คำศัพท์เกี่ยวกับ “ขี้” และคำเรียกสถานที่ (ขับถ่าย) ก่อนมี “ส้วม”

ภาพเขียน ลายรดน้ำ เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง คน ขี้ อุจจาระ
ภาพเขียนลายรดน้ำ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่บานแผะประตูของพระอุโบสถ วัดพิชยญาติการาม

ว่าด้วยคำเรียกและความหมายของ “ขี้” ในสังคมไทย และชื่อ “สถานที่ขับถ่าย” แต่โบราณก่อนมาเป็นคำว่า “ส้วม”

“ขี้” กับความหมายอันหลายหลาก

คำว่า “ขี้” ปรากฏในสังคมไทยมานานมากแล้ว และมีความผูกพันในแง่วิถีชีวิตอย่างมาก เราจะพบเห็น (ขี้) เสมอทั้งในคำพังเพย สำนวน สุภาษิต คำสอน นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายตราสามดวง ฯลฯ

Advertisement

ทั้งยังมีคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียก “ขี้” ที่แตกต่างกันไปอีก เช่น ในคัมภีร์ทางศาสนา ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “คูถ” ขณะที่ในพงศาวดาร ตำนาน ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “อาจม” ส่วนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า “อุจจาระ” ทั้งนี้ คำว่า “ขี้” เป็นภาษาที่ชาวบ้านโดยทั่วไปใช้กัน

หนังสืออักขราภิธานศรับท์ (Dictionary of the Siamese Language) ของ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 อธิบายความหมายของคำว่า “ขี้” ว่า

“เปนส่วนอาการแห่งของกินทั้งปวง, แต่บรรดาที่ตกเข้าไปอยู่ในท้องคน, หฤๅท้องสัตว์, แล้วกลับออกตามทะวารหนักมีกลิ่นเหม็น.”

ตรงกับความหมายที่ ราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า “ขี้” เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม คำกริยา หมายถึง กิริยาที่ถ่ายกากอาหารออกทางทวารหนัก ส่วนคำนาม หมายถึง กากอาหารที่ร่ายกายไม่ต้องการแล้วขับออกทางทวารหนัก

ขี้ยังหมายถึงสิ่งที่ร่างกายขับถ่ายออกมาเกรอะกรังอยู่ เช่น ขี้ไคล ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา หมายถึงสิ่งที่ไม่ต้องการ เศษ หรือกากที่ออกมาจากสิ่งนั้น ๆ เช่น ขี้ตะกั่ว ขี้กบ ขี้เลื่อย รวมถึงใช้ในความหมายที่เป็นอากัปกริยาที่แสดงออกอยู่เสมอ ๆ หรือลักษณะนิสัย เช่น ขี้ขโมย ขี้คุก ขี้แย ขี้ขอ ขี้โกรธ

นอกจากนี้ยังใช้ประกอบคำที่แสดงความหมายในทางไม่ดี เช่น ขี้เกียจ ขี้เหนียว ขี้ตืด ฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า นัยของคำว่า “ขี้” คือ เหม็น สกปรก เกาะติด กาก ส่วนที่ไม่ต้องการ ส่วนที่เหลือจากกระบวนการ เพราะเราไม่ต้องการใช้สิ่งที่เปรอะเปรื้อนนั่นเอง

ส่วนคำอื่น ๆ ที่มักใช้แทนความหมายของขี้ ได้แก่ คูถ มูล อาจม อุจจาระ ล้วนเป็นคำจากภาษาบาลี-สันสกฤต

ก่อนเรียก “ส้วม” มี เว็จ ถาน บังคน

สถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่าย เป็นคำที่ไม่คุ้นเคยในแง่วิถีชีวิตของคนไทยในอดีต คำทั่วไปที่ใช้คือการเชื่อมคำ 2 คำ ไว้ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้คำกริยาว่า “ไป” ตามด้วยคำนามเรียกสถานที่ขับถ่าย ได้แก่ “ทุ่ง” “ท่า” และ “ป่า” คือ ไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงความสุภาพเพื่อเลี่ยงที่จะบอกตรง ๆ ว่า “ไปขี้”

แต่อีกนัยหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า คนไทยในอดีตไม่มีสถานที่ “เฉพาะ” สำหรับการขับถ่าย และสะท้อนความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของคนไทย คือขับถ่ายแนบชิดธรรมชาติ

ขณะที่ชาวบ้านพากัน ไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า พระสงฆ์นั้นมีคำเรียกสถานที่ขับถ่ายเฉพาะตัว โดยเรียกว่า “เว็จ” และ “ถาน” แปลว่า สถานที่ถ่ายอุจจาระเหมือนกัน และเป็นศัพท์ใช้แก่บรรพชิต

คำว่า “เว็จ” มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต คือคำว่า “วัจจกุฏิ” (วจฺจกุฏิ) แต่แผลงจาก “วัจจะ” เป็น เว็จ” ปรากฏคำนี้อยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาทางภาคเหนือ และวรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ดังตอนหนึ่งในคัมภีร์ใบลาน เล่าถึงนางแก้วกัลยานีออกอุบายขุดหลุมพรางจับตัวบัณฑิตะได้ นางกล่าวว่าตัวของบัณฑิตะนั้น “มีกลิ่นคันธะบ่ดีเป็นดั่งสีกหม่าและเวจจกุฏิ

