤทธิ์ ล้วนแต่ยังไม่พบรูปร่างหรือลวดลายที่จะใช้กำหนดอายุทางโบราณคดีที่ดีเลย

สำหรับกระดูกต่างๆ มีพบมากมาย ทั้งเผาไฟและไม่เผาแต่อยู่ในสภาพแตกหักมาก่อนไม่รู้รูปร่างเดิม นอกนั้นก็เป็นดินปนหินปูนสีขาวๆ ที่เรียกว่าดินขี้นกยูงซึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ จากการไหลไปสะสมตัวของแคลเซียมในน้ำ

ที่ระดับความลึกประมาณ 60 ซม. จากผิวดิน ทีมขุดดินประจำหลุม B8 ก็ต้องแปลกใจที่พบว่า ในการฟันจอบลงไป 2-3 ครั้งติดๆ กันนั้น ได้พบหินปูนสีขาวๆ รวมกันอยู่เป็นกลุ่มจึงได้รายงานให้อาจารย์ผู้ควบคุมงาน ซึ่งโดยปกติแล้วนักศึกษาจะคุ้นเคยกับการพบและติดตามโบราณวัตถุรวมทั้งโครงกระดูกคนโบราณเป็นอย่างดี อีกทั้งการขุดโดยเครื่องมือใหญ่จะต้องทำอย่างระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ แต่เมื่อได้มีการตรวจกลุ่มหินปูนที่สงสัยกลุ่มนี้โดยละเอียดจึงพบว่ามันน่าจะเป็นฟอสซิลของสัตว์ขนาดใหญ่บางอย่างเข้าแล้ว การขุดในหลุมนั้นจึงต้องเปลี่ยนระบบเครื่องมือและวิธีการขุดโดยฉับพลัน

หลังการขุดค้นโดยการแนะนำอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ในภาค และด้วยเครื่องมือขนาดเล็กชนิดเดียวกับที่ทันตแพทย์ใช้ในการขุดแต่งฟัน ประกอบการปัดแต่งด้วยแปรงขนอ่อนและลูกยางเป่าพ่นฝุ่นดินออกอีกหนึ่งวันครึ่ง เราจึงแน่ใจว่าได้พบส่วนบนของหัวกะโหลกสัตว์ขนาดใหญ่เข้าอย่างหนึ่งพร้อมเขาซึ่งใหญ่ผิดปกติ

การถ่ายภาพซึ่งได้ทำกันตลอดเวลาเพื่อบันทึกหลักฐานที่พบทุกขั้นตอนจึงเป็นประโยชน์ในตอนนี้มาก ภาพถ่ายก่อนหน้านั้นถูกล้างอัดขยายด่วนและนำเข้าปรึกษากับคณาจารย์ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทันที คณาจารย์ทั้ง 4 ท่านที่ได้ให้ความเห็นเบื้องต้นคือ รศ. น.สพ. ระบิล รัตนพานี, รศ. น.สพ. พยัตรา ตันติลีปิกร, รศ. สพ.ญ.ชวนพิศ โสภณหิรัญรักษ์, และ รศ. สพ.ญ. ดร. นิตย์ คำอุไร จากสเกลที่ติดอยู่กับภาพถ่ายทำความแปลกใจให้กับคณาจารย์จากคณะสัตวแพทย์มาก เพราะขนาดของมันเมื่อเปรียบเทียบกับหัวกะโหลกควายในพิพิธภัณฑ์ของคณะสัตวแพทย์แล้วพบว่ามีขนาดใหญ่กว่ากันมากมาย

จึงเกิดปัญหาว่า เจ้าโครงกระดูกนี้จะเป็นควายใช่หรือไม่ และถ้าเป็นจะเป็นควายป่าหรือควายบ้านกันแน่?

ในประเด็นแรกนั้นคณาจารย์ของคณะสัตวแพทย์ได้แนะนำผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งให้มาคือ น.สพ. ดร. อลงกรณ์ มหรรณพ ผู้เชี่ยวชาญประจำสวนสัตว์ดุสิต ส่วนทีมคณาจารย์ด้านคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ จะได้ค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวกับควายป่าหรือมหิงษาไว้ให้เพื่อจะได้นำไปใช้วิเคราะห์และไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ต่อไป

