ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
ผู้เขียน | นิพัทธ์ แย้มเดช |
เผยแพร่ |
ตั้งแต่ที่ พระอภัยมณี พบ นางเงือก ก็นึกพิศวาสในรูปโฉมอันเย้ายวน กระนั้นก็ดี ความพิศวาสที่พระอภัยมณีหวังครอบครองนางเงือก หาใช่ความรักที่ก่อตัวทีละน้อยจากใจพระอภัยมณีกับนางเงือกแต่อย่างใดไม่ ทั้งคู่พบกันโดยไม่ได้คาดคิด เป็นการพบกันแบบปัจจุบันทันด่วน
หากเราพิเคราะห์สายตาของพระอภัยมณี ที่สำรวจความสาวเย้ายวนของนางเงือก จนเกิดความพอใจในส่วนลึกนั้น มีเหตุผลรองรับอยู่ในตัว เพราะตลอดเวลาที่พระอภัยมณีอยู่กินกับนางผีเสื้อสมุทร เป็นช่วงเวลาที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน และลึกลงไปในใจพระอภัยมณีก็มีแต่ความหวาดผวา ดังที่ได้แสดงอาการขวัญหนีดีฝ่อ เมื่อสินสมุทรออกไปข้างนอกถ้ำ แล้วเปิดแผ่นศิลาที่ปิดไว้ได้ ซึ่งหากนางผีเสื้อสมุทรล่วงรู้ก็ย่อมส่งผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
เพราะฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร และนางเงือก จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความแตกต่างประการแรก นางเงือกต่างจากนางผีเสื้อสมุทร ตรงที่พระอภัยมณีพึงพอใจก่อน ซึ่งความพึงพอใจนี้กระตุ้นแรงปรารถนาทางเพศฝ่ายชายได้ล้ำลึก อีกทั้งพระอภัยมณีและนางเงือกก็เผชิญความบ้าระห่ำของนางผีเสื้อสมุทรมาด้วยกัน จึงเกิดความสัมพันธ์ที่ดีงามภายในใจ เรียกได้ว่า เป็นเพื่อนยากที่ดีต่อกัน
ส่วนในกรณีนางผีเสื้อสมุทร นางเป็นฝ่ายพึงพอใจพระอภัยมณีก่อน มิใช่ฝ่ายชายชื่นชมยินดีแต่อย่างใด เหตุที่หญิงร้ายพึงพอใจฝ่ายชายผู้น่าปรารถนา ก็บ่งชี้อยู่ในตัวแล้วว่า ขัดกับหลักการแสวงหาอำนาจของบุรุษเพศที่ต้องเป็นฝ่ายเลือก มิใช่เป็นฝ่ายถูกเลือก การที่พระอภัยมณีมีชีวิตอยู่ในถ้ำที่ถูกกักขังได้นั้น ก็เพราะสินสมุทร ซึ่งเป็นความรักที่บริสุทธิ์หล่อเลี้ยง “หัวใจ” พระอภัยมณีนั่นเอง
ความแตกต่างประการที่ 2 นางผีเสื้อสมุทรมีวิสัยโหดร้าย ซึ่งสินสมุทรก็ตระหนักดีว่า แม่นั้นดุร้ายกว่าพ่อมากนัก อีกทั้งพระอภัยมณีก็มิได้วางใจว่าในยามที่นางผีเสื้อสมุทรโกรธขึ้นมา ตนเองจะจบชีวิตหรือไม่ ในเหตุการณ์ที่พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรมาได้ นับว่าเปิดเผยความดุดันของนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งโหดเหี้ยมเกินกว่าจะอยู่ร่วมกันได้ ผิดกันกับนางเงือกที่ดูน่าทะนุถนอม ไม่มีลักษณะทีท่าอันใดที่พระอภัยมณีจะหวาดกลัวได้เลย การที่พระอภัยมณีเห็นนางเงือก แล้วเกิดถูกใจขึ้นมา จึงเป็นความปรารถนาของหัวใจที่อยากลิ้มลอง “อาหารตา” อันโอชะนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระอภัยมณีจะ “หนี” จากเงื้อมมือหญิงร้าย มาสู่ “อ้อมอก” หญิงสาวพริ้งเพราเช่นนางเงือก
