โยอาคิม รอนแนแบร์ก วีรบุรุษนอร์เวย์ ผู้ดับฝันโครงการนิวเคลียร์นาซี

โยอาคิม รอนแนแบร์ก พลทหาร ชาวนอร์เวย์
โยอาคิม รอนแนแบร์ก (ขวา) และเพื่อนพลทหารชาวนอร์เวย์ (ภาพโดย Tone Drabløs ใน lokalhistoriewiki สิทธิการใช้งาน CC-BY-SA-3.0)

ไม่มีใครคาดคิดว่า โยอาคิม รอนแนแบร์ก อดีตพนักงานหนุ่มของบริษัทส่งออกปลากระป๋องของนอร์เวย์ จะสามารถทำภารกิจครั้งยิ่งใหญ่ในการขัดขวางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ 

หลังจากกองทัพอังกฤษถอนกำลังทหารของตนเองข้ามช่องแคบกลับประเทศไปจนหมดสิ้นแล้ว ยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมดก็อยู่ภายใต้อุ้งมือของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำ “กองทัพเยอรมัน” อย่างสมบูรณ์
กองทัพเยอรมันกระจายกำลังยึดครองประเทศต่าง ๆ ชีวิตของพลเมืองสิบกว่าประเทศต้องทำตามคำสั่งของผู้ชนะ แต่ก็ใช่ว่าการยึดครองประเทศต่าง ๆ ของกองทัพนาซีจะไร้ซึ่งการต่อต้าน

ผู้รักชาติจากประเทศที่โดนกองทัพเยอรมันยึดครองทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ ร่วมมือกันเพื่อขัดขวาง บั่นทอน การทำสงครามขยายอำนาจของฮิตเลอร์ และฐานปฏิบัติการที่คอยสนับสนุนพวกเขาคือ “ประเทศอังกฤษ” ศัตรูตัวฉกาจของเยอรมันที่ยังดำรงตนอยู่อย่างท้าทาย มันคือหนามที่คอยยอกอกพวกนาซีมาตลอดช่วงสงคราม และที่นี่เองคือศูนย์รวมนักสู้ที่เฝ้ารอเวลากลับไปปลดปล่อยประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา

“คอมมานโด” (Commando) คือชื่อเรียกของเหล่านักรบนอกแบบเหล่านี้ จากความต้องการของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น วินสตัน เชอร์ชิล ที่กล่าวว่า “เราต้องเตรียมแผนการเอาไว้ในการฝึกกองกำลังพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ซึ่งสามารถสร้างความปั่นป่วนแก่พวกเยอรมันได้ตลอดแนวชายฝั่ง โดยใช้กลยุทธ์ตีหัวเข้าบ้าน”

บุคลากรทั้งหมดของหน่วยคอมมานโดเป็นอาสาสมัคร ส่วนใหญ่มาจากทุกเหล่าทัพของกองทัพอังกฤษ หรือเครือจักรภพอังกฤษ รวมทั้งพลเมืองจากประเทศที่ถูกยึดครอง อาสาสมัครคอมมานโดถูกจัดกำลังมากกว่า 30 หน่วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดกำลังระดับ “กองพลน้อยจู่โจม” (Assault Brigades) จำนวน 4 กองพลน้อยอีกด้วย

หนึ่งในจำนวนหน่วยคอมมานโดของฝ่ายพันธมิตร และเป็นหน่วยคอมมานโดที่เรียกได้ว่า “เป็นกองกำลังนานาชาติ” นั่นก็คือ หน่วยคอมมานโดที่ 10 หรือ No. 10 (Inter-Allied) Commando กำลังพลอาสาสมัครของหน่วยเป็นพลเมืองจากประเทศที่ถูกเยอรมันยึดครอง ได้แก่ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก นอร์เวย์ ยูโกสลาเวีย กรีซ และโปแลนด์ โดยจัดกองร้อย (Troops) ในหน่วยคอมมานโดที่ 10 นี้จำนวน 8 กองร้อย

