“งามทั้งห้าไร่” งามเหมือนไพร่ งามจริงหรือประชด? หาที่มาของสำนวนเก่าแทบไม่มีใครใช้

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง งามทั้งห้าไร่ งามเหมือนไพร่
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

งามทั้งห้าไร่ งามเหมือนไพร่ งามจริงหรือประชด? หาที่มาของสำนวนเก่าแทบไม่มีใครใช้

คำว่างามทั้งห้าไร่ เป็นสำนวนเก่าของไทยอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครพูด แต่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์คงพูดกันมาก จึงมีใช้ในวรรณคดีหลายเรื่อง เหตุที่ไม่มีใครพูดอาจเพราะไม่เข้าใจความหมายว่า “ห้าไร่” คืออะไรก็เป็นได้ แม้ในปัจจุบันยังหาคำจำกัดความชัดเจนไม่ได้

ในพจนานุกรมอธิบายคำว่างามทั้งห้าไร่ ไว้ว่า เป็นคำประชด ว่างามเหมือนไพร่

อยากรู้ว่าไพร่งามอย่างไร ก็ไม่พบคำอธิบาย แต่ตามความรู้สึก คำว่าไพร่คือคนที่มีฐานะต่ำ พลิกดูกฎหมายโบราณพบว่า “ยาจก วณิพก ทาส ลูกทาส นาคนละห้าไร่” แต่ตามความเป็นจริงไม่มีนาสักกระแบมือ กฎหมายตั้งไว้เพื่อสะดวกในการปรับไหมเท่านั้นเอง ถ้ามีนาห้าไร่จริงๆ ก็น่าจะพอกินแบบพอเพียงยิ่งข้าวงามทั้งห้าไร่ด้วยแล้วสบายมาก

ในหนังสือบางเล่มอธิบายว่า ข้าวที่ปลูกในนางามหมดทั้งห้าไร่ แต่เป็นสำนวนอย่างเดียวกับงามหน้า แลความหมายกว้างออกไปว่า งามเต็มที่ไม่ว่าอะไรเสียหมด อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ สรุปได้ว่าเป็นสำนวนประชด หนักไปในทางกิริยามารยาทหรืออาการแสดงออกเป็นแบบของพวกไพร่

ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมที่มีกล่าวถึงในวรรณคดี น่าจะหมายถึงน่าอับอาย น่าบัดสี ดูลามกอนาจาร อะไรทำนองนั้น เช่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างเป็นความกับขุนแผน ขุนช้างทำผ้านุ่งหลุดลุ่ยกลางศาล ตุลาการทนไม่ไหวร้องด่าลั่น

“จมื่นศรีร้องด่ามาทันใด
งามทั้งห้าไร่อ้ายตาลาย”

ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนนางเสาวคนธ์ได้เสียกับสุดสาครแล้วนางเสาวคนธ์เกิดนึกละอายขึ้นมา จึงแกล้งเรียกนางพี่เลี้ยงมาต่อว่า

“ลงจากแท่นแค้นสี่พระพี่เลี้ยง
เรียกมาเคียงค่อนว่าไม่ปราไส
นั่งอยู่นี่พี่ยามาเมื่อไร
ไม่บอกให้แจ้งจิตแกล้งปิดบัง
เป็นลมจับหลับอยู่ไม่รู้แจ้ง
นี่เนื้อแกล้งจะให้อายเมื่อภายหลัง
ให้นอนเคียงเรียงกันบนบัลลังก์
งามทั้งห้าไร่จะได้ดู”

สำนวนงามทั้งห้าไร่ทั้งสองแห่งนี้ ไม่หมายว่าดีว่างามอย่างแน่นอน จะต้องหมายถึงอุจาด ลามก น่าละอาย มากกว่าอย่างอื่น ขุนช้างทำผ้าหลุดลุ่ย เข้าลักษณะเปลือยกาย ส่วนสุดสาครกับนางเสาวคนธ์นั้นเล่าก็คงจะอยู่ในลักษณะเดียวกันคือผ้าผ่อนนุ่งห่มไม่เรียบร้อย จึงพูดประชดว่า “งามทั้งห้าไร่จะได้ดู” คือนางพี่เลี้ยงปล่อยให้งามทั้งห้าไร่ เพื่อจะได้ดูเล่นเป็นขวัญตากระมัง

สำนวนนี้เข้าใจว่าจะนิยมใช้ในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะมีปรากฏในเรื่อง “สังข์ศิลปไชย” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 แต่ครั้งยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

“นางไกรสรได้ฟังไม่กังขา
หุนหันโมโหโกรธา
ตวาดว่าดูดู๋สังข์ศิลปไชย
ไปคบคิดกับพ่อมาก่อความ
ทีนี้มันงามทั้งห้าไร่”

ตามเรื่องว่าสังข์ศิลปไชยอาสาท้าวเสนากุฎพระราชบิดา ไปอ้อนวอนนางประทุมพระมารดาให้กลับเมือง นางไกรสรบาทบริจาริกาอีกนางหนึ่งซึ่งถูกขับไล่ออกมาพร้อมๆ กัน ได้ฟังแล้วไม่พอใจ จึงได้ต่อว่าสังข์ศิลปไชยดังกล่าวข้างต้น

คำว่างามทั้งห้าไร่ในกลอนตอนนี้ จึงไม่มีอะไรดูน่าเกลียดน่าชังเหมือนในเรื่องขุนช้างขุนแผนและพระอภัยมณี เป็นแต่เพียงไม่พอใจที่สังข์ศิลปไชยทำเจ้าหน้าเจ้าตาไปรับอาสาพระบิดามาอ้อนวอน นางยังโกรธไม่หายจึงได้พูดด้วยความแค้นไปเช่นนั้น พิจารณาตามเรื่องก็ไม่เห็นมีอะไรจะเสียหาย

“งามทั้งห้าไร่” จึงน่าจะมีเบื้องหลังที่มา ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครทราบเรื่องเสียแล้ว และมิใช่เฉพาะในวรรณคดี ภาษาพูดไม่เคยได้ยิน ถ้าผู้รู้ท่านใดทราบก็น่าจะเขียนมาให้อ่านกันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ปรับเนื้อหาและเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 4 มิถุนายน 2566