ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
“กรมการนักเลงโต” คืออะไร ต้องย้อนไปถึงกาลครั้งหนึ่งในสมัยโบราณ (แต่ก็ไม่นานมากนัก) การปกครองโดยเฉพาะตามหัวเมืองนั้นมิได้เป็นระบบระเบียบแบบแผนสักเท่าไร แม้เจ้าเมืองจะมีอำนาจในทางทฤษฎี แต่ในชั้นการปฏิบัติบางทีก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะใช่ว่าชาวบ้านจะยอมรับ และยอมทำตามกันได้ง่ายๆ เพราะรัฐแบบเดิมเป็นรัฐแบบที่ชาวบ้านมิได้มีส่วนได้สักเท่าไหร่ มีแต่ส่วนเสียซะมาก
เพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เจ้าเมืองสมัยก่อนจึงเลือกที่จะหาคนที่ชาวบ้านให้ความยำเกรง (หรือหวาดกลัว) มาเป็นผู้ที่ถืออำนาจในการบังคับกะเกณฑ์ราษฎรให้ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของเจ้าเมือง ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการตั้ง “กรมการ” ของเจ้าเมืองต่างๆ ไว้ว่า มักเลือกให้นักเลงโตมีพรรคพวกมากเข้ามารับตำแหน่ง เพื่อให้โจรผู้ร้ายไม่กล้าปล้นสะดมในถิ่นนั้น
จากคำบอกเล่าของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบบแบบนี้ “ดูเหมือน” จะมีประสิทธิภาพ ดังเช่นกรณีของ คหบดีนามว่า “ช้าง” ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษากรุงศรีอยุธยาในตอนต้นรัชกาลที่ 5 ให้เป็น “หลวงบรรเทาทุกข์” ดูแลเกาะใหญ่ ซึ่งเป็นย่านเปลี่ยวมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
ปรากฏว่า หลวงบรรเทาฯ ได้รับคำชื่นชมจากบรรดาชนชั้นสูงผู้มีบรรดาศักดิ์ที่สัญจรผ่านพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับชาวเรือที่มาขอพึ่งบารมีหลวงบรรเทาฯ เนื่องจากไม่มีโจรผู้ร้ายหน้าไหนกล้าเข้ามาย่ำยีพวกเขาในพื้นที่ดูแลของหลวงบรรเทาฯ เลย
แต่ความมากระจ่างเมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นี่เองว่า แท้จริงแล้วหลวงบรรเทาฯ นั้นเป็นหัวหน้าซ่องโจร ที่แม้จะเข้ามาทำหน้าที่รับใช้หลวงก็ยังไม่ทิ้งสันดานโจร เหตุที่พื้นที่ที่หลวงบรรเทาฯ ดูแล มีการปล้นฆ่าน้อยก็ด้วยอำนาจบารมีแบบนักเลงโต ขณะเดียวกัน หลวงบรรเทาฯ ก็ยังสั่งลูกน้องในสังกัดของตัวให้ไปอาละวาด ก่อเหตุโจรกรรมในพื้นที่อื่น สุดท้ายเมื่อข้าหลวงชำระความแล้วเห็นแน่ว่า หลวงบรรเทาฯ เป็นหัวหน้าซ่องโจร ก็เลยต้องโทษประหาร กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปพักใหญ่
กับอีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของ “หลวงศรีมงคล” ที่เจ้าเมืองอ่างทองใช้สอยอย่างเป็น “มือขวา” เป็นบุคคลที่มีความดีความชอบไม่น้อยสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ เพราะหลวงศรีมงคลใช้งานได้ดี เมื่อครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเดินทางจากเมืองอ่างทองไปสุพรรณบุรี ก็ได้หลวงศรีมงคลเป็นผู้จัดหาพาหนะทั้งม้าและลูกหาบให้ได้ภายในวันเดียว ทั้งยังอาสาขี่ม้านำขบวนเสด็จของพระองค์ ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจึงได้ชอบมาแต่นั้น”
แต่เมื่อมีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ก็มีความปรากฏขึ้นมาว่า หลวงศรีมงคลใช้ให้บริวารของตัวออกไปเที่ยวปล้นหากินในเมืองอื่น ซึ่งเบื้องต้นเมื่อ สมเด็จฯ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ทรงทราบความก็ยังไม่ทรงเชื่อ “เพราะทรงใช้สอยหลวงศรีมงคลจนโปรดเหมือนกัน” แต่เมื่อศาลไต่สวนผลก็ออกมาเป็นที่แน่ชัดว่า หลวงศรีมงคลนี้เป็นหัวหน้าโจรร้ายจริง ศาลจึงพิพากษาจำคุกหลวงศรีมงคลไปหลายปี
สมเด็จฯ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า “วิธีเลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นใช้ไม่ได้”
เมื่อกลไกของระบบเทศาภิบาลมีความพร้อมแล้ว มีการตั้งกรมการอำเภอและตำรวจภูธรไว้ดูแลความสงบเรียบร้อย การตั้งกรมการบ้านนอก ด้วยการใช้นักเลงโตมาข่มนักเลงเล็ก “กรมการนักเลงโต” จึงเลิกไป
อย่างไรก็ดี ความนิยมในความเป็น “นักเลง” ของคนบางพื้นที่บางกลุ่มก็ยังคงมีอยู่ อาจเป็นเพราะผู้คนเหล่านี้เชื่อว่าคนเป็นนักเลงมักมีอำนาจบารมีคุ้มหัวไม่ให้ใครมากดขี่ตัวเองได้ แต่ธรรมชาติของนักเลงก็มักจะเอาแต่พวกพ้องของตัวเอง และหันไปข่มเหงผู้อื่น การหนุนนำนักเลงให้เข้ามามีอำนาจก็มีแต่จะไปทำลายระบบระเบียบสร้างความอยุติธรรม ดังที่ สมเด็จฯ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เคยทรงมีพระวินิจฉัยว่า “วิธีเลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นใช้ไม่ได้” ฉันใดก็ฉันนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- หลวงบรรเทาทุกข์ ดูแลย่านโจรชุกแถบอยุธยาจนสงบ แต่กลับซ่องสุมคนไปปล้นที่อื่น
- สมัย ร. 5 จับโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อยต้องอาศัย 4 ปัจจัยอะไร
- กลวิธีการปล้นควายสมัยรัชกาลที่ 5 ของเสือ-โจรผู้ร้าย ทำกันอย่างไร?
อ้างอิง :
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เทศาภิบาล. กรุงเทพฯ: มติชน, พิมพ์ครั้งแรก : พฤศจิกายน 2545.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2561