สมัย ร. 5 จับโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อยต้องอาศัย 4 ปัจจัยอะไร

ภาพถ่าย พลตระเวน สมัยรัชกาลที่ 5 จับโจรผู้ร้าย
พลตระเวน สมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 5 จับโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อยต้องอาศัย 4 ปัจจัยอะไร

สมัยรัชกาลที่ 5 หลังการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2435 ที่ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมักได้ผู้ที่เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และกลายเป็นที่พึ่งพิงของ “โจร” บางครั้งอาจทำให้เมื่อผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ “โจร” ยังรอดและลอยนวลไปก่อคดีความได้เรื่อยไป

จับโจรสมัยรัชกาลที่ 5

ทาส ชาวสยาม
ทาสชาวสยาม มีสภาพชีวิตแทบไม่ต่างจากไพร่สามัญในทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็วิตกกังวลกับปัญหาดังกล่าว และมีบางรายทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น หลวงโสภณทุจริต ที่เสนอความคิดต่อเรื่องดังกล่าวในหนังสือรายงานถึงเสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 1 พฤษภาคม ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“…การที่จะระงับโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อยนั้นต้องอาไศรย์ธาตุทั้ง 4 คือ 1 ผู้รักษาเมือง 2 กรมการอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน 3 กองตระเวน [ตำรวจ] 4 ศาล

ถ้าตั้งใจทำธุระตามน่าที่ราชการโดยเตมกำลังพระราชบัญญัติ การโจรผู้ร้ายก็คงเปนการเรียบร้อยได้ ถ้าธาตุทั้ง 4 นี้ หย่อนแต่ธาตุหนึ่งธาตุใด การโจรผู้ร้ายก็คงเปนการเรียบร้อยไม่ได้

แลอีกประกาหนึ่งตามกฎเสนาบดีในข้อ 14 [1] ก็ปรากฏอยู่แล้วว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องเปนผู้ช่วยอุดหนุน กองตระเวนในการไต่สวนจับโจรผู้ร้ายตามความสามารถที่จะช่วยได้นั้นด้วยทุกประการ

ส่วนกองตระเวนจับโจรผู้ร้ายได้มักเกี่ยวเปนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือลูกหลาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเสียบ่อยๆ สื่อให้เหนว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านมักจะเอนเอียงไปหากินด้วยโจรผู้ร้าย…

กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่มีเงินเดือนจึงมิได้เอาใจใส่ตรวจตรา…รักษาราชการตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่…ไม่เช่นนี้จะนับว่ากำนันผู้ใหญ่บ้าน เปนผู้อุดหนุนกองตระเวนนั้นยังไม่ได้

แลกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือราษฎรซึ่งได้รู้เหนเหตุประการใด มักจะปิดบังผู้ร้ายไว้ไม่สามารถจะชี้แจ้งให้เจ้าพนักงานรู้ได้ เพราะกลัวอำนาจโจรผู้ร้ายจะทำอันตรายแก่ตน” [2] (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ภาพถ่าย เจ้าหน้าที่ จับ โจร ผู้ร้าย
ภาพประกอบเนื้อหา – เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] กฎเสนาบดีข้ที่ 14 มีใจความว่า “เปนน่าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องแจ้งเหตุคดีโจรผู้ร้าย ที่เกิดขึ้นในตำบลแห่งตนต่อกรมการอำเภอนั้น ถ้ามีโรงพักกองตระเวรตั้งอยู่ในที่ใกล้แห่งใดก็ต้องให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งเหตุให้กองตระเวนทราบด้วย แลทั้งต้องช่วยอุดหนุนเจ้าพนักงานกองตระเวนในการสืบวนคะดีและติดตามจับผู้โจรผู้ร้าย ตามความสามารถที่จะช่วยได้นั้นด้วยทุกประการ”

[2] หจช. ร.5 ม-ร.5 ม/13 เรื่อง การประชุมครั้งที่ 2 ที่กระทรวงมหาดไทยเอกสารลงวันที่ 8 กันยายน ร.ศ. 125


อ้างอิง :

พีรศักดิ์ ชัยได้สุข. ชาติเสือไว้ลาย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2565