โจรใต้ เสือร้ายทะเลน้อย

โจรใต้ ทะเลน้อย ดอนทราย อำเภอควนขนุน พัทลุง
โจรจากดอนทรายถูกจับรวมไว้ที่ วัดสุวรรณวิชัย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

“โจรใต้” เสือร้าย “ทะเลน้อย” คือใคร มีความเป็นมาอย่างไร

ยุคหนึ่งมีข้อเท็จจริงว่า “ตรัง” เป็นเมืองท่าหน้าด่านที่มีคดีปล้นฆ่ามากที่สุด หากแต่ยุคหนึ่งพื้นที่ที่มีคดีอุกฉกรรจ์เยี่ยงนั้น กลับกลายเป็นที่ราบลุ่มฝั่งตะวันออกของเทือกเขาบรรทัด ที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งลุ่มน้ำ “ทะเลน้อย”  หรืออีกนัยหนึ่งทะเลสาบสงขลาตอนใน ได้บังเกิดตำนานโจรยิ่งใหญ่เมื่อเกือบสิบทศวรรษที่แล้ว

เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ในบางความรู้สึกของผู้คนร่วมสมัยรุ่นโน้น โดยเฉพาะกับชุมโจรบ้านดอนทราย ควนขนุน

สมัยดังกล่าวมีการจัดระบบการปกครองใหม่ เรียกรวมภาคใต้ทั้งหมดว่า “ภาคปักษ์ใต้” ประกอบด้วยมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็ต และมณฑลปัตตานี มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นองค์อุปราช และในส่วนมณฑลนครศรีธรรมราชประกอบด้วยเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และเมืองพัทลุง

ควนขนุน เป็นรอยต่อระหว่างพัทลุงกับนครศรีธรรมราช เป็นซ่องโจรสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบทะเลน้อย ในบันทึกประวัติโจรระบุว่าโจรพัทลุงมักข้ามไปปล้นคนในสงขลา อาจจะด้วยว่าคนสงขลารวยกว่า อีกทั้งกรมการเมืองพัทลุงบางคนเลี้ยงโจรเป็นสมุน

บทบาทของชุมโจรยุคนั้นเข้มข้นดุเดือด ถึงขนาดฝ่ายบ้านเมืองต้องใช้มาตรการพิเศษ ที่เรียกว่า “นารายณ์สูตร” เข้ามาจัดการกับโจรข้ามแดนก๊กนี้ รวมถึงการประกาศใช้กฎหมาย “โจร 3 เส้น 15 วา” ในสงขลา และการตั้งกองอาสา “พรานดง” ที่พัทลุง

“นารายณ์สูตร” เป็นมาตรการพิเศษอันเอื้ออำนวยต่อการตามจับผู้ร้ายข้ามเขต คล้ายกับกองปราบของกรมตำรวจยุคนี้ ส่วน “กฎหมายโจร 3 เส้น 15 วา” เป็นมาตรการปราบโจรอันรวมอยู่ในพระราชกำหนดเก่าลำดับที่ 11 เรื่องการทำบัญชีและรักษาผู้ร้ายคนโทษ ยกตัวอย่างหากเกิดคดีในพื้นที่ใดให้นครบาลและชาวบ้านในรัศมี 3 เส้น 15 วา ใช้ทุนทรัพย์คล้ายสินบนนำจับได้ส่วนหนึ่งจากทรัพย์ที่เอาคืนกลับมาได้จากโจร ถือเป็นการระดมคนช่วยจับโจรวิธีหนึ่ง

ส่วนกองอาสา “พรานดง” เป็นกองกำลังอาสาสมัครปราบโจรพัทลุง สมัยพระยาวิชัยประชาบาล พวกหนึ่งเป็นชาวบ้าน อีกพวกหนึ่งเป็นพวกโจรกลับใจ พรานดงทุกคนต้องโพกหัวและถือไม้กระบองเป็นอาวุธประจำตัวสัญลักษณ์ และพรานดงของคุณพระวิชัยนี่แหละ ที่เป็นหัวหอกประการหนึ่งในการกำราบชุมโจรดอนทราย