ในเมื่อนางเงือกไม่เหลือพ่อแม่เป็นที่พึ่งพิง นางเสมือนฝากตัวให้พระอภัยมณีได้ดูแลแทนผู้บังเกิดเกล้า ก็ยิ่งตอบสนองความต้องการใน “ส่วนลึก” ของพระอภัยมณีได้ตรงจุด ขณะเดียวกันหากพิจารณาสถานที่อยู่อาศัยของนางเงือกในอาณาบริเวณเกาะแก้วพิสดาร จะเห็นได้ว่า เป็นสถานที่บำบัดความใคร่ของพระอภัยมณีที่มีต่อนางเงือกโดยเฉพาะ
ดังจะเห็นว่า ในยามราตรีที่พระอภัยมณีกระสันสวาท “คิดถึงเงือกน้ำน้อยกลอยฤทัย” ประจวบกับช่วงเวลาอันงดงาม “กระจ่างแจ้งแสงจันทร์แจ่มเจริญ” เช่นนี้ พระอภัยมณีจึงมีความเพลิดเพลินในอารมณ์ เมื่อมาถึงถิ่นอาศัยนางเงือกก็ไม่รอรี พลางเรียกนางมัจฉาด้วยน้ำคำหวานหู และเจือด้วยน้ำเสียงแกมบังคับอย่างนุ่มนวล “นางมัจฉาวารีของพี่เอ๋ย เจ้าทรามเชยอยู่ที่นี่หรือที่ไหน พี่มาเยือนเพื่อนยากฝากอาลัย สายสุดใจจงขึ้นมาหาพี่ชาย”
นางเงือกมีรูปกายครึ่งคนครึ่งปลา ผิดแผกไปจากมนุษย์ ทว่าก็มีหัวใจภักดีต่อผู้มีพระคุณ สำเนียงหวานหูของพระอภัยมณีชโลมใจนางให้ซาบซ่าน คลายความเศร้าซึม นางว่ายน้ำมาหาพระอภัยมณี “เห็นพระองค์ทรงนั่งอยู่เงื้อมเขา จึงเคียงเข้าข้างแท่นที่แผ่นผา น้อมคำนับกลับคิดถึงบิดา ชลนาไหลหลั่งลงพรั่งพราย” พระอภัยมณีครั้นเห็นนางเงือกเศร้าโศก ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ จึงปลอบประโลมนางเงือกเท่าที่จะทำได้
ลำดับแรกนั่งแนบชิดให้ความอุ่นใจแก่นาง “พระลดองค์ลงแอบแนบถนอม” ออกคำสั่งอย่างนุ่มนวล “จงอดออมอาดูรให้สูญหาย” และเชิดชูในบุญคุณอันไม่อาจประมาณได้ “เจ้าพาพี่หนีรอดไม่วอดวาย คุณของสายสวาทล้นคณนา” พร้อมกันนั้นก็แสดงเจตจำนงที่จะตอบแทนพระคุณนาง โดยจะปกป้องให้ความปลอดภัยแก่นาง “จะปกป้องครองคู่ไม่รู้ร้าง ไม่เว้นว้างวายประโลมโฉมมัจฉา”
จะเห็นได้ว่า ข้อความนี้มีคำที่น่าสนใจ คือคำว่า “ปกป้อง” “ครองคู่” “ไม่รู้ร้าง” “ไม่เว้นว้าง” และ “ประโลม” ชุดคำเหล่านี้บ่งชัดถึงการหว่านเสน่ห์ การพลอดรัก หรือนัยหนึ่งเป็นคำฝากรัก ที่ทำให้อีกฝ่ายพึงพอใจ และในสถานการณ์นี้ก็เป็นคำหว่านล้อมที่พรั่งพรูจากปากพระอภัยมณีอยู่ฝ่ายเดียว
