“แม่ร้อยชั่ง” ถึง “งามทั้งห้าไร่” สำนวนชมสาวๆ ในอดีต

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม

สองสำนวนไทยเกี่ยวกับผู้หญิง “แม่ร้อยชั่ง” และ “งามทั้งห้าไร่” มีที่มาจากสังคมเก่า แต่วันนี้สาวไทยจะเลือกแบบไหนดี

แม่ร้อยชั่ง และงามทั้งห้าไร่ ทั้ง 2 สำนวนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีผู้ใหญ่ 2 ท่านเขียนเอาไว้ต่างกรรมต่างวาระ หนึ่งคือ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อีกหนึ่งคือ อาจารย์สมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) จึงขอสรุปรวมมาให้ได้อ่านโดยสะดวกไว้ในที่นี้

ขอเริ่มจาก “แม่ร้อยชั่ง” ที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เขียนอธิบายไว้ว่า สมัยก่อนเมื่อพูดถึงสาวที่พ่อแม่ทะนุถนอมและเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดี นิยมเรียกกันว่า “แม่ร้อยชั่ง”  ซึ่งใครได้ยินก็หูผึ่ง เพราะเงิน 100 ชั่ง ในสมัยก่อนนั้น ค่าสูงจนธรรมดายากจะได้พบเห็น

ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีรายได้จากการค้าขายมาราคาทองจึงขึ้นไปเป็นบาทละ 12 บาท พี่นางทั้งหกจึงประเทียดน้องรจนาว่าเป็น “เมียเจ้ารูปทองสิบสองบาท” ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองนั้น

เงิน 100 ชั่ง คือ 8,000 บาท จึงสามารถซื้อทองได้มากโข เหตุที่นำจำนวนเงิน 100 ชั่ง มาเรียกสาวที่พ่อแม่ทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดี และต่อมาก็ได้ใช้ในลักษณะประเทียดนั้น มีที่มาจากประเพณีในราชสำนักแต่ก่อน คือเมื่อเจ้าจอมคนใดรับราชการจนมีครรภ์ก็จะพระราชทานเงิน 100 ชั่ง เป็นค่าเลี้ยงท้อง

คำว่า แม่ร้อยชั่ง จึงหมายถึงลูกหลวง ซึ่งได้รับทำนุบำรุงอย่างดีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อมาใช้เป็นสำนวนจึงหมายถึงว่าเกิดมาดี ได้รับการเอาใจใส่ดูแลมาโดยตลอด

การพระราชทานเงินค่าเลี้ยงท้องนี้ได้ปฏิบัติกันสืบมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนแปลงเป็นพระราชทานทีหลัง คือรอให้ประสูติเห็นพระองค์เสียก่อน

และการประสูตินั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงลงนามเป็นราชสักขี

เหตุที่ต้องเปลี่ยนราชประเพณี เพราะมีเรื่องเกิดขึ้น และเป็นเรื่องดังที่ปิดกันให้แซ่ดในสมัยโน้น กล่าวคือ เจ้าจอมมารดาองค์หนึ่ง เป็นคนใช้เงินมือเติบ อยากได้เงินร้อยชั่ง จึงกราบทูลว่าตั้งครรภ์ แต่แท้ที่จริงแกล้งใช้ผ้าพันท้องให้โตขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายความก็แตก

เพราะเจ้าพนักงานจัดเครื่องดุริยดนตรี แตรสังข์ เตรียมไว้เพื่อประโคม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่นั่งชุมนุมรอชมพระองค์เจ้าจะประสูติแลเป็นราชสักขี ที่ต่างรอจนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้ประโคม

เจ้าจอมเห็นท่าไม่ได้การ จึงสารภาพความจริง

ธรรมเนียมพระราชทานเงินก่อนจึงต้องเปลี่ยนเป็นพระราชทานทีหลัง

ส่วน “งามทั้งห้าไร่” อาจารย์สมบัติ พลายน้อย อธิบายไว้ว่า เป็นสำนวนเก่าของไทยอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครพูด เหตุที่ไม่มีใครพูดอาจเพราะไม่เข้าใจความหมายว่า “ห้าไร่” คืออะไรก็เป็นได้ แม้ในปัจจุบันยังหาคำจำกัดความชัดเจนไม่ได้