ส่วนคำว่า “ถาน” มาจากคำว่า ฐานํ หรือ ฐาน ในภาษาบาลี-สันสกฤต เช่นกัน แต่มีหลายความหมาย เช่น ตำแหน่ง แท่น ที่ ที่รอง หลัก แหล่ง เหตุ ฯลฯ ปรากฏแรกสุดในศิลาจารึกหลักที่ 1 และ 38 คือคำว่า “ถิ่นถาน”

ส่วนความหมายที่สื่อถึง พบในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนนางสายทองพานางพิมพิลาไลย (วันทอง) ไปหาพลายแก้ว (ขุนแผน) ที่บวชเณรอยู่ที่วัด แล้วทั้งสองเกี้ยวพาราสีกัน แต่เผอิญมีพระรูปหนึ่งในวัดเพิ่งกลับจากการขับถ่ายมาพบภาพนั้นเข้า ดังความว่า

“ครานั้นเถรไทยไปถานมา   ได้ยินเสียงสีกาอยู่อู้อี้

แอบฝาตามองตามช่องมี   เห็นเย้ายีหยอกยุดผ้าห่มกัน

เอวกลมนมโตดูโอ่โถง   อีตายโหงมาประเคนให้เณรฉัน

ออแก้วสามาญก็หาญครัน   กลางวี่กลางวันไม่เกรงใคร”

สันนิษฐานว่า ถาน น่าจะมาจากลักษณะของวัจจกุฏิ ที่มีลักษณะเป็นหลุมและก่อเป็นกรุขึ้นมา คือเป็นแท่นหรือฐาน (ถาน) นั่นเอง

ชาวบ้านจึงรับ “ถาน” ไปใช้ จนปรากฏในสุภาษิตท้องถิ่น เช่น ภาษิตอีสานที่ว่า “เบิ่งพระให้เบิ่งถาน เบิ่งบ้าน ให้เบิ่งครัว” แปลว่า ดูพระให้ดูที่ถาน ดูบ้านให้ดูครัว เรียกว่าถานเป็นสิ่งประเมินความเจริญ การรักษาระเบียบวินัย และความสะอาด ของพระก็ว่าได้

สำหรับสถานที่ขับถ่ายของเจ้านายชั้นสูง พบคำว่า “บังคน” มีเค้าจากภาษาเขมรคือ “บงฺคน่” แปลว่า ปิด, บัง, กัน ไม่ให้ใครดูหรือเห็น ซึ่งก็คือส้วมนั่นแหละ โดยพบใน ลิลิตพระลอ เป็นตอนก่อนพระลอออกเดินทางไปหาพระเพื่อนพระแพง ได้เสด็จห้อง “บังคน” ที่มีนางพนักงานทำหน้าที่คอยถวายน้ำ ดังว่า “…เสด็จสู่ห้องบังคนนางถวายชลเอางาน…”

ส่วนคำว่า “ส้วม” นั้น ยังไม่ทราบว่าเริ่มใช้กันจริง ๆ สมัยใด พบเพียงว่าอย่างน้อยสมัยรัชกาลที่ 3 ในพระราชพิธีที่มีการเลี้ยงพระ พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งให้จัดเตรียมสิ่งของสำหรับพระสงฆ์ไว้ให้พร้อม รวมถึงจัดเตรียม “ส้วม” ด้วย ดังความว่า “อนึ่ง ให้สนมตำรวจนอกไปทำส้วมไว้นอกพระระเบียงด้านตะวันออก 2 ส้วมโดยเป็นหมายที่ระบุชัดเจนว่า ส้วมคือสถานที่ขับถ่ายของพระสงฆ์

สอดคล้องกับข้อมูลใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเลย์ ที่ได้อธิบายว่า คำว่า “ส้วม” ว่า “คือเว็จเปนที่ถ่ายอุจจาระแห่งพระสงฆ์ มีสำหรับอารามทุกอาราม เขาทำไว้ที่ข้างวัดนั้น”

ทั้งนี้ ส้วมไม่น่าใช่คำสำหรับพระ (โดยเฉพาะ) เพราะไม่ใช่ภาษาบาลี-สันสกฤต และพระก็มี “เว็จ” กับ “ถาน” อยู่แล้ว อนึ่ง การที่ปรากฏส้วมในหมายรับสั่งอย่างคุ้นเคย จึงเป็นไปได้ว่ามีการใช้หรือเรียกสถานที่ขับถ่ายด้วยคำนี้มาระยะหนึ่งแล้ว หรืออาจจะตั้งแต่สมัยอยุธยา

เพราะสมัยนั้น “สถานที่ขับถ่าย” มักสร้างแต่ในวัด จึงปรากกฏคำว่า “ส้วม” มาใช้กับพระเป็นลำดับแรก ๆ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มนฤทัย ไชยวิเศษ. (2566). ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567