ยิ่งข้อความที่ตามมาว่า “ประสายากฝากรักกันสองรา แก้วกานดาดวงจิตอย่าบิดเบือน” คำว่า “รัก” เน้นย้ำอีกครั้ง ก่อนหน้าพระอภัยมณีเคยกล่าวไปแล้ว คือ แสดงความรักต่อนางเงือกในแง่ความซาบซึ้งถึงบุญคุณ แต่รักในบริบทนี้คือความปรารถนาที่จะครอบครอง “ดวงแก้ว” อันมีค่าประหนึ่ง “ดวงจิต” ซึ่งไม่ควรจะ “บิดเบือน” แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ฝ่ายนางเงือกก็สนองตอบความปรารถนาของพระอภัยมณีในทันที “ซึ่งทรงฤทธิ์คิดปองจะครองคู่ แสนอดสูสารพัดจะบัดสี วิสัยสัตว์มัจฉาอยู่วารี จะยินดีด้วยมนุษย์นั้นสุดกลัว” นางเงือกห้ามปราม พระอภัยมณีที่มุ่งหมายในตัวนาง คำพูดอันอ่อนโยนของนางกลั่นความน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยตระหนักดีว่า “เพราะต่างชาติวาสนาน้องน้อยนัก อย่าริรักอนุกูลเลยทูนหัว”
เราจะสังเกตได้ว่าคำว่า “รัก” จากปากนางเงือก ไม่ใช่รักที่พระอภัยมณีมุ่งสื่อสาร รักในแง่นี้ดูยิ่งใหญ่กว่ารักลวงๆ ที่พระอภัยมณีพร่ำหยอด
ตามความเข้าใจของนางเงือก “รัก” คือการอยู่ร่วมกันเช่นคู่ผัวตัวเมีย ประคองคู่กันไปอย่างยั่งยืน ซึ่งตามความจริงแล้วนางไม่อาจดำรงสถานะเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ นางจึงกล่าวว่า “จะพลอยพาฝ่าละอองให้หมองมัว ขอฝากตัวตามประสาเป็นข้าไท” นั่นก็คือขออยู่เป็นข้ารับใช้เสียดีกว่า
กระบวนการสื่อสารระหว่างนางเงือกกับพระอภัยมณีนั้นต่างกัน การมุ่งสื่อสารของพระอภัยมณีเน้นความยืดหยุ่น ลื่นไหล และยอกย้อนสวนทางกับเจตนารมณ์ที่นางเงือกแสดงตอบ ทั้งนี้ เพราะพระอภัยมณีมุ่งเผด็จศึกพรากพรหมจรรย์นางเงือกให้ลุล่วง โดยไม่ได้คิดถึงสิ่งใด ดังที่กล่าวตอบว่า “น่าสงสารวานอย่าว่าเป็นข้าไท มิใช่ใจพี่นี้หมายเป็นนายน้อง ถึงต่างชาติวาสนาได้มาพบ ก็ควรคบเคียงชมประสมสอง”
เพียงหวังจะครอบครอง พระอภัยมณีได้อ้างความรู้สึกทางใจมากกว่าเหตุผลอื่นใด และความรู้สึกที่ว่านี้ ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นอีกว่าถึงแม้จะวิปริตในทางประเวณี แต่ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับสรรพสัตว์ที่มีใจตรงกัน
พระอภัยมณียกเหตุผลให้นางเงือกประจักษ์ว่า การหนีนางมารมาด้วยกันก็เพราะบุญกุศลนำพา ความสุขที่จะเคียงคู่ทุกคืนวัน จึงเป็นเรื่องที่นางควรจะแสดงไมตรีตอบมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระอภัยมณีก็รุกคืบสัมผัสเรือนร่างอันเย้ายวนของนางเงือกทันที เริ่มจาก “อิงแอบแนบน้อง” มือนั้นพลาง “ประคองเคล้า” ลูบไล้ถูก “เต้าเต่งอุรามารศรี” แล้วเชยแก้มพลางกล่าวฉะอ้อนพลอดรัก ท่ามกลางบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ใจ “ร่วมฤดีเดือนหงายสบายใจ”
