ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อคนผิดใจกัน ไม่พอใจกัน ก็มีการกระทบกระทั่ง หนักข้อหน่อยก็ถึงขั้น “ด่า” มีทั้งด่าตรงๆ เจ็บแบบไม่ต้องแปล ไม่ก็ ด่า อ้อมๆ ถึงบ้านแล้วค่อยคิดออกว่าคือ คำด่า ฯลฯ
การแสดงออกด้วยการด่ามีมาตั้งแต่อดีต อย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา พบหลักฐาน คำด่า ใน พระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน มาตรา 36 เช่น ไอ้ (อี) ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้ฉ้อ ขี้ขโมย ขี้ข้า ขี้ครอก ฯลฯ ไปจนถึง อีดอกทอง
คำด่าพวกนี้น่าจะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ในชีวิตจริงคงมีการประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนกันตามใจชอบเท่าที่จะสะใจคนด่า ซึ่งใครที่สนใจจะลองหา บทละครเรื่องนางมโนห์รา ครั้งกรุงเก่ามาดูก็ได้ โดยเฉพาะตอนที่นางมโนห์รากับแม่แดกดันและด่าทอกันอุตลุด
มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในบทละครนอกหรือบทเสภาก็มีคำด่าปรากฏอยู่ไม่น้อย หนักบ้างเบาบ้างตามแต่สถานการณ์ เช่น
ใน ขุนช้างขุนแผน นางวันทองด่านางลาวทอง ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ในทำนองเหยียดหยามชาติกำเนิดว่า “ทุดอีลาวชาวดอนค่อนเจรจา อีกินกิ้งก่ากินกบจะตบมัน”
หรือในพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ว่า “อีเอยอีคนคด ช่างประชดประชันน่าหมั่นไส้” นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น
พจนานุกรม อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีบรรจุคำด่าสมัยนั้นไว้ไม่น้อย ในหมวด “ไอ้” “อ้าย” และ “อี”
คำจิกหัวเรียกว่า “อี” นั้น มีคำอธิบายว่า “เปนคำหยาบสำหรับเรียกชื่อหญิงคนยาก, ที่เปนหญิงทาษีนั้น”
ส่วน “ไอ้” หรือ “อ้าย” อธิบายว่า “…เดี๋ยวนี้เขาเรียกชื่อผู้ชายเปนทาษเปนต้น” ความหมายที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้ไว้ก็คือ ที่จริงแล้วคำว่า “ไอ้” (หรือ “อ้าย”) หรือ “อี” นั้นในสมัยก่อนยังใช้เป็นคำเรียกคนที่ต้องโทษด้วย
ตัวอย่างคำด่าในอักขราภิธานศรับท์ที่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับในพระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน เช่น “อีดอกทอง” “ไอ้บ้า” “ไอ้ชาติข้า” “อีขี้ข้า” “อีร้อยซ้อน” นอกนั้นล้วนเป็นคำใหม่ๆ ที่คนเรียบเรียงพจนานุกรมฉบับนี้ไปรวบรวมมาจำนวนหนึ่งจากภาษาชาวบ้านร้านถิ่น
บางคำถ้าเอามาใช้ในยุคนี้น่าจะไม่เข้าใจกันแล้ว เช่น “อีแดกแห้ง” “อีร้อยซ้อน” “อีทิ้มขึ้น” เป็นต้น แต่ก็มีอีกหลายคำที่ยังคงเป็นที่เข้าใจหรือยังใช้กัน เช่น “อีผีทะเล” “อีชาติชั่ว” “อีเปรต” “ไอ้ถ่อย” “ไอ้ระยำ” “ไอ้จังไร”
แต่ที่เป็นอมตะมาตลอดก็คือ “อีดอกทอง” ส่วน “อีห่าฟัด” (หรือ “ไอ้ห่าฟัด” รวมไปถึงคำตระกูล “ห่า” ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในอักขราภิธานศรับท์ เช่น “ห่าจิก” “ห่าราก” “ห่ากิน”) คนชนบทรุ่นเก่าๆ ยังใช้กันอยู่
คำด่า สะท้อนค่านิยมตามยุคสมัยของสังคม ไม่ว่าจะเรื่องสถานะชนชั้น เรื่องเพศ เรื่องอำนาจ ฯลฯ เอาคำด่าของสังคมหนึ่ง วัฒนธรรมหนึ่ง ไปด่าคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง คนที่ถูกด่านอกจากจะไม่เจ็บแสบแล้ว บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนด่ากำลังพูดเรื่องอะไร
อ่านเพิ่มเติม :
- หมอลำกลอนอีสาน เป็นทั้ง “กระบอกเสียง” ให้ภาครัฐ และพร้อมเป็น “เครื่องด่า” !?
- ด่าแบบจีน “เก๋าเจ้ง-บ่มิไก๊” ถึง “เฮงซวย-ฮวนนั้ง” ส่องความเป็นมาคำจีนสยามเชิงดูถูก
- “ไอ้ลูกหมา-ไอ้ห้าร้อย” เผยคำด่าภาษาจีนในบริบทไทย คนจีนฟังแล้ว “ไม่เจ็บ”
- “ห่าจก-ห่ากิ๋นตั๊บ” ส่องวัฒนธรรมคำด่าตระกูล “ห่า” จากเหนือจรดใต้ อดีตถึงปัจจุบัน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“พระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน”. ในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1. โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
อักขราภิธานศรับท์. โดย หมอปรัดเล. คัดแปลโดย อาจารย์ริย์ทัด
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2561