พวกเขาต้องเข้าค่ายฝึกอย่างหนักเป็นเวลา 6 สัปดาห์ที่อาร์แนคแครี่ (Achnacarry) โดยช่วงการฝึกพวกเขาจะเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการฝึกในพื้นที่สูงของสกอตแลนด์ มุ่งเน้นที่การออกกำลังกาย การเดินทางไกล การฝึกอาวุธ การอ่านแผนที่เข็มทิศ การปีนเขา การดำเนินกลยุทธ์โดยเรือขนาดเล็ก และการถอนกำลังทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 หน่วยคอมมานโดย้ายไปที่เมืองอีสต์บอร์น (Eastbourne) บนชายฝั่งซัสเซ็กส์ (Sussex) พวกเขาได้รับการฝึกเฉพาะทางสำหรับการกระโดดร่มโดยไม่ใช่หน่วยทหารพลร่ม ที่โรงเรียนฝึกทหารพลร่มหมายเลข 1 ริงเวย์ (Ringway) ใกล้กับเมืองแมนเชสเตอร์ ในจำนวนนี้กว่า 80% ของอาสาสมัครโปแลนด์เคยผ่านการฝึกกระโดดร่มมาแล้ว อีกหนึ่งหลักสูตรการฝึกนี้ก็คือการปีนเขาและหลักสูตรบุคคลทำการรบในภูมิประเทศแถบอาร์กติก และเมื่อเหล่าคอมมานโดพร้อมรบ พวกเขาก็จะถูกส่งไปปฏิบัติการในสมรภูมิสำคัญต่างๆ

หน่วยข่าวกรองของกองทัพพันธมิตร ติดตามความคืบหน้าในโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธของเยอรมันในนอร์เวย์ แหล่งข่าวที่รวบรวมมาทั้งจากสายลับและกองกำลังใต้ดินนอร์เวย์ยืนยันตรงกันว่า ขณะนี้การพัฒนาสมรรถภาพอาวุธของเยอรมันกำลังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป กองทัพเยอรมัน จะสามารถผลิตอาวุธทำลายล้างสูงขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

นี่เป็นข่าวที่ไม่ดีเลยสำหรับฝ่ายพันธมิตร พวกนาซีกำลังจะมีอาวุธทำลายล้างสูงเข้ามาอยู่ในคลังอาวุธของตน และหากมันถูกนำมาใช้ในการรบ กองทัพนาซีเยอรมันอาจจะสามารถพิชิตโลกทั้งใบให้มาอยู่ใต้การปกครองของนาซีเยอรมันก็เป็นได้ ดังนั้น กองทัพพันธมิตรจะยืนอยู่เฉยๆ โดยปล่อยให้ฮิตเลอร์ผลิตอาวุธชนิดนี้ขึ้นมาไม่ได้เด็ดขาด

แผนปฏิบัติการเพื่อเข้าไปก่อวินาศกรรมสถานที่วิจัยอาวุธของเยอรมันในนอร์เวย์จึงถูกร่างขึ้นมา ปฏิบัติการเหล่านี้จะกลายเป็นตำนานของแผนการจู่โจมข้ามทะเลจากอังกฤษมุ่งตรงสู่นอร์เวย์

กองทัพพันธมิตรเปิดฉากยุทธการแรกด้วยการจู่โจมโรงงานที่เวมอร์ก (Vemork) ยุทธการครั้งนี้มีชื่อว่า “ยุทธการเฟรชแมน” (Operation Freshman) แผนการจะจู่โจมเริ่มขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 มันเป็นปฏิบัติการของกองกำลังส่งลงทางอากาศขนาดเล็ก ที่ประกอบไปด้วยทหารช่างจากกรมทหารช่างหลวง และทหารพลร่มจากกองพลส่งทางอากาศที่ 1 พวกเขาทั้งหมดจะร่อนลงเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการโดยใช้เครื่องร่อน และบุกเข้าไปจู่โจมในโรงไฟฟ้า ทำลายสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิต วิจัย และการพัฒนาอาวุธด้วยระเบิด จากนั้นพวกเขาจะหลบหนีข้ามพรมแดนนอร์เวย์ไปยังสวีเดน