จากนั้นจึงบังเกิดบทอัศจรรย์ที่โหมกระหน่ำรุกเร้า ราวกับธรรมชาติรอบข้างจะพังทลายแตกเป็นเสี่ยงๆ ดังนี้
อัศจรรย์ครั่นครื้นเป็นคลื่นคลั่ง
เพียงจะพังแผ่นผาสุธาไหว
กระฉอกฉาดหาดเหวเป็นเปลวไฟ
พายุใหญ่เขยื้อนโยกกระโชกพัด
เมขลาล่อแก้วแววสว่าง
อสูรขว้างเขวี้ยงขวานประหารหัต
พอฟ้าวาบปลาบแปลบแฉลบลัด
เฉวียนฉวัดวงรอบขอบพระเมรุ
พลาหกเทวบุตรก็ผุดพุ่ง
เป็นฝนฟุ้งฟ้าแดงดังแสงเสน
สีขรินทร์อิสินธรก็อ่อนเอน
ยอดระเนนแนบน้ำแทบทำลาย
กล่าวได้ว่าการ “ร่วมฤดี” ดังคำกลอนข้างต้น สมใจปรารถนาพระอภัยมณี เป็นการบำบัดความกระหายในกามเสมือนสัมผัสความเยือกเย็นของสายน้ำ ความอัดอั้นในทางประเวณีที่พระอภัยมณีไม่เคยสัมผัสประสบการณ์สุขสดชื่นเย็นฉ่ำมายาวนานนี้เอง บัดนี้พระอภัยมณี “สัมผัสพิงอิงแอบเป็นแยบคาย” กับนางเงือกผู้เลอโฉม ก็นับว่าคุ้มค่ากับการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหนีนางผีเสื้อสมุทร เพื่อเดินทาง “สัมผัส” โลกใหม่ และก็เป็นโลกใหม่ที่หอมหวนรัญจวนใจพระอภัยมณีกับนางเงือกอย่างล้ำลึก
น่าคิดว่าความรักเพียง (หวัง) ครอบครอง (ได้) ง่ายรวดเร็วทันใจ ฉาบฉวยหรือยั่งยืนกันแน่ แม้ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่พระอภัยมณีอยู่ใกล้ชิดนางเงือกผ่านไปร่วม 7 เดือน ราวกับบ่มเพาะความสัมพันธ์อันลึกซึ้งหวานชื่น
แต่ตัวบทพระอภัยมณีต่อจากนี้ไป เผยความจริงอันชวนหดหู่ เมื่อโลกใหม่และประสบการณ์ใหม่หมุนเวียนเข้ามา พระอภัยมณีได้เจอคณะของท้าวสิลราช เจ้าครองเมืองผลึก ที่เดินทางมายังเกาะแก้วพิสดาร พร้อมด้วย นางสุวรรณมาลี ผู้ซึ่งพระอภัยมณี “ชำเลืองดูพระธิดาพะงางาม” และความประสงค์ที่จะหลุดออกไปจากเกาะแก้วพิสดารก็เกิดขึ้นในใจของพระอภัยมณีครานี้เอง…
อ่านเพิ่มเติม :
- “นางเงือก” จากเรื่อง “พระอภัยมณี” มีขาหรือไม่?
- “มามิ วาตา” นางเงือกแห่งแอฟริกา ให้โชคลาภด้วยเซ็กส์
- เกาะแก้วพิสดาร ไม่ใช่เกาะเสม็ดอย่างที่คิด แต่เป็นเกาะในทะเลอันดามัน!!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เปิดเผยความลับ พระอภัยมณีไม่ได้รักนางเงือก” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ14 กันยายน 2562