ปฐมบท “โจรใต้” เสือร้าย “ทะเลน้อย”

ตำบลดอนทรายอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอควนขนุน กินพื้นที่ตั้งแต่บ้านโรงรม ค่ายไพ จันนา ลำรุน ควนดินแดง และศาลาม่วง ตำบลนี้แต่เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอทะเลน้อย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอควนขนุน) โดยตำนานโจรในพื้นที่ละแวกนี้ หากแบ่งเป็นช่วงสมัย ยุคของ “เกลื่อม ดับร้อน” ย่อมถือเป็นยุคจุดกระแส เนื่องเพราะชื่อเสียงรับรู้แต่เพียงบ้านลำรุนเท่านั้น

กระทั่งเข้าสู่ยุคของ “รุ่ง ดอนทราย” ภาพของความเป็นชุมโจรเริ่มปรากฏชัด ชื่อเสียงกินพื้นที่กว้างนับจากอำเภอควนขนุน ศรีบรรพต กิ่งอำเภอป่าพะยอม และชะอวด

อย่างไรก็ดี ยุคเฟื่องสุดเราคงต้องยอมรับบทบาทของ “ดำ หัวแพร” อันเป็นยุคโจรขยายเขตคุ้มครองชนิดข้ามจังหวัด ตั้งแต่พัทลุงไปจนถึงตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช

ทำเนียบโจรใต้ชื่อดังไม่ได้มีแต่เพียง เกลื่อม ดับร้อน รุ่ง ดอนทราย และดำ หัวแพร เท่านั้น หากยังมีปรากฏชื่อ “กลับ ออกวัด” ที่เป็นคนละคนกับ กลับ เขาปู่ กลับ ท้าวจันทร์ และกลับ คำทอง จอมโจรชื่อดังเมืองตรัง โดยความสำคัญของ “กลับ ออกวัด” ถือเป็นนักเลงอาวุโสในยุคของ “เกลื่อม ดับร้อน” เป็นโจรที่มีความรู้สูง เก่ง แต่รักอิสระ และเป็นโจรคนเดียวที่มีค่าหัวนำจับถึง 600 บาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในสมัยนั้น

ว่ากันว่า “กลับ ออกวัด” เคยเป็นตัวเลือกสำคัญในตำแหน่งหัวหน้าโจรต่อจาก “รุ่ง ดอนทราย” ทว่า “กลับ ออกวัด” มีนิสัยรักสันโดษ และไม่ชื่นชอบการเรียกค่าคุ้มครองที่กลุ่มโจรแถบนี้ถือเป็นค่าประกันภัยตามแนวทางของ “ดำ หัวแพร” ที่มีตำแหน่งรองหัวหน้าชุมโจรดอนทราย กระทั่งกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของชุมโจรก๊กนี้ ดังปรากฏในบันทึกที่บ้านหนองปลาไหลว่า

“คืนนั้นเมื่อได้ฤกษ์ไอ้เสือบุก เพื่อง บ้านภู่ และย้อย ท่าแค จุดไต้สว่างก่อนที่ ปลอด ดอนเต็ด จะพุ่งเข้าถีบประตู กระนั้น กลับ ออกวัด ดูเหมือนจะเป็นนกรู้ไม่มีใครพบแม้เงา แต่กริชสิบเอ็ดคดเล่มยาวที่วางไว้อยู่ใต้เสื่อใบเตยบอกได้ว่า นักเลงเฒ่าเพิ่งจากไปเมื่อนี่เอง ชนิดที่หยิบไม่ทันแม้แต่อาวุธประจำตัว”

