ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เท่าที่เรียนรู้จากสังคมไทยสมัยเก่า พบว่ามี “คำด่า” แบบน่ารักน่าเอ็นดูอยู่ไม่น้อย เช่น สันขวาน หอกหัก บ้าบิ่น และก็มีที่นิยมด่าเป็นสำนวนโวหารแบบใช้ฝีมือทางกวี (เพื่อผลักภาระไปให้คนอื่นว่าคนโบราณเขาก็ด่ากันแบบนี้แต่ไหนแต่ไรมา) เช่น “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว” “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” “คางคกขึ้นวอ”
ส่วน “คำด่า” ในวรรณคดีอย่าง “อีกลีกลำส่ำสาม” คำของนางตะเภาแก้วตะเภาทองที่ด่านางวิมาลาเมียชาละวันว่า สัญชาติจระเข้ได้ผัวจระเข้แล้วไม่พอยังจะเอามนุษย์ (ไกรทอง) ทำผัวอีก นัยยะของคำจึงเป็นการด่านางวิมาลาว่า “หญิงกลี (กาลี) มีผัวถึงสามคน”
คำด่าของไทยร่วมสมัยโดยมากจะมีการแบ่งแยกเพศค่อนข้างชัดเจน โดยนิยมยกเอา “สัตว์” ไม่ประเสริฐทั้งหลายขึ้นเทียบเคียงในการด่ากัน ระดับการเจ็บแสบต่างกัน ขึ้นกับเพศเป็นสำคัญ
สำหรับเพศชาย ว่ากันตั้งแต่ “ควาย” สัตว์สี่เท้าช่วยงานมนุษย์ที่ไม่เคยขี้รดหัวใคร นอกจากเติมปุ๋ยข้าวกล้าในนาไร่ รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานที่นักธรรมชาติวิทยาระบุว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่ “เหี้ย” อาศัยอยู่ แค่ชื่นชอบที่จะลากอาหารของคนอื่นไปกินในน้ำเท่านั้น หากเพศชายด้วยกันด่ากันเองก็มักมอบของส่วนตัวที่มีเหมือนๆ กันให้ไปดูต่างหน้า นั่นคือ “กล้วย” แต่ถ้าจะแฝงความหมายถึงความขลาดแล้วก็ต้อง “ไอ้หน้าตัวเมีย” ซึ่งคำนี้เองผู้ชายที่ถูกผู้ชายด้วยกันด่าก็จะเจ็บแสบประมาณหนึ่ง แต่ถ้าคนด่าเป็นผู้หญิงแล้วจะถึงกับปวดแสบปวดร้อนเลยทีเดียว ทำนองเดียวกับ “แรด” หากผู้ชายด่าผู้หญิงระดับความแสบร้อนจะสูงกว่าผู้หญิงด่าผู้หญิงหรือผู้หญิงด่าผู้ชายทบเท่าทวีคูณ
ในเพศหญิง นิยมด่าคนที่สร้างความขุ่นเคืองเทียบกับดอกไม้ชั้นสูงที่ทำจากเหล่าสุวรรณกาญจนา นั่นคือ “ดอกทอง” หากเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีอยู่คำหนึ่งนั่นคือ “สำเพ็ง” ถึงแม้จะเป็นย่านการค้าขายของคนจีน แต่ก็มีการทำธุรกิจส่วนตัวของผู้หญิงด้วย คนที่โดนด่าจึงเท่ากับถูกเปรียบเปรยว่าเป็นโสเภณี ติดตามมาด้วยคำด่ายุคเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่มีความหมายคล้ายกันคือ “ช็อกการี”
ส่วนคำที่ผู้หญิงนิยมด่าผู้หญิงด้วยกันรวมทั้งด่าผู้ชาย (ชายอกสามศอกทั่วไปคงไม่ใช้ด่าใคร นอกจากผู้ชายสีชมพู) นั่นคือ “หน้า ห. สระอี” ความเจ็บแสบคงอยู่ที่การให้ความหมายแบบสะท้อนกลับ ในเมื่อ ห. สระอี เป็นของที่ผู้ชายโดยมากปรารถนา แต่กลับมีทัศนคติเกี่ยวกับสิ่งนั้น เหมารวมถึง ประจำเดือน ตลอดจนผ้าถุงผู้หญิงเป็นของต่ำ ใครมีของดีของขลังเจอผ้าถุงหรือระดูของผู้หญิงเข้าก็ถึงกับเสื่อมถอย เมื่อผู้ชายเป็นคนตั้งมาตรฐาน ห. สระอี ให้ผู้หญิงเป็นของต่ำ ผู้หญิงก็เอาคำนี้ไว้ด่าผู้ชาย ผมเห็นผู้ชายรายไหนรายนั้น เป็นฟืนเป็นไฟหัวฟัดหัวเหวี่ยง
หากศึกษาคำด่าของเพศทางเลือกด้วยแล้ว อาลักษณ์คงจดบันทึกกันไม่ทันทีเดียว ด้วยเป็นการบัญญัติศัพท์ชนิดรายวัน เน้นแสบสันต์และโปกฮา อาทิ อีปลวกแคระ ชะนีหยอดเหรียญ เสลดเป็ดเทศ เห็บหมาไน ช้างกระพือ ชะนีฟลอร์ๆ พื้นบ้านกระดานไม้ หนังหน้าปลาดุกชนเขื่อน ปลากะโห้ติดเบ็ด จิ๋มติดมิเตอร์ ไปตายให้หนอนแดก เป็นต้น (ส่วนน้อยเท่าที่พอจะเผยแพร่ได้)
แถวบ้านผมมีอีกคำที่นิยมด่ากัน นั่นคือ “อีเห็ด” ตระกูลพืชชั้นต่ำ แต่จนแล้วจนรอดถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่า เห็ด มันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอันเป็นคุณสมบัติชั่วช้าเลวทรามที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างอย่างไร หรือเพราะเห็ดเมื่อได้ฝนโดนไอชื้นเข้าหน่อยละบานสะพรั่ง (เป็นดอกเห็ด) คนถึงเอามาใช้เป็นคำด่าคนด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ไอ้ลูกหมา-ไอ้ห้าร้อย” เผยคำด่าภาษาจีนในบริบทไทย คนจีนฟังแล้ว “ไม่เจ็บ”
- คนโบราณ “ด่า” กันด้วยคำไหน? ดูคำด่าเจ็บแสบของยุค และคำด่าอมตะที่ใช้ถึงทุกวันนี้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“วัฒนธรรมคำด่า”. โดย องค์ บรรจุน. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561