หลังจากซักซ้อมแผนปฏิบัติการกันแล้ว ค่ำคืนอันหนาวเหน็บของวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 กองกำลังจู่โจมใช้เครื่องร่อนจำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นกำลังผสม มีเครื่องบินทิ้งระเบิดชักลากเครื่องร่อน 2 ลำบินตรงสู่ชายฝั่งนอร์เวย์สำเร็จ ทว่าปฏิบัติการนี้กลับต้องลงเอยด้วยความล้มเหลว หลังจากเครื่องร่อนปลดตะขอเกี่ยวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดและพยายามจะร่อนลงพื้น กลับต้องเผชิญกับอากาศที่เลวร้ายอย่างมาก

เครื่องร่อนลำแรกร่อนลงกระแทกพื้นเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้มีกำลังพลจำนวน 3 นาย เสียชีวิตในการลงจอด เครื่องร่อนลำต่อมาประสบปัญหาเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะมันบินไปชนเข้ากับภูเขา ลูกเรือและทหารที่โดยสารมาในเครื่องร่อนลำนี้เสียชีวิตเกือบหมด มีผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่ง แต่ทหารเยอรมันในพื้นที่จับกุมพวกเขาเอาไว้ได้ แม้จะรอดตายจากเครื่องร่อนบินชนภูเขา แต่กำลังพลบนเครื่องร่อนลำนี้ก็อายุไม่ยืนยาวอีกต่อไป อันมาจากคำสั่งของฮิตเลอร์เรื่องการจัดการกับคอมมานโดข้าศึก พวกเขาทั้งหมดโดนทรมานและสอบปากคำเพื่อรีดข้อมูล หลังจากนั้นทุกคนถูกประหารชีวิต

ยุทธการเฟรชแมนลงเอยด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับ เครื่องร่อนจำนวน 2 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ลากจูงเครื่องร่อนมาถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ รวมแล้วมีทหารเสียชีวิตในยุทธการครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 41 นาย

นี่คือราคาที่กองทัพพันธมิตรต้องจ่าย เพื่อหยุดแผนการพัฒนานิวเคลียร์ของฮิตเลอร์ และมันก็คือสิ่งที่ฝ่ายพันธมิตรจะต้องจ่ายมันอยู่เรื่อย ๆ ต่อทุกความล้มเหลว และความสำเร็จที่มีขึ้นในแต่ละยุทธการที่พวกเขาลงมือปฏิบัติ สิ่งที่ตามมาภายหลังความล้มเหลวของยุทธการเฟรชแมนก็คือ การกระตุ้นให้กองทัพเยอรมันเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อโรงไฟฟ้าและพื้นที่โดยรอบ และนี่ยังทำให้เยอรมันทราบแล้วว่าพวกพันธมิตรล่วงรู้ถึงแผนการที่เยอรมันกำลังทำอยู่ ณ ที่นี่

แม้จะล้มเหลวในครั้งแรก แต่กองทัพพันธมิตรก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ แผนยุทธการอีกแผนถูกวางแผนและร่างขึ้นใหม่อีกครั้งในชื่อว่า “ยุทธการกันเนอร์ไซด์” (Operation Gunnerside) ยุทธการครั้งนี้มีอดีตพนักงานหนุ่มจากบริษัทส่งออกปลากระป๋องของนอร์เวย์นำการจู่โจมด้วยตนเอง ชื่อของเขาคือ โยอาคิม รอนแนแบร์ก (Joachim Ronneberg)

หลังจากประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเขาถูกกองทัพเยอรมันยึดครอง รอนแนแบร์กและผองเพื่อนผู้รักชาตินำเรือหาปลาลำเล็กล่องเรือออกจากนอร์เวย์มุ่งหน้าไปยังอังกฤษ ด้วยความแค้นที่ประเทศชาติถูกข้าศึกย่ำยี ชาวนอร์เวย์ผู้รักชาติคนอื่น ๆ ต่างหลบหนีมารวมพลที่นี่ เพื่อหวังจะกลับไปปลดแอกประเทศตนเอง