และจากการไล่ล่าถึงรังนอนนี่เองที่ทำให้ “กลับ ออกวัด” เขียนหนังสือยื่นฎีกา ต่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ องค์อุปราชปักษ์ใต้ บรรยายถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน กลายเป็นปฐมบทสำคัญในการปราบโจรใต้ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาปราบนานกว่า 3 ปีเต็ม

ดำ หัวแพร ขุนโจรดอนทราย

ระหว่าง พ.ศ. 2455-2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับได้ว่าที่ตำบลดอนทราย ได้เกิดชุมโจรขนาดใหญ่ อันเป็นผลพวงมาจากฝ่ายบ้านเมืองเริ่มใช้เปิดยุทธวิธี “โจรปราบโจร” โดยนายอำเภอทะเลน้อยทำข้อตกลงลับกับ “กำนันสี” นักเลงใหญ่แห่งดอนทรายให้ช่วยจับโจร โดยให้ค่าตอบแทนเป็นสินบนนำจับ พร้อมข้อตกลงลับๆ อย่างอื่นแลกเปลี่ยน ทำให้โจรก๊กเล็กต้องหนีรวมตัวกันเข้าชุมใหญ่ที่มี “รุ่ง ดอนทราย” เป็นหัวหน้า

บารมีของ “รุ่ง ดอนทราย” ในวงการนักเลงละแวกนี้ นับได้ว่ายิ่งใหญ่เอาเรื่อง หลังประกาศตัวเป็นหัวหน้าได้สั่งทำปืนปลอกเงินประจำตัว ถือเป็นปืนอาญาสิทธิ์ใช้สั่งการได้แม้ตัวไม่ไป เล่าว่า “นำ หนองฟ้าผ่า” นักเลงนอกถิ่นไปลักควายในเขตเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าของควายซึ่งเคยให้ที่พักพิงกลุ่มโจรก๊กนี้ได้มาขอให้ช่วย ซึ่งหัวหน้าชุมโจรดอนทรายได้มอบปืนปลอกเงินไปแทนตัว ให้เจ้าของควายถือไปขอควายคืน ก็ปรากฏว่าได้ผลโดยนักเลงลักควายไม่กล้าปฏิเสธ

สมุนโจรให้สมญานามเชิงนิยมแก่ “รุ่ง ดอนทราย” ว่า “ท่านขุนพัท” โดยว่ากันว่าน่าจะมาจากสาเหตุประการหนึ่ง ครั้งที่ “รุ่ง” ติดคุกที่เรือนจำมณฑล เจ้าเมืองมาดูพร้อมพูดนี่หรือขุนโจรพัทลุง เพื่อนนักโทษจึงเรียกต่อๆ กันว่า รุ่งขุน (โจร) พัท (ลุง) อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะได้มาจากตอนที่ “รุ่ง” แหกคุก ทำให้พัศดีถูกปลด ผู้คนจึงพูดกันว่าท่านนี้เอาบรรดาศักดิ์ขุนไปให้รุ่ง ดอนทรายเสียแล้ว

จะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ในสุดท้าย “รุ่ง ดอนทราย” ก็ได้รับสมญานามว่า ท่านขุนพัท ส่วนลูกน้องใกล้ชิดหลายคนต่างตั้งตัวเองเป็น “ขุน” ด้วย อาทิ “ดำ หัวแพร” เป็นขุนอัสดงไพรวัน ส่วนขุนอรัญไพรี เป็นสมญาของ “ดำ ปากคลอง” ในขณะที่ “วัน พาชี” อยู่บ้านม่วงลูกดำ ตำบลนาท่อม โดนคดีลักม้า ตั้งตัวเองเป็นขุนประจบดำแพรศรี (บางตำราก็ว่าเป็นขุนประจบไพรวัน)

