รู้จัก “สีสำราญ” คำเรียกส้วมของสาวชาววัง ยุคกรุงศรีอยุธยา-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ไม้แก้งก้น การขับถ่าย ส้วม สีสำราญ สรีรสำราญ สาวชาววัง
"ไม้แก้งก้น" เครื่องทำความสะอาดหลังขับถ่ายของสาวชาววัง (ภาพจิตรกรรมจากวัดเกาะลาน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก, สไลด์ของเอนก นาวิกมูล)

ยุคนี้ถ้าใครบอกว่าจะไป “สีสำราญ” หรือ “สรีรสำราญ” คนฟังคงทำหน้างงๆ แต่ถ้าย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือว่าต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สาวชาววังจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี เพราะมีความหมายถึง “ส้วม” เป็นสถานที่ที่ผู้หญิงเข้าไปขับถ่ายทั้งหนักและเบา

เรื่องส้วมและการขับถ่ายในสังคมไทยนั้น มนฤทัย ไชยวิเศษ ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” (สำนักพิมพ์มติชน) เล่าถึงพัฒนาการของส้วมและการขับถ่ายในยุคต่างๆ รวมทั้ง “คำ” ที่ใช้เรียกส้วมและการขับถ่าย ที่แตกต่างหลากหลายไปตามสถานภาพ

ถ้าจะไปอุจจาระหรือไปปัสสาวะ ชาวบ้านก็จะบอกว่า “ไปทุ่ง” “ไปท่า” หรือ “ไปป่า” ส่วนพระสงฆ์ก็จะไป “เว็จ” (สะกด เวจ หรือ เว็จจ์ ก็ได้) คำนี้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่า คำนี้หมายถึงสถานที่ขับถ่ายของพระสงฆ์ในวัด โดยดูจากคำว่า “วัจจกุฏิ” แต่แผลง “วัจจ” เป็น “เว็จ” อีกคำที่ใช้เรียกคือ “ถาน” มาจากคำว่า “ฐาน” ในภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งต่อมา เว็จกับถานกลายเป็นคำที่ชาวบ้านนำมาใช้เรียกสถานที่ขับถ่าย

ส่วนคำที่ใช้เรียกสถานที่ขับถ่ายของกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ที่เราน่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างก็คือ “บังคน” มีการใช้คำนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นอย่างน้อย พิจารณาได้จากการพบคำนี้ในวรรณคดีเรื่องต่างๆ อย่าง ลิลิตพระลอ ที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา

มนฤทัย บอกว่า อีกคำที่นิยมใช้ในวัง คือ “สีสำราญ” หรือ “สรีรสำราญ” (บางครั้งเขียนว่า สรีย์สำราญ หรือ ศรีสำราญ) ที่มาของคำนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่า “สำราญ” เป็นคำมาจากภาษาเขมร หมายความว่า ทำให้เบา ดังนั้น สีสำราญหรือสรีรสำราญจึงหมายความว่า ทำให้ผู้หญิงเบา ซึ่งหมายถึงส้วมของผู้หญิงนั่นเอง

สีสำราญ เป็นคำที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม อธิบายถึงสถานที่ตั้งของสถานที่ขับถ่ายในวังยุคนั้นว่า “ประตูอุดมคงคา ระหัดน้ำเข้าท้องสระแก้ว 1 แล้วมาถึงประตูจันทวารมรณาภิรมย์อยู่ท้ายสีสำราญ ที่ถ่ายอุจารฝ่ายใน”

คำว่า สีสำราญ ใช้กันเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เห็นได้จากในหมายรับสั่งและในวรรณคดีสมัยนั้น เช่น หมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่อง “ยกประตูพระบรมมหาราชวัง” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ประตูที่ 3 ริมศรีสำราญ หลวงพรหมบริรักษ์ สนมขวาทำ”

นอกจากนี้ พระยาอนุมานราชธน ยังเคยเล่าว่า ในหอพระสมุดก็เคยมีป้ายห้องเขียนว่า “สรียสำราญ” เรียกห้องน้ำด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

มนฤทัย ไชยวิเศษ. ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2567