“อีคนสามแยก” คำด่าตกรุ่นที่วันนี้ คนโดนด่าอาจไม่เข้าใจและไม่เจ็บเท่าที่ควร

ผู้หญิง
ภาพประกอบบทความ จาก “อนุสรณ์ครอบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540”

“อีคนสามแยก” เป็น “คำด่า” ในสมัยหนึ่ง แต่คำด่าว่า “สามแยก” ในสมัยนี้อาจมีปัญหาว่า “สามแยกไหน” เพราะเดี๋ยวนี้มันมีเยอะเหลือเกิน สามแยกเกษตร, สามแยกท่าพระ, สามแยกไฟฉาย ฯลฯ.

แต่ก่อนนี้ไม่มีหรอกครับ เพราะมันมีสามแยกเดียว

Advertisement

คือ สามแยกตรงหน้าโรงหนังนิวโอเดียน หรือที่เรียกกันในภายหลังนี้ว่า “สามแยกเฉลิมบุรี” [ปัจจุบันคือ สามแยกเจริญกรุง] นี้แหละครับ เพราะถนนแต่ก่อนนี้ไม่ได้มีตัดผ่านกันมากมายเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ อันจะทำให้เกิดสามแยกขึ้น

สามแยกนี้มันเกิดขึ้นก็เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านตัดถนนเจริญกรุงผ่านตลาดน้อย, วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม), บ้านทวาย, บ้านใหม่, วัดพญาไกร ไปถึงบางคอแหลม-ถนนไปสุดตรงริมแม่น้ำตรงบางคอแหลมจึงมีชื่อใหม่เกิดขึ้นว่า “ถนนตก” (และเพราะเป็นสายแรกและสายใหม่ ฝรั่งจึงเรียก New Road)

และเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านตัดถนนเยาวราชไปจดกันเป็นที่ชายธงอีตรงหน้าโรงหนังนิวโอเดียนนั่น จึงเกิดเป็นสามแยกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต่อมาจะเพื่อให้กระชับ-แน่นอนขึ้นหรืออย่างไรไม่ทราบ ก็มีคำ “ประดู่” มาต่อท้ายเป็น “สามแยกต้นประดู่” ทั้งนี้ก็เพราะมันมีต้นประดู่ต้นหนึ่งอยู่อีตรงที่เป็นธนาคารเอเชีย [ปัจจุบันคือ ธนาคารยูโอบี] ต่อมาก็เรียกกันไปอีกอย่างคือเรียก “สามแยกเฉลิมบุรี” [ปัจจุบันคือ สามแยกเจริญกรุง] ก็เพราะมันมีโรงหนังเฉลิมบุรีอยู่ตรงนั้นนั่นเอง จะว่าที่เปลี่ยนไปเพราะต้นประดูถูกโค่น หรือตายไปแล้วก็ไม่เชิง เพราะเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นผมมาดูหนังที่เฉลิมบุรี ยังเห็นต้นประดู่อยู่เลย และโรงพักสามแยกเป็นเรือนไม้ก็ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นด้วย.

คงจะเป็นเพราะว่าโรงหนังเฉลิมบุรีมีกิจกรรมที่โด่งดังเป็นที่สะดุดตาคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่คนรุ่นเก่าอย่างเช่น พระยาอนุมานราชธนท่านก็ยังเรียก “สามแยกต้นประดู่” อยู่ (หนังสือฟื้นความหลังของท่าน)

อันที่จริงโรงหนังเฉลิมบุรีนี้ก็เพิ่งมาเปลี่ยนเอาในยุคเฉลิมกรุงนี่เอง จะเห็นว่าโรงหนังต่างๆ ในยุคนั้นจะมีคำ “เฉลิม” นำหน้ากันไปหมด, เฉลิมนคร (หัวถนนวรจักร), เฉลิมเวียง (บางรัก), เฉลิมธานี (นางเลิ้ง), เฉลิมโลก (ประตูน้ำ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่และสะพานลอยทับไปเสียแล้ว) เดิมของเขาชื่อ “สิงคโปร์” (คู่กับปีนังที่บางลำภู), หลักฐานที่หลงเหลือให้เห็นอยู่ก็คือ ร้านขายลอดช่องสมัยใหม่ที่ทำด้วยแป้งมันสำปะหลัง อันตั้งชื่อตามโรงหนังว่า ร้าน “สิงคโปร์โภชนา” ยังมีอยู่ตรงปากตรอกโรงหนังด้านธนาคารเอเชีย-ใกล้กันกับร้านยาขมคั้นกี่น้ำเต้าทองนั่นแหละ

