“ชาติชาย ชุณหะวัณ” เชื่อมสัมพันธ์กลุ่มคอมมิวนิสต์ จนขึ้นแท่น “มิสเตอร์อินโดจีน”

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือ น้าชาติ นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ได้ ฉายา มิสเตอร์อินโดจีน เจ้าของ นโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (ภาพ : George H. W. Bush Presidential Photographs)

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน หนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่มีผลงานด้านการต่างประเทศเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ เห็นจะเป็น พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือที่ผู้ใกล้ชิดเรียกติดปากว่า “น้าชาติ” (หลานเขยของพลเอก ชาติชาย คือ ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน “รัฐบาลเศรษฐา”) โดยนโยบายที่สร้างชื่อเสียงให้ พลเอก ชาติชาย ก็คือนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอินโดจีน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จนได้ฉายาว่า “มิสเตอร์อินโดจีน”

ทศวรรษที่ 2530 ไทยยังมีข้อกังวลเรื่องการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้การดำเนินนโยบายใดๆ ของระบบราชการกับประเทศในกลุ่มอินโดจีนไม่ใช่เรื่องง่าย

“น้าชาติ” จึงตั้งคณะที่ปรึกษา รู้จักกันในชื่อ “ทีมบ้านพิษณุโลก” เพื่อลดบทบาทระบบราชการในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

นโยบายที่ว่า ถือเป็นการทูตแนวใหม่ในสมัยนั้น คือการส่งสัญญาณทางการทูต เพื่อทำให้ประเทศที่มีอุดมการณ์และระบอบการปกครองต่างกัน สามารถหันมาร่วมมือกันในด้านที่ไม่มีความขัดแย้งกันได้ นั่นก็คือ ด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของข้าราชการ เพราะเห็นถึงภัยความมั่นคงหากทอดสะพานเชื่อมสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ

ภายใต้นโยบายดังกล่าว พลเอก ชาติชาย ได้เชิญ ฮุน เซน ผู้นำระบอบ “เฮง สัมริน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม แต่ไม่ได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2532

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยเรื่องการฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา หลังแตกเป็น 4 ฝ่าย และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ เจ้านโรดมสีหนุ เป็นจุดเริ่มต้นในการนำสันติภาพที่ถาวรมาสู่กัมพูชา

เพราะเมื่อการเมืองเริ่มมั่นคง บ้านเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ “เศรษฐกิจ” ก็เดินหน้าได้ไม่สะดุดเหมือนก่อน

ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนามและลาว ก็ฟื้นฟูความสัมพันธ์จนนำมาสู่ข้อตกลงในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) ใน พ.ศ. 2532 เป็นสัญลักษณ์สันติภาพของภูมิภาคนี้ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีน

จากตอนแรกที่นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เมื่อเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ผลลัพธ์ก็ค่อยๆ เกิด การค้าชายแดนที่ถูกปกปิดและลักลอบค้าขายมานานกว่า 8 ปี ก็กลายเป็นการค้าถูกกฎหมาย สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล

เมื่อมองตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ มูลค่าการค้ากับกลุ่มอินโดจีนสูงขึ้นจาก 300 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2531 เป็น 1,200 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2532 และกระโดดเป็น 2,000 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2533

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้รับฉายา “มิสเตอร์อินโดจีน” ไปอย่างไร้ข้อกังขา ก่อนจะถูก “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) นำกำลังเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

“ชาติชาย ชุณหะวัณ (พลเอก)”. เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.

“นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า”. เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.

ธนพล หยิบจันทร์. “มิสเตอร์อินโดจีน” เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มองความ “มั่งคั่ง” มากกว่า “มั่นคง” ?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567