กลวิธีการปล้นควายสมัยรัชกาลที่ 5 ของเสือ-โจรผู้ร้าย ทำกันอย่างไร?

(ขวา) เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

ในหนังสือ “ชาติเสือไว้ลาย” เขียนโดย พีรศักดิ์ ชัยได้สุข ได้ศึกษา “เสือ” หรือ “โจร” ในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง โจร ผู้มีอิทธิพล อำนาจ และระบบอุปถัมภ์ ของสังคมไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี สำหรับเรื่องการปล้นควายนั้น พีรศักดิ์ ชัยได้สุข อธิบายว่า มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การปล้นในเวลากลางวัน และการปล้นในเวลากลางคืน ดังนี้

การปล้นในเวลากลางวัน จะกระทำกันในตอนที่เจ้าทรัพย์หรือคนเลี้ยงต้อนกระบือไปเลี้ยงนอกบ้าน มีการเตรียมตัวเหมือนกับการปล้นเรือน ต่างกันที่เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว โจรจะยิงปืนให้คนเลี้ยงตกใจหนีไป ผู้เป็นสายจะหลบอยู่ในป่าในพงข้างทาง เมื่อได้กระบือแล้วจะต้อนไปในเส้นทางที่นิยมต้อนฝูงควายเดิน เพื่อไม่ให้ใครตามรอยเท้าได้ อาจมีการวางกับดักขวากหนามไว้คอยสกัดผู้ติดตาม เมื่อแน่ใจว่าไม่มีผู้ใดตามทันแล้ว โจรจะแบ่งกระบือกัน ส่วนใหญ่การปล้นในเวลากลางวันนี้จะปล้นในเวลาบ่าย ทั้งนี้เวลาต้อนกระบือหนี กระบือจะไม่หอบและเหนื่อยมาก

การปล้นในเวลากลางคืน จะปล้นกระบือที่ขังคอกบริเวณบ้าน เนื่องจากกระบืออยู่ใกล้เจ้าของจึงต้องปล้นในเวลาดึกเจ้าทรัพย์จะได้ไม่ใคร่เห็นหน้า เมื่อไปถึงบริเวณคอก โจรจะยิงปืนให้เจ้าของหรือคนเฝ้าหนีไป จากนั้นก็ถอดคอกแล้วต้อนกระบือหนีไป บางครั้งอาจแสร้งทำอุบายอย่างอื่นให้เกิดความโกลาหลทำให้สะดวกในการปล้น เช่น การลอบวางเพลิง เป็นต้น

กระบือที่ได้จากการปล้นนี้จะต้องขายทอดไปโดยเร็ว เพราะเจ้าของมักออกติดตาม เมื่อได้กระบือแล้ว “ย่อมพาตรงไปส่งต่อผู้รับ ๆ เสือกไสส่งต่อ ๆ กัน เป็นระยะจนไกลเกินกว่าเจ้าของจะไปค้นคว้าติดตามได้ แล้วจึงเอาสัตว์พาหนะเหล่านั้นออกจำหน่ายใช้สรอย” ถือเป็นกระบือร้อน ก่อนการปล้นจึงต้องติดต่อผู้ซื้อไว้ก่อน หากต้องการได้กระบือโดยทุจริตและไม่ต้องรีบขายทอดนัก จะใช้วิธีลักกระบือ

ชาวนาใช้ควายช่วยไถนา (ไม่ทราบที่มาของภาพ)

การลักกระบือต่างกับการปล้นกระบือตรงที่การลักกระบือจะไม่แสดงกิริยาตึงตัง เป้าหมายเพียงแค่กระบือ 1-3 ตัว วิธีการคือ การลักกระบือที่หลงลับตาเจ้าของ หรือการแอบไปตัดคอกในเวลากลางคืน และการต้อนกระบือของตนไปใกล้ฝูงอื่น เพื่อแอบต้อนกระบือจากฝูงนั้นมาด้วย กระบือที่ได้จากการลักนี้ถือเป็นกระบือเย็น ส่วนมากมักจะใช้วิธีไถ่ถอน เพราะมีเวลาไม่ต้องรีบขายทอดต่อ

การไถ่กระบือมีขั้นตอนดังนี้ คือ เจ้าของกระบือจะติดต่อนักเลงท้องถิ่นให้ช่วยสืบหา โดยยินดีจะจ่ายเงินค่าไถ่ให้แก่ผู้ที่รับกระบือไว้ หากผู้รับกระบือไว้เป็นนักเลงในท้องถิ่นคนนั้นก็จะแกล้งทำเป็นออกไปติดต่อ สืบหา หลังจากนั้นก็จะตกลงราคาค่าไถ่ เมื่อจ่ายกันเสร็จ นักเลงคนนั้นจะบอกให้เจ้าของเดินไปทางนั้นทางนี้จนพบกระบือ (ลูกน้องนักเลงเป็นคนแอบนำกระบือไปผูกไว้ตามที่ได้นัดแนะ) แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนรับกระบือไว้เอง ก็จะติดตามเป็นคนกลางเจรจากับนักเลงผู้อื่นที่รับกระบือไว้ ซึ่งจะเพิ่มราคาค่าไถ่อีกทีหนึ่ง ส่วนวิธีการส่งกระบื่อคืนแก่เจ้าของเดิมก็จะมีอุบายคล้าย ๆ กัน

ส่วนวิธีการถอนกระบือจะคล้ายกับการไถ่ ต่างกันที่นักเลงคนกลางจะนำกระบือไปแลกกับกระบือที่ต้องการ กระบือที่นําไปแลกก็เป็นกระบือที่ได้จากการลักหรือซื้อกระบือที่คนอื่นลักนั่นเอง วิธีนี้นักเลงคนกลางจะได้เงินมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2563