สำนวน “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” หมายถึงอะไร “เจ็ดย่านน้ำ” มีอะไรบ้าง?

เขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วย เขาสัตตบริภัณฑ์ และสีทันดร (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1)

สำนวน “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าเป็นภาษาปาก, เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง “ทั่วทุกแห่งหน” มักใช้ในรูปประโยคเช่น ฉันไปเที่ยวมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้ว โดยนอกจากร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ก็ยังมี ร้อยเอ็ดเจ็ดคาบสมุทร, ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร, ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมือง ซึ่งใช้ในความหมายเช่นเดียวกันทั้งหมด

“ร้อยเอ็ด” ไม่ใช่จำนวน หรือเลข 101 แต่มีความหมายโดยเปรียบเทียบว่ามีจำนวนมากมาย เพราะมากกว่าร้อยไปหนึ่ง หรือ 100+1 

ส่วนคำว่า “เจ็ดย่านน้ำ” อาจเชื่อมโยงกับทะเลทั้ง 7 แห่ง ตามคติความเชื่อโบราณ

ใน “ไตรภูมิ” กล่าวถึง “เขาพระสุเมรุ” ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางจักรวาล มีทิวเขาล้อมรอบสลับกันเป็นชั้น ๆ ได้ 7 ชั้น ทิวเขาทั้ง 7 มีชื่อเรียกต่างกัน โดยลำดับคือ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมินธร วินตกะ และอัสกัณ รวมกันเรียกว่า เขาสัตตบริภัณฑ์ (สัตตะ หมายถึง เจ็ด) โดยระหว่างทิวเขาแต่ละแห่งก็จะคั่นด้วยทะเล 7 แห่ง และมีชื่อเดียวกันทั้งหมดว่า “สีทันดร” 

เนื่องจากสีทันดรเป็นทะเลที่มีความกว้างใหญ่ไพศาล จึงอาจเป็น “เจ็ดย่านน้ำ” ที่ถูกนำมาเชื่อมกับ “ร้อยเอ็ด” กลายเป็น “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ”

สีทันดรไม่เพียงมีขนาดกว้างใหญ่ แต่ยังลึกสุดขั้ว ไม่มีสิ่งใดลอยอยู่ได้แม้กระทั่งขนนก (แววหางนกยูง) การจะข้ามทะเลแห่งนี้ต้องเหาะเพียงอย่างเดียว ขนาดพญาครุฑยังต้องใช้พละกำลังมากกว่าจะข้ามพ้น ดังที่บทละครเรื่องกากี ได้พรรณนาถึงสีทันดรว่า

……..   สัตตภัณฑ์คั่นสมุทรใสสี

แม้นจะขว้างแววหางมยุรี   ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาล

ด้วยนํ้านั้นสุขุมละเอียดอ่อน   จึ่งชื่อสีทันดรอันไพศาล

ประกอบหมู่มัจฉากุมภาพาล   คชสารเงือกนํ้าแลนาคินทร์

ผู้ใดข้ามนทีสีทันดร   ก็ม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น

แสนมหาพระยาครุฑยังเต็มบิน   จึ่งล่วงสินธุถึงพิมานทอง

อย่างไรก็ตาม “เจ็ดย่านน้ำ” อาจมีความเชื่อมโยงกับทะเล 7 แห่ง ใน “คัมภีร์อินเดีย” [สุจิตต์ วงษ์เทศ อ้างจากหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2515 หน้า 37-40] ดังนี้ 

  1. ทะเลน้ำเค็ม เรียกว่า ลาวัณย์ เป็นทะเลล้อมชมพูทวีป (อินเดีย) 
  2. ทะเลน้ำอ้อย เรียกว่าอิกษุรโสทะ เป็นทะเลล้อมปลักษะทวีป (หมายถึงพม่า) 
  3. ทะเลน้ำผึ้ง เรียกว่าสุรา (บางแห่งเป็นเมรัย) เป็นทะเลล้อมศาลมาลีทวีป (หมายถึงมลายู) 
  4. ทะเลเปรียง เรียกว่าสระปี เป็นทะเลล้อมกุศะทวีป (หมายถึงหมู่เกาะซุนดา) 
  5. ทะเลน้ำนมเปรี้ยว เรียกว่าทธิมัณฑะ เป็นทะเลล้อมเกราญจะหรือโกญจาทวีป (หมายถึงจีนใต้) 
  6. ทะเลน้ำนม เรียกว่าทุคธะ หรือกษิร (เกษียรสมุทร) เป็นทะเลล้อมศักกะทวีป (หมายถึงสยามกัมโพช) 
  7. ทะเลน้ำธรรมดา เรียกว่าชล หรือโตยัมพุธิ เป็นทะเลล้อมบุษกรทวีป (หมายถึงจีนเหนือ) 

ไม่ว่า “เจ็ดย่านน้ำ” จะหมายถึงมหาสมุทรหรือทะเล 7 แห่งที่ใด เรื่องนี้อาจเป็นเพียง “การลากเข้าความ” เพื่อเชื่อมโยง “เจ็ด” เข้ากับเรื่องหรือคติความเชื่อนั้น ๆ หรือแท้จริงแล้ว คำว่า “เจ็ดย่านน้ำ” ที่ตามมาหลัง “ร้อยเอ็ด” อาจไม่ได้หมายถึงทะเลแห่งใด แต่อาจพูดขึ้นเพื่อให้สัมผัสกับคำว่า “เอ็ด” ตามลักษณะคำคล้องจองของไทย เพียงเท่านั้น…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เสฐียรโกเศศ. “เล่าเรื่องในไตรภูมิ”. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายนุ่ม ภูมมะภูติ นางสาวดารณี ภูมมะภูติ ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี 7 มิถุนายน 2512

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “เมืองร้อยเอ็ด ไม่ใช่ ‘เมืองสิบเอ็ด’”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566. จาก, https://www.matichonweekly.com/column/article_306966

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “ร้อยเอ็ด”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566. จาก, http://bit.ly/3kSJDsH

ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. “กากีกลอนสุภาพ,” ใน วรรณคดี เจ้าพระยาพระคลัง (หน). เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566. จาก, https://bit.ly/3T12770


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2566