“นางเงือก” จากเรื่อง “พระอภัยมณี” มีขาหรือไม่?

พระอภัยมณี กับ นางเงือก
“พระอภัยมณีกับนางเงือก” พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

“นางเงือก” จากวรรณกรรมเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ มักมีภาพจำทั้งจากงานจิตรกรรม หรือแม้กระทั่งรูปปั้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในลักษณะครึ่งคนครึ่งปลา ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา คือตั้งแต่เอวลงมามีหางอย่างปลา ไม่มีขา แต่ความจริงนั้น นางเงือก มีขาอย่างคน และก็มีหางอย่างปลาด้วย

ในตอนที่นางผีเสื้อสมุทรตามพระอภัยมณีที่เงือกสามพ่อแม่ลูกพาหนีไปนั้น นางผีเสื้อสมุทรตามไปจวนทันและจับเงือกสองตายายได้ แต่ทั้งคู่ก็หลอกลวงนางผีเสื้อสมุทรให้ห่างจากพระอภัยมณีออกไปทุกขณะ ดังว่า

Advertisement

“อสุรีผีเสื้อก็เชื่อถือ   ยุดเอามือขวาซ้ายให้ผายผัน

เงือกก็พามาถึงได้ครึ่งวัน   แกล้งรำพันพูดล่อให้ต่อไป

นางผีเสื้อเบื่อหูรู้เท่าถึง   จึงว่าตอแหลมาแก้ไข

มาถึงนี่ชี้โน่นเนื่องกันไป   แกล้งจะให้ห่างผัวไม่กลัวกู

แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน   ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่”

รูปปั้นนางเงือก ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

สุนทรภู่กล่าวไว้ชัดเจนว่าเงือกสองตายายถูกนางผีเสื้อสมุทร “หักขา” ดังนั้น นางเงือก ผู้เป็นลูก ก็ต้องมีขาด้วยแน่ อย่างไรก็ตาม ในตอนที่นางเงือกพาพระอภัยมณีไปถึงหาดทรายเกาะแก้วพิสดาร ตรงนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า นางเงือกไม่มีขา จนต้องช่วยเหลือฉุดกระชากให้ขึ้นจากน้ำ ดังว่า

“พระอภัยภูมินทร์กับสินสมุทร   ช่วยกันฉุดนางเงือกเสือกเข้าฝั่ง”

ถึงตรงนี้ยังชี้ได้ไม่ชัดว่า นางเงือกมีขาจริงหรือไม่ แต่ที่ชัด คือ นางเงือกมีหางอย่างปลาแน่นอน โดยในตอนท้ายของเรื่อง นางเงือกถือศีลเคร่งครัด จนร้อนถึงพระอินทร์ลงมาช่วยตัด “หาง” ให้เป็นคน ดังว่า

“มัฆวานทรงขยับจับพระขรรค์   เข้าฟาดฟันบั่นหางนางมัจฉา

ขาดเป็นสินดิ้นสลบซบพักตรา   อยู่บนแท่นแผ่นผาคูหาบรรพ์

พระนักสิทธ์คิดสงสารหลานสลบ   เธอปรารภกลัวชีวาจะอาสัญ

แกลุกขึ้นชุลมุนดูวุ่นครัน   พระนักธรรม์ทูลไทไปทันที

ช่วยสงเคราะห์ให้มันฟื้นคืนสลบ   พระจอมภพรับคำพระฤๅษี

ลุกจากแท่นแผ่นผาด้วยปรานี   เอาวารีทิพรสชโลมพรม

นางมัจฉาหางปลาก็หายสูญ   บริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม

ทั้งวงพักตร์ลักขณาก็น่าชม   ดูขำคมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์”

“พระอภัยมณีกับนางเงือก” พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ฉะนั้น หากพระอินทร์ตัดหางนางเงือก (ที่ไม่มีขา) ออกไปสิ้น นางเงือกก็จะเหลือแค่ท่อนบนที่เป็นคน คงไม่อาจ บริบูรณ์เป็นมนุษย์สุดสวยสม” หมายถึงมีอวัยวะครบดังกล่าวได้ ถึงตรงนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า นางเงือกไม่ได้มีท่อนล่างเป็นปลาอย่างเดียว (คือตั้งแต่เอวลงมามีหางอย่างปลา ไม่มีขา) แต่นางเงือกนั้นมีขาอย่างคน และมีหางอย่างปลาด้วย ซึ่งหางอาจจะอยู่บริเวณสะโพกด้านหลังหรือบริเวณก้นก็เป็นได้

แต่เพราะนางเงือกดำเนินชีวิตอยู่ในน้ำ ใช้หางว่ายน้ำ ไม่ใคร่ได้ใช้ขา จึงไม่ถนัดการเดินอย่างคน อาจทำให้ขาอ่อนแรง จึงไม่แปลกที่ตอนนั้นพระอภัยมณีและสินสมุทรต้อง “ช่วยกันฉุดนางเงือกเสือกเข้าฝั่ง” ครั้นภายหลังที่ตัดหางไปแล้ว นางเงือกก็ยังเดินไม่ถนัด แต่ก็เดินได้ด้วยขาทั้งสองข้างของนางแล้ว ดังตอนที่สุดสาครมารับนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร ดังว่า

“อีสีกาออกมาจากห้องหับ   ลูกมารับแล้วหวาแกปราศรัย

นางแว่วเสียงพระมุนีพลางดีใจ   ลุกคลาไคลออกมาหน้าคีรี”

และ

“แล้วลุกจากเชิงผาศิลาลาด   พระหน่อนาถเชิญสุพรรณมัจฉา

ให้บทจรเลียบชะง่อนศิลามา   ตามสิทธามาหยุดยังกุฎี”

บทจร แปลว่า “ไปด้วยเท้า” แสดงว่า นางเงือกต้องมีขาอยู่ก่อนแล้วอย่างแน่นอน

และนี่คงเป็นอีกหนึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยที่ว่า พระอภัยมณี ได้เสียกับ นางเงือก จนมีลูกด้วยกันได้อย่างไร เพราะนางเงือกมีขาเช่นนี้จึงมีฉากอัน “อัศจรรย์ครั่นครื้นเป็นคลื่นคลั่ง เพียงจะพังแผ่นผาสุธาไหว” “กระฉอกฉาดหาดเหวเป็นเปลวไฟ พายุใหญ่เขยื้อนโยกกระโชกพัด”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทองใบ แท่นมณี. (มิถุนายน, 2539). “นางเงือกของพระอภัยมณีมีขาด้วย”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 : ฉบับที่ 8.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2564