ในพจนานุกรมอธิบายคำ “งามทั้งห้าไร่” ไว้ว่า “เป็นคำประชด ว่างามเหมือนไพร่”

อยากรู้ว่าไพร่งามอย่างไร ก็ไม่พบคำอธิบาย แต่ตามความรู้สึก คำว่าไพร่ คือคนที่มีฐานะต่ำ พลิกดูกฎหมายโบราณพบว่า “ยาจก วณิพก ทาส ลูกทาส นาคนละห้าไร่” แต่ตามความเป็นจริงไม่มีนาสักกระแบมือ กฎหมายตั้งไว้เพื่อสะดวกในการปรับไหมเท่านั้นเอง ถ้ามีนาห้าไร่จริงๆ ก็น่าจะพอกินแบบพอเพียงยิ่งข้าวงามทั้งห้าไร่ด้วยแล้วสบายมาก

ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมที่มีกล่าวถึงในวรรณคดี น่าจะหมายถึงน่าอับอาย น่าบัดสี ดูลามกอนาจาร อะไรทำนองนั้น เช่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างเป็นความกับขุนแผน ขุนช้างทำผ้านุ่งหลุดลุ่ยกลางศาล ตุลาการทนไม่ไหวร้องด่าลั่น

“จมื่นศรีร้องด่ามาทันใด
งามทั้งห้าไร่อ้ายตาลาย”

ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนนางเสาวคนธ์ได้เสียกับสุดสาครแล้วนางเสาวคนธ์เกิดนึกละอายขึ้นมา จึงแกล้งเรียกนางพี่เลี้ยงมาต่อว่า

“ลงจากแท่นแค้นสี่พระพี่เลี้ยง
เรียกมาเคียงค่อนว่าไม่ปราไส
นั่งอยู่นี่พี่ยามาเมื่อไร
ไม่บอกให้แจ้งจิตแกล้งปิดบัง

เป็นลมจับหลับอยู่ไม่รู้แจ้ง
นี่เนื้อแกล้งจะให้อายเมื่อภายหลัง
ให้นอนเคียงเรียงกันบนบัลลังก์
งามทั้งห้าไร่จะได้ดู”

สำนวน “งามทั้งห้าไร่” ทั้งสองแห่งนี้ ไม่หมายว่าดีว่างามอย่างแน่นอน จะต้องหมายถึงอุจาด ลามก น่าละอาย มากกว่าอย่างอื่น ขุนช้างทำผ้าหลุดลุ่ย เข้าลักษณะเปลือยกาย ส่วนสุดสาครกับนางเสาวคนธ์นั้นเล่า ก็คงจะอยู่ในลักษณะเดียวกัน คือผ้าผ่อนนุ่งห่มไม่เรียบร้อย จึงพูดประชดว่า “งามทั้งห้าไร่จะได้ดู” คือนางพี่เลี้ยงปล่อยให้ “งามทั้งห้าไร่” เพื่อจะได้ดูเล่นเป็นขวัญตากระมัง

“งามทั้งห้าไร่” จึงน่าจะมีเบื้องหลังที่มา ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครทราบเรื่องเสียแล้ว และมิใช่เฉพาะในวรรณคดี ภาษาพูดไม่เคยได้ยิน ถ้าผู้รู้ท่านใดทราบก็น่าจะเขียนมาให้อ่านกันบ้าง

นั่นคือที่มาและความหมายของสำนวนทั้งสอง ที่แม้จะเป็นเพียงสำนวนแต่เมื่อค่าของเงินราคาของที่ดินเปลี่ยนไป สาวๆ เธอจะเลือกเอาสำนวนใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ล้อม เพ็งแก้ว. เสนาะเสน่ห์สำนวนไทย, สำนักพิม์มติชน 2548

ส.พลายน้อยล. “งามทั้งห้าไร่”, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2562