ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ถ้าให้นึกถึงประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทย เกือบร้อยทั้งร้อยต้องนึกถึง “หมอบรัดเลย์” ที่นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์เข้ามาในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นก็มีตัวละครลับที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก นั่นคือ “หมอสมิท” ผู้มีบทบาทสำคัญในแวดวงการพิมพ์ เพราะเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความโด่งดังของวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” จากการพิมพ์ที่ โรงพิมพ์หมอสมิท
แซมวล โจนส์ สมิท (Samuel Jones Smith) หรือ “หมอสมิท” เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2363 (ค.ศ. 1820) ที่อินเดีย พ่อเป็นชาวอังกฤษ ส่วนแม่เป็นชาวโปรตุเกส ความเป็นลูกครึ่งเช่นนี้ทำให้หมอสมิทมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองของจักรวรรดิอังกฤษ แต่ต่อมาเขาได้เป็นลูกบุตรธรรมของมิชชันนารี ทำให้เลื่อนสถานะทางสังคมและมีโอกาสที่ดีในชีวิตมากขึ้น
หมอสมิท ออกเดินทางจากอินเดียมากรุงเทพฯ ตอนอายุ 12 ปี ได้รู้จักชนชั้นนำสยามยุคนั้นจำนวนมาก จากนั้นมีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาถึง 14 ปี หนึ่งในนั้นคือวิชาการพิมพ์หนังสือ พอเรียนจบหมอสมิทที่เป็น “หมอสอนคริสต์ศาสนา” แล้ว ก็กลับมาสยามอีกครั้ง และสังกัดแบ็พติสต์ที่กรุงเทพฯ
หมอสมิทตั้งโรงพิมพ์พระคัมภีร์ขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงคุ้งน้ำบางคอแหลม เรียกกันว่า โรงพิมพ์หมอสมิท ผู้คนรู้จักจนกลายเป็นชื่อถนน คือ “ถนนหมอสมิท” (ปัจจุบันคือ ซอยมไหศวรรย์ 6 ย่านบางคอแหลม)
แม้จะเป็นโรงพิมพ์พระคัมภีร์ แต่ในบรรดาหนังสือมากมายที่พิมพ์ กลับมีหนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์เพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ พระคริษวงษตามมัดธายแลตามโยฮัน และ บุดฉาแลวิสัชนาในสาสนาแท้จริง ที่เหลือเป็นนิราศ สุภาษิต เรื่องพงศาวดาร และนิทานจักรๆ วงศ์ๆ รวมทั้งรับจ้างพิมพ์ประกาศต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่ศาสนา
ส่วนมากเรื่องที่นำมาพิมพ์จำหน่ายจะได้ต้นฉบับเรื่องราวมาจากสมุดข่อย สมุดไทย หรือใบลาน ที่ได้มาจากชาวบ้าน พระสงฆ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ หนังสือไฮไลต์ที่หมอสมิทพิมพ์มีเช่น โคบุตร, สิงหไกรภพ รวมทั้ง พระอภัยมณี
หลายเรื่องเป็นที่รู้จักในสังคมไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อ “การพิมพ์” เติบโต องค์ความรู้หรือข้อมูลต่างๆ รวมทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะที่การถ่ายทอดแบบปากต่อปาก ก็ขยับมาอยู่ในรูปแบบหนังสือและแพร่หลายกระจายตัว เช่นเดียวกับเรื่องพระอภัยมณีของ “สุนทรภู่” ที่การพิมพ์ทำให้ผู้คนวงกว้างรู้จักมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ความนิยมและความแพร่หลายในผลงานของสุนทรภู่ ส่วนหนึ่งจึงเป็นผลมาจากการพิมพ์ของหมอสมิท ส่วนหมอสมิทเองก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการพิมพ์งานชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อหนังสือนิทานคำกลอนของหมอสมิทขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โรงพิมพ์ต่างๆ จึงผุดขึ้นมาพิมพ์นิทานแข่งบ้าง
จุดเปลี่ยนอยู่ที่วันหนึ่งหมอสมิทถูกฟ้องร้อง และถูกห้ามไม่ให้พิมพ์หนังสือแนวประโลมโลก เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับการเผยแผ่ศาสนา โรงพิมพ์อื่นๆ จึงเข้ารับช่วงการพิมพ์หนังสือแนวนี้ต่อไป อย่าง โรงพิมพ์นายเทพที่ปากคลอง, โรงพิมพ์นายศรีบริเวณสะพานหัน, โรงพิมพ์พานิชศุภผล, โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ เป็นต้น
โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญนี่เอง ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างในชื่อ “โรงพิมพ์วัดเกาะ” เพราะตั้งอยู่หน้าวัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) ย่านเยาวราช เมื่อพิมพ์นิยายจักรๆ วงศ์ๆ และนิยายประโลมโลกมากเข้า หนังสือแนวนี้จึงถูกเรียกว่า “นิทานวัดเกาะ” ไปโดยปริยาย
เรียกได้ว่า นอกจากจะเป็น “ตัวละครลับ” ผลักให้วรรณคดีของสุนทรภู่โด่งดังแล้ว หมอสมิท ยังเป็นที่มาของ “นิทานวัดเกาะ” อีกด้วย แม้จะไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้อยากเป็นเลยก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุรพงษ์ จันทร์เกษมพงษ์. “หมอสมิทกับนิยายจักรๆ วงศ์ๆ และสุนทรภู่”.
ปริญญา ตรีน้อยใส. “ถนนที่ชื่อหมอสมิท”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2567