โยอาคิม รอนแนแบร์ก ผ่านการฝึกหลักสูตรคอมมานโดทุกอย่าง ทั้งการก่อวินาศกรรม การวางระเบิดวาง การใช้อาวุธ และการฆ่าคนด้วยมือเปล่า ก่อนที่จะทำหน้าที่เป็นครูฝึกให้แก่อาสาสมัครคอมมานโด เขาได้รับการบรรจุอยู่ในกองร้อยนอร์วีเจี้ยนอิสระที่ 1 (Norwegian Independent Company 1) รู้จักกันในชื่อ “คอมพานี ลิงเงอะ” (Kompani Linge) ตัวของรอนแนแบร์กรับรู้เกี่ยวกับความผิดพลาดของยุทธการเฟรชแมนที่ผ่านมา แต่เขาก็ไม่หวาดหวั่นที่จะขออาสาสมัครเข้าร่วมในอีกหนึ่งยุทธการของความพยายามเพื่อหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพวกนาซี

คืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ยุทธการกันเนอร์ไซด์จึงเริ่มขึ้น

ฝ่ายพันธมิตรใช้กำลังทหารจำนวนน้อยกว่ายุทธการเฟรชแมนลงอย่างมาก คอมมานโดชาวนอร์เวย์ทั้งหมด 6 นาย กระโดดร่มลงมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบฮาลิแฟกซ์ มีรอนแนแบร์กเป็นหัวหน้าทีม เมื่อลงถึงพื้น พวกเขาต้องเผชิญกับความมืดสนิทของภูมิประเทศแถบนั้นของนอร์เวย์ แม้จะทบทวนแผนการต่าง ๆ มาแล้วอย่างดี แต่พอเข้าสู่สถานการณ์จริง ทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่วางเอาไว้ คอมมานโดนอร์เวย์ทั้ง 6 นาย กระโดดร่มลงห่างจากจุดส่งลงไปหลายไมล์ พวกเขาจำต้องเคลื่อนที่ฝ่าหิมะและภูมิประเทศอันยากลำบาก เพื่อไปยังจุดส่งลง ซึ่งบริเวณนั้นหน่วยใต้ดินนอร์เวย์รอคอยการมาถึงของพวกเขาอยู่

รอนแนแบร์กและลูกทีมต้องเดินลุยหิมะ และบางช่วงก็เคลื่อนที่ลงเนินเขาด้วยสกี ระหว่างการเดินทางมีพายุหิมะที่กระหน่ำพัดอย่างรุนแรง ทุกคนในทีมต้องหาที่หลบเป็นการด่วน แม้จะโชคร้ายที่กระโดดร่มลงผิดจุด แต่พวกเขายังโชคดีที่สามารถหาที่หลบพายุหิมะได้ พวกเขาทั้งหมดพบกับกระท่อมร้างหลังหนึ่ง มันจึงเป็นที่หลบและที่พักให้แก่คอมมานโดเหล่านี้

เมื่อพายุหิมะผ่านพ้นไป คอมมานโดทั้งหมดเร่งรีบเดินทางต่อ เส้นทางที่แสนลำบากและสภาพอากาศอันหนาวเหน็บพิสูจน์ความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจ มันไม่ใช่เพียงแค่ความอดทนเท่านั้นที่พวกเขาจะต้องมี แต่การฝึกฝนอย่างหนัก ผนวกกับจิตใจของความรักชาติอย่างสุดซึ้ง คือเชื้อไฟของเพลิงแห่งความมุ่งมั่นที่จะบรรลุภารกิจสำคัญครั้งนี้ให้ได้