เป็นธรรมเนียมอย่างเหลือเกินละครับ ย่านโรงหนังนี้ที่จะต้องมีร้านค้าต่างๆ ตั้งชื่อตามโรงหนัง โรงหนังสิงคโปร์นี่ก็เหมือนกันพอเปลี่ยนชื่อมาเป็นเฉลิมบุรีแล้วก็มีร้านค้าตั้งชื่อเลียนแบบเป็นแถว “เฉลิมบุรีโภชนา” เอย, “เฉลิมบุรีซักแห้ง” เอย ฯลฯ ร้านซักแห้ง ฟอกหมวก ละเป็นดงเลย ที่แถวนั้น

ขอย้อนกลับมาสามแยกอย่างเดิม ไม่ได้เกลื่อนแต่โรงหนังนะครับ สำนักโสเภณีก็เกลื่อน, ยิ่งกว่าโรงหนังเป็น 10 เท่ากระมัง มีทั้งสำนักของคนจีนและคนไทย สำนักของคนไทยนั้นจะเป็นของใครบ้างมิได้มีใครบันทึกไว้ จะรู้ได้ก็แต่สำนักของยายแฟง เพราะยายแฟงแกทำมาค้าได้แกก็เอาเงินมาสร้างวัด จึงได้มีหลักฐานเหลือมาให้รู้ และวัดที่แกสร้างนั้นแกก็มิได้ตั้งชื่อ ชาวบ้านก็เลยเรียกตามชื่อของแกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” แล้วภายหลังจึงได้มาตั้งชื่อกันเพราะๆ ว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งก็มีความหมายว่า ประโยชน์ที่ได้จากนางคณิกา

เพราะในพื้นที่สามแยกมันมีกิจการเช่นนี้ดกดื่นนั่นเอง จึงได้เกิดคำ “อีคนสามแยก” ขึ้น วลีนี้เขามีเป็นชุดของเขานะครับ ล้วนความหมายเดียวกันทั้งนั้น คือ “อีนัมเบอร์วัน, อีขันล้างก้น, อีคนสามแยก” (ข้อมูลนี้ได้จากอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์), ความจริงจุดกำเนิดของมันคงจะต่างวาระกัน แต่เนื่องจากมันสัมผัสคล้องจองกันจึงได้จับมาเข้าชุดกัน พึงสังเกตว่าคำ “นัมเบอร์วัน” นั้นเป็นคำฝรั่งอยู่ แต่ก็ไม่ได้ผิดยุคสมัย เพราะสามแยกเกิดขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีถนนเยาวราช และในรัชกาลที่ 5 เราก็รู้ภาษาฝรั่งกันแล้ว พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ท่านแต่งโคลงกลอนก็มีภาษาฝรั่งปนแล้ว

นัมเบอร์วัน ก็คือ นัมเบอร์ 1 เมื่อเป็นนัมเบอร์ 1 เสียแล้ว- – -จะเปรียบไปก็เหมือนท่านสมภาร ใครเข้าวัดมาถ้านิมนต์องค์เดียว ก็ต้องถูกท่านสมภาร ต่อเมื่อต้องการหลายองค์นั้นแหละ จึงจะเฉลี่ยไปตามบรรดาลูกวัด เช่นนั้นก็อย่าได้สงสัยเลยว่านัมเบอร์ 1 นั้นงานจะไม่ชุกกว่าคนอื่น

ขันล้างก้น นั้นก็- – -ในโอ่งอ่างหรือถังสำหรับใส่น้ำราดส้วมหรือ ล้างก้นนั้นน่ะ จะมีสักกี่ใบ ร้อยคนพันคนเข้าไปก็ไอ้ใบเดียวนั่นแหละรับใช้ นับว่าแสบกว่าคำอื่นๆ (คำนี้ต่อไปคงมีปัญหาเพราะสมัยนี้ คนไม่ล้างก้นกันแล้ว)

เพราะฉะนั้นคำว่า “อีคนสามแยก” ก็เห็นจะไม่ต้องบรรยาย

แต่คำเหล่านี้มันสูญไปเสียก่อนคนรุ่นเรา เราจึงไม่ได้ยินกัน แม้คำ “อีสำเพ็ง” เดี๋ยวนี้ก็น้อย, ที่ยังหนาหูอยู่ก็คือ “อีดอกทอง” และก็มักย่อไปเหลือแค่ “อีดอก”

อ่่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ คุณพ่อสันต์ จิตรภาษา 26 มกรามคม 2554 ซึ่งรวบรวมบทความของ ภาษิต จิตรภาษา (พ.ศ. 2472-2554) นามปากกาของ สันต์ จิตรภาษา ที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และที่อื่นๆ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2565