เจาะลึกเรื่องจริงของหัวหน้าโจร จากบทสัมภาษณ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

คนไทย สมัย รัชกาลที่ 5
คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก www.wikimedia.org)

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมโจรปล้นบ้านหลังนี้? โจรเลือกคนแบบไหนเป็นสายให้? โจรรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าบ้านเก็บทรัพย์สินไว้ที่ไหน? และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสัมภาษณ์โจรตัวเป็นๆ รายหนึ่ง ไว้อย่างละเอียด

โจรนายนี้ ชื่อ “จันทร์” เป็นหัวหน้าโจรผู้ร้ายที่ปล้นทรัพย์ชาวบ้านอยู่ในละแวกจังหวัดปทุมธานี, อยุธนา และสุพรรณบุรี  เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชน) ขณะยังเป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี ช่วงปี พ.ศ.2446

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนพระทัยด้วยไม่เคยรู้จักหัวหน้าโจรมาก่อน ทรงประสงค์จะรู้วิธีของโจรผู้ร้ายทั่วไป จึงรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ ขอให้คุมตัวมาพบท่านเมื่อชำระสะสางทางคดีเสร็จ พระองค์ทรงบันทึกบทสนทนานี้ไว้ “นิทานโบราณคดี” ซึ่งของคัดมาเพียงบางส่วนดังนี้ (เพื่อง่ายแก่การอ่านจึงสั่งเน้น และวรรคตอนใหม่)

พอฉัน [กรมพระยาดำรงราชานุภาพ]แลเห็นนึกประหลาดใจ ด้วยดูเป็นคนสุภาพ รูปพรรณ สัณฐานไม่มีลักษณะอย่างใดที่ส่อว่าใจคอเหี้ยมโหดถึงเป็นตัวหัวหน้านายโจร เมื่อพูดถ้อนคำที่ตอบก็เรียบร้อยเหมือนอย่างเคยเพ็ดทูลเจ้านายมาแต่ก่อน ฉันออกพิศวง จึงถามว่าได้เคยเฝ้าแหนเจ้านายมาแต่ก่อนบ้างหรือ โจรจันทร์ตอบว่าได้เคยเฝ้าหลายพระองค์ ที่เคยทรงใช้สอยก็มี

ฉันยิ่งสงสัย ถามว่า “ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่ทรงรังเกียจหรือ”

โจรจันทร์ตอบว่า “เจ้านาย ท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่ในพวกโจรด้วยกันเท่านั้น”

เพราะพวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับด้วยกันทั้งนั้น เรียกกันว่า “นักเลง” คนอื่นก็เลยเรียกว่านักเลง หมายความแต่ว่าเป็นคนกว้างขวาง นักเลงคนไหนมีพวกมากก็เรียกกันว่า “นักเลงโต” นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี แต่นักเลงเป็นคนกว้างรับใช้สอยได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงชอบใช้ ก็ได้คุ้นเคยกับผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยเหตุนั้น

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับฟังเรื่องของโจนจันทร์อย่างสนุก และได้รู้เรื่องโจรผู้ร้ายตามที่พระองค์ประสงค์จึงซักถามเพิ่มเติมดังนี้

ถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้นเขาว่ามักมีคนที่อยู่ใกล้ กับเจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ

ตอบว่า การที่ปล้นนั้นจําต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้

ถามว่า เพราะเหตุใดไม่มีสายจึงปล้นไม่ได้

ตอบว่า พวกโจรต้องอาศัยผู้เป็นสายหลายอย่างเป็นต้น แต่ผู้เป็นสายไปบอก พวกโจรจึงรู้ว่าบ้านไหนมีทรัพย์ถึงสมควรจะปล้น และการที่จะปล้นนั้น พวกโจรต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย พวกโจรก็รักชีวิตเหมือนกัน ต้องสืบสวนและไล่เสียงผู้เป็นสายให้รู้แน่นอนก่อน ว่าเจ้าทรัพย์มีกําลังจะต่อสู้สักเพียงไร เพื่อนบ้านเรือนเคียงอาจจะช่วยเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร และต้องสืบหาโอกาสเวลาเจ้าทรัพย์ หรือเวลาไม่อยู่เป็นต้น จนแน่ใจว่ามีกําลังกว่าเจ้าทรัพย์ตั้งเท่าตัวหนึ่ง พวกโจรจึงจะปล้น การที่ปล้นนั้น ผู้เป็นสายมักเป็นต้นคิดไปชักชวนพวกโจรมาปล้น พวกโจรหาต้องหาคนเป็นสายไม่

ถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจรปล้นบ้าน

ตอบว่า มักอยู่ในคน 3 ชนิด คือคนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงินชนิดหนึ่ง เพื่อนบ้านที่เป็นอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ชนิดหนึ่ง ญาติที่โกรธเจ้าทรัพย์เพราะขอเงินไม่ให้ชนิดหนึ่ง

ถามว่า โจรที่ปล้นขึ้นเรือนนั้น ไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน

ตอบว่า ประเพณีของโจรปล้น เมื่อขึ้นเรือนได้แล้ว หมายจับตัวเจ้าทรัพย์หรือคนในเรือนเป็นสําคัญ เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่หรือทําทรกรรม บังคับให้คนในเรือนนำชี้ จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นหาเอง มักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบให้แล้วโดยเร็ว มิทันให้พวกชาวบ้านมาช่วย

ถามว่า การที่จับตัวเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้น ไม่กลัวเขาจำหน้าได้หรือ

ตอบว่า แต่ก่อนมา โจรที่ขึ้นเรือนใช้มอมหน้ามิให้เจ้าทรัพย์รู้จัก แต่เมื่อการปกครองมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเวลาเกิดปล้น

ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านมาตรวจ จะล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรที่อยู่ห่างไกลเจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก เป็นพนักงานขึ้นเรือนไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน ให้โจรที่อยู่ใกล้เปลี่ยนไปเป็นพนักงานซุ่มระวังทางอยู่ในที่มืด

ถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า “อ้ายเสือ”

ตอบ คําว่า “อ้ายเสือ” นั้น มิใช่ชื่อสําหรับ เรียกตัวโจร เป็นแต่คําสัญญาที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือ เอาวา” พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือถอย” ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นมาไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือล่า” ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้

เรื่องที่นายจันทร์เล่าถวายนี้ยกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชมว่า “ความรู้ของโจรจันทร์ก็ถึงภูมิ ศาสตราจารย์” และแน่นอนว่าต้องเป็นสาขาวิชา “โจรกรรมศาสตร์” ที่สำคัญหลายเรื่องยังใช้ระแวดระวังได้ในปัจจุบัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2562