หลายชั่วโมงของการเดินทางผ่านพ้นไป ในที่สุดทั้งหมดก็มาสู่ “ฮาร์ดางเออวิดดา” (Hardangervidda) พื้นที่ราบสูงที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้า รอนแนแบร์กกับลูกทีมมาพบกับหน่วยใต้ดินนอร์เวย์ที่นี่ แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถบุกจู่โจมเข้าไปได้ทันที รอนแนแบร์กต้องการศึกษาและสังเกตการณ์ข้าศึกในพื้นที่โดยรอบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ฉลาดอย่างมาก เพราะช่วยให้เขาเข้าใจสภาพการณ์ต่าง ๆ และช่วยให้ตัดสินใจวางแผนการปฏิบัติขั้นต่อไปได้

โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ เมืองเวมอร์ก ประเทศนอร์เวย์
โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่เมืองเวมอร์ก ประเทศนอร์เวย์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

รอนแนแบร์กและทุกคนร่วมกันซุ่มสังเกตการณ์ข้าศึกทั้งกลางวันกลางคืน ในที่สุดก็พบจุดเหมาะสมที่จะบุกเข้าไป และกำหนดวันบุกจู่โจม ผลลัพธ์ของการศึกษาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวก่อนลงมือ ทำให้รอนแนแบร์กเลือกเส้นทางการจู่โจมครั้งนี้จากทางด้านหลังของโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นภูเขาสูงชัน และข้าศึกก็คิดว่าไม่น่าจะมีใครบุกมาทางภูเขาสูงชันตั้งตระหง่านเช่นนี้ได้ ผู้บุกรุกจำต้องหาทางขึ้นไปและจะต้องปีนลงมาจากเขาสูงที่อันตรายเช่นนี้ แต่รอนแนแบร์กและลูกทีมรวมทั้งหน่วยใต้ดินนอร์เวย์ ต่างก็ตกลงปลงใจกับแผนการที่จะใช้เส้นทางนี้บุกเข้าสู่โรงไฟฟ้า

คอมมานโดและหน่วยใต้ดินขึ้นเขาที่อีกฟากหนึ่งอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความมืดมิดของคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ระหว่างทางพวกเขาต้องระมัดระวังการก้าวเดินข้ามแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง เพราะมันอาจจะแตกออกด้วยน้ำหนัก และทำให้หล่นลงสู่แม่น้ำเบื้องล่างที่มีอุณหภูมิติดลบ นอกจากนี้ ชุดลาดตระเวนของ “กองทัพเยอรมัน” ยังเดินลาดตระเวนในอาณาบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน รอนแนแบร์กและลูกทีมทั้งหมดต้องหลบซ่อนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ก่อนที่จะเข้าไปภายในโรงไฟฟ้า

ส่วนที่ยากและอันตรายอย่างมากคือการไต่เขาลงมาสู่โรงไฟฟ้าเบื้องล่าง ชีวิตของพวกเขาแขวนอยู่บนเชือกและพละกำลังที่มีเหลืออยู่ในร่างกาย แม้ตอนนี้ร่างกายของพวกเขากำลังจะถูกใช้ให้เกินขีดความอดทนที่มีอยู่ แต่ก็มีความเชื่ออยู่เต็มเปี่ยมภายในใจว่าจะต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ และหวังว่าโชคจะเข้าข้างให้ภารกิจลุล่วงและสำเร็จได้ด้วยดี

ราวกับว่าวันนั้นพระเจ้าอยู่ข้างคอมมานโดของรอนแนแบร์ก การปีนเขาลงสู่โรงไฟฟ้าเบื้องล่างสำเร็จลงได้โดยที่พวกเยอรมันก็ยังไม่รู้ว่ามีผู้บุกรุกเข้ามา คอมมานโดแทรกซึมเข้าสู่ภายในโรงไฟฟ้าทันที และด้วยข้อมูลจากสายลับที่ทำงานอยู่ภายในโรงไฟฟ้า ทำให้คอมมานโดของรอนแนแบร์กเล็ดลอดไปยังที่หมายได้สำเร็จ