ในปี 2462 หลังจากบ้านเมืองปล่อยให้ขุนโจรกำเริบนานนับสิบปี ยุทธการปราบ “โจรใต้” ทะเลน้อย ครั้งประวัติศาสตร์ได้ปะทุ พ.ต.ท.พระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ลงมาตั้งกองอำนวยการอยู่ที่ตำบลนาท่อม ปันแต และที่วัดกุฏิ ควนขนุน และในปีนั้นนั่นเอง “รุ่ง ดอนทราย” ก็ถูกซุ่มยิงตายที่ช่องไอ้หมี อันเป็นช่องแคบตรงรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช จุดนี้ถือว่าทำเลเฮี้ยน เพราะเป็นทางโจรผ่านที่เรียกขานกันในหมู่นักเลงว่า “ทางซุ่มควาย”

คนเก่าๆ บ้านคลองใหญ่ป่าพะยอมเล่าว่า ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสพัทลุง (ร.ศ. 131) มีโจรกลุ่มหนึ่งเลื่องลือนามว่า ไอ้สีดำพุด ไอ้มากตุด และไอ้หมี ตอนหลังไอ้หมีถูกฆ่าตายศพถูกนำไปพาดทิ้งไว้กับกิ่งไม้ที่ช่องแคบ และที่ช่องแคบนี้โจรเล็กใหญ่หากเดินทางผ่านจะต้องออกเสียง “ปีบ” คล้ายเสียงข่มขวัญก่อนบุกเข้าพังประตูบ้านเจ้าทรัพย์ โดยถือเป็นการแสดงคารวะบรรพโจร ช่องไอ้หมีที่ “รุ่ง ดอนทราย” ถูกซุ่มยิงนี้ ว่ากันอีกว่ายังเป็นที่พบปะชุมนุมของเหล่าโจรในช่วงปลุกเสกเครื่องรางของขลังหรือเจ้าพิธีจับฉลากหาคนพังประตูบ้านในการ ปล้นแต่ละครั้งด้วย

ศพของ “รุ่ง ดอนทราย” ถูกนำไปมัดประจาน ที่ต้นตาลหน้าวัดกุฏิ สร้างความระส่ำระสายแก่ชุมโจรดอนทรายเป็นอย่างยิ่ง

กระนั้นชุมโจรแห่งนี้ใช่ว่าจะยุติบทบาท กลับยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในยุค “ดำ หัวแพร” ที่มีลูกน้องคนสนิทหลายคน อาทิ เลื่อน หัวไทร น่วม ไสโดน และไข่โม่ง ควนขนุน นอกจากนี้ยังมี “แสง ลำรุน” หรือ “ม้าเร็วตีนเปล่า” คนวิ่งนำข่าวลูกพี่ใหญ่ถูกซุ่มยิงตายจากพัทลุงมาทุ่งบ้านขอนหาด (ปัจจุบันอยู่ เขตอำเภอชะอวด) ทั้งหมดนี้เป็น โจรใต้ ระดับพระกาฬทั้งสิ้น ตั้งแต่ต้นปี 2463 นับแต่ “ดำ หัวแพร” ไล่ล้างศัตรูและผู้หักหลังได้เกือบหมด ทำให้บารมีแกร่งกล้ามากยิ่งขึ้น มากกว่ายุคเดิมเมื่อครั้ง “รุ่ง ดอนทราย” อีกหลายเท่าตัว

โจรจากดอนทรายถูกจับรวมไว้ที่ วัดสุวรรณวิชัย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