หลังจากคุณหมออลงกรณ์ได้ตรวจดูภาพโดยละเอียดแล้วท่านให้ข้อสังเกตแปลกออกไปอีกคือ จะต้องระวังว่าอาจมีโอกาสเป็นสัตว์อื่นๆ เช่นตระกูลกระทิงได้หรือไม่ เพราะขนาดกะโหลกและความใหญ่ของกะโหลกใหญ่โตกว่ากะโหลกควายธรรมดามาก นอกจากนั้นคุณหมอยังได้กรุณาพาไปดูตัวอย่างเขาและหัวกะโหลกในพิพิธภัณฑ์สัตว์ประจำสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งได้มีการเก็บหัวสัตว์ในตระกูลวัว-ควาย-กระทิงไว้เป็นอันมาก ในการนี้กล้องวิดีโอได้ทำหน้าที่อย่างละเอียดในการบันทึกข้อมูลเปรียบเทียบลักษณะหัวและเขา ซึ่งคงจะสรุปในขั้นต้นได้ว่า

1. การแยกลักษณะโครงกระดูกวัวกระทิงออกจากโครงกระดูกวัวแดงนั้น ใช้แยกได้เฉพาะส่วนกะโหลกและเขาเท่านั้น กระดูกส่วนอื่นๆ เหมือนกันมากจนแยกไม่ออก

2. ควายป่ามีหัวกะโหลกและเขาอยู่เพียงชนิดเดียวในพิพิธภัณฑ์ และเขาของควายป่ามีลักษณะแบนกว่าเขากระทิง และเขากระทิงมีความแบนกว่าเขาวัวแดงอีกชั้นหนึ่ง

3. ที่โคนเขาวัวกระทิงและควายจะมีร่องๆ พาดขวางโคนเขามากขึ้นตามอายุ ส่วนนี้เรียกว่าพาลี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจใช้กำหนดอายุได้บ้าง แต่จะไม่มีพาลีในเขาวัวแดง

4. พาลีในวัวกระทิงจะเป็นร่องเกือบจะเป็นเส้นตรง และพาลีเขาควายป่าจะเป็นร่องโค้งมาก

5. กะโหลกส่วนบนคือกระหม่อมระหว่างเขาในหัวกระทิงจะเป็นสันนูนมาก โดยจะนูนมากในตัวที่อายุน้อย และนูนน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ผู้เขียนสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะเขามีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะตรงโคนจึงมีความลาดโคนเขาต่อเนื่องไปยังกลางกะโหลกทำให้มีความลาดชันลดลงตามขนาดเขาที่โตขึ้น

สันบนกะโหลกของวัวแดงจะไม่มีเลย เป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งระหว่างวัวแดงกับวัวกระทิง

ส่วนหัวควายป่าที่สตาฟโดยมีหนังหุ้มไว้และคุณหมออลงกรณ์ ชี้แนะว่ารูปหน้าสตาฟทำเพี้ยนไปจากหน้าควาย จนดูคล้ายเป็นหน้ากระทิง จึงทำให้ดูความแตกต่างของสันบนกะโหลกได้ไม่แม่นยำ

6. กระดูกสันหลังเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่ควรศึกษาถึงลักษณะความลาดโค้งของแนวแกนสันหลัง เพราะพวกสัตว์เลี้ยงซึ่งมีซ้ำชนิดกับสัตว์ป่า เช่น หมู จะมีกระดูกสันหลังต่างกัน กล่าวคือ หมูบ้านจะมีน้ำหนักลำตัวที่หนักมากเพราะความมนกลม จึงทำให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระแบกน้ำหนักสูง หลังจึงแอ่นโค้งมากกว่ากระดูกสันหลังหมูป่า ซึ่งมีลักษณะลำตัวเพรียวผอมว่องไว กระดูกรับน้ำหนักน้อยไม่แอ่นลงมาก

ผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่ามีกะโหลกวัวกระทิงอยู่หนึ่งหัวตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จึงรีบจัดการคุ้ยค้นในห้องเก็บของ ได้กะโหลกกระทิงไปให้คุณหมออลงกรณ์ดูเพื่อความแน่ใจ จึงได้ทราบว่าเป็นเขากระทิงขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังจากนั้นจึงได้สั่งคนงานในทีมขุดค้นให้จัดการหาหัวกะโหลกควายที่ใหญ่ที่สุดมาเป็นการเปรียบเทียบ เมื่อได้หัวของสัตว์สองชนิดแล้วจึงรีบนำไปหลุมขุดค้นจัดการวางเทียบกันดูทันที

ปรากฏชัดเจนว่า เจ้ากระดูกสัตว์โบราณเป็นญาติกับควายแน่นอน เนื่องจากสันบนกะโหลกระหว่างเขาไม่สูงโค้งเหมือนหัวกระทิง ภาคตัดของเขาที่ขุดได้อนุมานได้ว่าเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีส่วนยอดของปลายสามเหลี่ยมอยู่ด้านในของวงโค้งเขา และโค้งส่วนปลายเขาโค้งขึ้นตรงในระนาบใกล้เคียงกับโคนเขา แต่เขาของกระทิงจะมีส่วนปลายบิดแบนเกลียวเล็กน้อย ช่วงพื้นที่ระหว่างส่วนล่างโคนเขากับขอบบนของกระบอกตาของกระทิงก็ห่างกว่าของควายมาก

