ความลับของคำว่า “อ้ายเสือ” หมายถึงโจรที่ต้องมีคุณธรรมจริงหรือ?

เจ้าหน้าที่ จับโจร
ภาพประกอบเนื้อหา - เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

อ้ายเสือ” มีความหมายว่าอย่างไร ก่อนอื่นต้องดูถึงสังคมไทยที่มีสำนวน ภาษิต คำพังเพยมากมายที่มีคำว่า “เสือ” เป็นส่วนประกอบ เสือมีคำจำกัดความว่า เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Felidea เป็นวงศ์เดียวกับแมว แต่ตัวใหญ่กว่า เป็นสัตว์กินเนื้อ หากินเวลากลางคืน มีหลายชนิด และยังมีความหมายรวมไปถึงผู้ที่เป็นโจรหรือใช้เรียกคนเก่งคนดุร้าย อีกด้วย อาทิ

เสือสิ้นตวัก [น. คนที่ฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิต, มักพูดเข้าคู่กับ สุนัขจนตรอก ว่า เสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอก]

ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด (ไม่รู้จักมอดเอาไม้มาขวาง) [ก. ทำสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะมีภัยแก่ตัว]

เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ [น. คนที่มีอำนาจหรืออิทธิพลพอๆ กันอยู่ร่วมกันไม่ได้]

เสือซ่อนเล็บ [น. ผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถแต่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ปรากฏ, ผู้มีเล่ห์กลอยู่ในใจ, ผู้เก็บความรู้สึกไว้ได้ดี]

เสือเฒ่าจำศีล [น.คนที่มีท่าทีสงบเสงี่ยม แต่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก]

เสือลากหาง [น. คนที่ทำท่าทีเป็นเซื่องซึม เป็นกลอุบายให้ผู้อื่นตายใจ แล้วเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ทันให้รู้ตัว]

เสือในร่างสมัน [น. คนร้ายที่ปลอมมาในร่างของคนดี]

เสือรู้ [น. คนที่มีไหวพริบหรือฉลาดรู้จักเอาตัวรอด]” เป็นต้น

ส่วนคำว่า “โจร” ในยุคปัจจุบันที่กระทำการ ปล้น ฆ่า ข่มขืน ไม่เว้นเด็กหรือคนเฒ่า อีกทั้งมักฆ่าผู้เสียหายเพื่อมิให้กลับมาชี้ตัวและยืนยันการกระทำอันอุกฉกรรจ์เหล่านั้นได้ มีความแตกต่างจากคำว่า “อ้ายเสือ” อยู่มาก เนื่องจาก อ้ายเสือในยุคก่อน จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม พูดจริงทำจริง ตัดสินใจเด็ดขาด มีสัจจะ มีศักดิ์ศรี ที่สำคัญคือ ต้องกตัญญูต่อผู้มีคุณ ไม่ทำร้ายเด็กและผู้หญิง จึงคำว่า ‘ชาติเสือต้องไว้ลาย’ และถ้าถึงคราวอับจนหนทางก็จะเปรียบว่า เป็น ‘เสือลำบาก’ หรือ ‘เสือจนท่า ข้าจนทาง’ (น.ไม่มีทางเลือก, หมดทางไป)”

นอกจากนี้ คนสมัยก่อนยังมักใช้คำว่าอ้ายเสือเรียกลูกหลานที่ ซนๆ เฮี้ยวๆ อีกด้วย แต่เป็นไปในความหมายว่า “เจ้าตัวร้าย” น่าเอ็นดู

ทว่าคำว่าอ้ายเสือนั้นหมายถึงโจรที่ต้องมีคุณธรรมจริงหรือ? หมายถึงสิ่งอื่นได้หรือไม่?

คำตอบที่ตอบข้อสงสัยนี้นั้นปรากฏอยู่ที่นิทานโบราณเรื่อง โจรแปลกประหลาด ใน สาส์นสมเด็จ เล่ม 4 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ขึ้นจากประสบการณ์ส่วนพระองค์ ในเหตุการณ์ที่ “โจรจันท์” หรือจันท์เจ้า โจรสำคัญที่ปล้นในแขวงจังหวัดปทุมธานี ถูกคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีพระปฐมเจดีย์ ซึ่งจากคำพูดของโจรจันท์ที่ได้ทูลกรมพระยาดำรงฯว่า…

“คำว่า ‘อ้ายเสือ’ นั้นมิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่สัญญาที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า ‘อ้ายเสือเอาวา’ พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า ‘อ้ายเสือขึ้น’ พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า ‘อ้ายเสือถอย’ ต่างก็ลงเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า ‘อ้ายเสือล่า’ ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้”

ส่วนประเพณีของโจรเมื่อออกปล้น มีอยู่ว่า ก่อนที่โจรจะขึ้นเรือนต้องมอมหน้าไม่ให้เจ้าทรัพย์จำได้ ครั้นมีกำนันผู้ใหญ่บ้านปกครองนั้นการจะล้างหน้าเพื่อไปรับการตรวจสอบนั้นไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่โดยให้โจรที่อยู่ถิ่นห่างไกล เจ้าทรัพย์ไม่รู้จักเป็นพนักงานขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน และให้โจรที่อยู่ใกล้เป็นพนักงานซุ่มระวังอยู่ในที่มืด

เมื่อโจรขึ้นเรือนได้แล้ว ก็จะจับตัวคนในเรือน เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่บังคับให้คนในเรือนนำชี้จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับตัวคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นเองซึ่งมักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบเพื่อมิให้พวกชาวบ้านมาช่วยได้ทัน

ความลับของคำว่าอ้ายเสือนั้นได้ถูกคลี่คลายข้อสงสัยลง โดยการที่กรมพระยาดำรงฯ ยื่นข้อเสนอว่าจะช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่โจรจันท์ แลกเปลี่ยนกับความลับแห่งอ้ายเสือข้างต้น ในเรื่องของความหมายและประเพณีการปล้นของเหล่าอ้ายเสือว่าเป็นเช่นไร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เพทาย อรรถศิลป์. “วัฒนธรรม ‘อ้ายเสือ’”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 18 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2540); หน้า 114-115.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2560