“ดำ หัวแพร” เป็นขุนโจรหน้าตาดี มีผมดำสลวยไม่หยิกหยอยแบบชาวบ้าน ชอบโพกหัวด้วยผ้าแพรสีเขียวอย่างหนา ซึ่งโจรลูกสมุนรุ่นหลังๆ นิยมพกติดตัวเอาไว้ใช้ห้ามเลือดได้ดี ขุนโจรดอนทรายรายนี้นับเป็นโจรที่ถือสัจจะเคร่งครัด ไม่ฆ่าผู้หญิงและเด็กอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดมวลชนค่อนข้างจะหนาแน่น อย่างไรก็ดี ไม่มีที่ไหนในพื้นที่ราบกว้างใหญ่ฝั่งตะวันออกของเทือกเขาบรรทัดจะสงบหากว่าขุนโจรนามนี้ไม่ต้องการให้สงบ และหลายหมู่บ้านละแวกดังกล่าวถือเป็น “พื้นที่เด็ดขาด” แห่งขุนโจรดอนทราย ยกตัวอย่างบ้านแหลมโตนด อำเภอควนขนุน พื้นที่ต่อแดนกับบ้านขอนหาด อำเภอชะอวด

ที่นี่ “ดำ หัวแพร” เดินผ่านหมู่บ้านได้สบายแม้ตอนกลางวัน

แต่นั่นแหละโจรหรือจะสู้ตำรวจ นับแต่คุณพระวิชัยลงมาตั้งกองอำนวยการปราบโจรที่วัดกุฏิ กระทั่งลบชื่อ “รุ่ง ดอนทราย” ออกจากสารบบได้แล้ว ในปี 2463 เป็นต้นมา โจรดังหลายรายถูกจับตายเรื่อยมาตั้งแต่ “สีเงิน หนวดแดง” “คง เขาย่า” และสุดท้ายก็ถึงคราวของ “ดำ หัวแพร” ที่ชะล่าใจถึงขนาดลงมากินหวาก (กะแช่) ที่หนองคลอดทุ่งหัวคด ตำบลโตนดด้วน

เป็นอันว่าปลายปีนั้น ชุมโจรดอนทรายถึงกาลยุติ

ณ วันนี้ ชุมโจรบ้านดอนทรายแห่ง “ทะเลน้อย” เหลือแค่ตำนาน กระนั้นร่องรอยยังหลงเหลือในหลากหลายมุมมองของผู้คนถิ่นนี้ หลายคนอาจชื่นชมที่ชุมโจรดอนทรายยุติบทบาท หากหลายคนอาจเสียดายที่ขาดผู้คุ้มครองชุมชนในวิถีทางเช่นนี้

ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเหตุใดถึงยังมี “อนุสาวรีย์โจร” ที่เขาชังกั้ง เขาลูกเล็กๆ ในโรงพยาบาลเมืองพัทลุง ตรงฐานรูปปั้นมีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า “ดำ หัวแพร” แม้ว่ามีเรื่องเล่าแต่เดิมจุดประสงค์เพียงปั้นรูปนักเลงหัวไม้แบกพร้าตั้งไว้หน้าคุกเก่าเพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง

ทว่าทุกวันนี้รูปปั้นดังกล่าวกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีคนเดินทางมากราบไหว้บูชาไม่ขาดสาย แม่ค้าแถวนั้นเล่าให้ฟังว่าที่นี่คือที่สถิตวิญญาณเจ้าพ่อ มีชาวบ้านมาแก้บนด้วยประทัดและดอกไม้ไฟเป็นประจำ

เขาว่า “เจ้าพ่อดอนทราย” นักเลง!!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วารสารทักษิณคดี ปีที่ 4. ฉบับที่ 1 มิถุนายน, 2537.

วัฒนธรรมโจรที่ปรากฏในท้องถิ่นภาคใต้. สมเจตนา มุนี.

นารายณ์สูตร. รศ.สงบ ส่งเมือง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, วิทยาเขตภาคใต้.

ชุมโจรบ้านดอนทราย. ล้อม เพ็งแก้ว วิทยาลัยครูเพชรบุรี.

โจรพัทลุง กรณีตำนานโจรแห่งตำบลดอนทราย. ประมวล มณีโรจน์, โรงเรียนตะโหมด, พัทลุง.

สัมภาษณ์. สุธิวงศ์ วงศ์ไพบูลย์, ชัยวุฒิ พิยะกูล, ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2565