สิ่งที่น่าทึ่งคือรูปเขาของเจ้าตัวที่ขุดได้ ซึ่งดูว่ามีขนาดเขาใหญ่โตนั้น ยังมีความใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะส่วนที่ขุดค้นพบนั้นเป็นเพียงแก่นกระดูกภายในของเขาเท่านั้น โดยทดลองพิสูจน์ตามคำแนะนำของคุณหมออลงกรณ์ คือหลังจากพยายามดึงชักเอาเขาควายปัจจุบันที่หามาได้ว่าขนาดใหญ่มากแล้วออกจากแก่นกระดูกทำนองเดียวกับชักฝักดาบออกจากตัวดาบ ได้พบว่าส่วนแก่นหรือแกนกระดูกภายในนั้นมีความยาวอยู่เพียง 2 ใน 3 ส่วนของความยาวภายนอกเท่านั้น

ดังนั้น ส่วนโค้งๆ ของเจ้าควายตัวที่ขุดค้นได้จะมีขนาดเท่าไรก็ต้องลงสถิติจากนักสัตววิทยาอีกทีละครับ

เมื่อเอากระดูกทุกๆ ชิ้นขึ้นมาแล้ว เราจึงพบว่ากระดูกที่ขาดหายไป 1 ชุด คือกระดูกขาหลัง ซึ่งอาจจะถูกผู้ที่ฆ่ามันเอาไปกินที่อื่น

เจ้าควายตัวนี้ซึ่งจะเป็นควายป่าหรือควายบ้านก็ตาม เมื่อได้พบร่วมกับโบราณวัตถุที่พอจะบอกอายุโดยการเปรียบเทียบคร่าวๆ ว่าน่าจะมีอายุอยู่ในยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งพบมีการใช้เหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้บ้างแล้ว จะมีความสำคัญต่อการศึกษาด้านสัตว์วิทยามาก

เพราะถ้าเป็นควายบ้านก็จะเป็นข้อมูลในการศึกษาต้นสายพันธุ์ควายบ้านของเราว่าเดิมมีขนาดและน้ำหนักอย่างไร ซึ่งคงจะต้องพาดพิงถึงลักษณะสิ่งแวดล้อมอีกด้วยอยู่นั่นเอง

หรือถ้าจะเป็นควายป่าก็จะเป็นโครงกระดูกที่มีคุณค่ามากเช่นกัน เพราะปัจจุบันในพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาของเราไม่เคยมีรายละเอียดตัวอย่างโครงกระดูกควายป่าไว้ศึกษาเลยแม้แต่โครงเดียว แม้แต่ภาพถ่ายควายป่าเป็นๆ เราก็ได้จากภาพถ่ายจากในแคว้นอัสสัมมาดูเปรียบเทียบกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานถึงลักษณะและนิสัยของควายป่าโดย คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ได้กล่าวถึงการผสมพันธุ์ต้นตระกูลของควายป่ากับควายบ้านในสมัยโบราณว่าได้เกิดขึ้นเสมอๆ โดยควายป่าจะเข้ามาหากินในชายทุ่งและเข้าร่วมกับฝูงควายบ้าน ในการนี้จะมีการต่อสู้กันระหว่างจ่าฝูงควายบ้านกับควายป่า ซึ่งคงจะปรากฏเสมอๆ ว่า ควายบ้านเป็นฝ่ายถูกฆ่าตาย และเจ้าของควายต้องสูญเสียทรัพยากรไป

มิหนำซ้ำเจ้าควายป่าเมื่อผสมพันธุ์กับควายบ้านตัวเมียแล้ว ได้ควายลูกผสมก็จะมีขนาดใหญ่โตมากเกินไปจนเหลือกำลังในการบังคับมัน เพื่อการควบคุมระหว่างการไถนาอีกด้วย

เพราะขนาดของควายป่านั้นจะมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 800-1,200 กิโลกรัม ในขณะที่ควายบ้านมีขนาดเพียง 200-300 กิโลกรัมเท่านั้น และความสูงถึงไหล่ของควายป่ามีความสูง 1.60-1.50 เมตร เปรียบเทียบกับควายบ้านเราซึ่งมีไหล่สูงเพียงเสมอหน้าอกหรือไหล่คนเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ควายโบราณ” เขียนโดย วีรพันธุ์ มาไลยพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2565