มันคือห้องเก็บน้ำมวลหนักภายในโรงไฟฟ้า

ตอนนี้รอนแนแบร์กและลูกทีมเริ่มลงมือวางระเบิดเวลาเข้ากับถังสเตนเลสจำนวน 18 ถัง ซึ่งมีความสูง 50 นิ้ว และเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ในบริเวณห้องนี้ไม่มียาม มีเพียงเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเท่านั้น พวกเขาถูกสั่งให้หมอบลงกับพื้นและห้ามส่งเสียงร้อง คอมมานโดตั้งเวลาระเบิดเอาไว้ที่ 30 วินาที

มันเสี่ยงอย่างมากที่ตั้งเวลาให้กระชั้นชิดเช่นนี้ แต่รอนแนแบร์กมีแผนการที่เรียกว่า “กล้าและบ้าบิ่น” โดยหวังจะให้การระเบิดนี้เป็นตัวสร้างความปั่นป่วนแก่พวกเยอรมัน และทำให้พวกมันมัวแต่สาละวนวิ่งหลบระเบิด ขณะที่เขาและคอมมานโดจะวิ่งฝ่าออกไป เมื่อนาฬิกาในระเบิดเริ่มเดิน ทีมคอมมานโดทุกคนสวมวิญญาณนักวิ่งแทบจะในทันที พวกเขาวิ่งหน้าตั้งย้อนทางเดิมออกมา ผ่านยามทหารเยอรมันที่เอาแต่ตกตะลึง พร้อมกับไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า พวกเขากำลังเห็นผู้บุกรุกในเครื่องแบบทหารข้าศึกกำลังวิ่งออกมาจากภายในอาคารโรงไฟฟ้า

ยังไม่ทันที่จะหยิบปืนขึ้นเล็งหรือกดสัญญาณเตือนภัย ระเบิดลูกแรกก็ระเบิดทันที เสียงระเบิดดังสนั่นแปรเปลี่ยนให้ค่ำคืนอันเงียบสงบกลายเป็นนรก รอนแนแบร์กและคอมมานโดใช้อาวุธประจำการยิงเปิดทางหลบหนีของพวกเขา การระเบิดของระเบิดลูกอื่น ๆ ทำให้ทหารเยอรมันพากันตกใจ และรีบวิ่งหลบเข้าที่กำบังกันจ้าละหวั่น มันจึงทำให้เส้นทางหลบหนีของคอมมานโดแทบจะไร้ซึ่งการสกัดกั้น

แม้รอนแนแบร์กและคอมมานโดรวมทั้งหน่วยใต้ดินจะวางระเบิดทำลายและหลบหนีออกมาจากโรงไฟฟ้าได้สำเร็จ แต่ภารกิจของการเอาตัวรอดเพิ่งเริ่มขึ้น ความสับสนและตื่นตระหนกอาจจะเกิดขึ้นกับพวกเยอรมันในตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปตลอด ทหารเยอรมันกว่า 2,000 นาย ถูกระดมกำลังมาเพื่อตามล่าพวกเขาหลังการระเบิดไม่กี่ชั่วโมง

คอมมานโดและหน่วยใต้ดินทั้งหมดมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่ชายแดนสวีเดนทันที พวกเขาต้องเดินทางเกือบ 200 ไมล์ท่ามกลางหิมะ ข้ามลำน้ำที่เป็นน้ำเย็นยะเยือกและที่เป็นน้ำแข็ง ทั้งเดิน วิ่ง และใช้สกี จนไปถึงชายแดนนอร์เวย์-สวีเดน และข้ามพรมแดนไปได้สำเร็จ

ผลของการก่อวินาศกรรมของทีมคอมมานโดรอนแนแบร์ก พวกเขาทำลายน้ำมวลหนักกว่า 1,100 ปอนด์ลงได้ และทำให้การวิจัยของพวกเยอรมันต้องล่าช้าออกไป

หลังจากเหตุการณ์จู่โจมในครั้งนี้ เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนที่พวกเยอรมันต้องลงมือซ่อมแซมสถานที่วิจัยอาวุธร้ายของพวกเขา แต่ขณะที่การดำเนินการซ่อมแซมใกล้แล้วเสร็จ ฝูงบินทิ้งระเบิดของพันธมิตรก็ทิ้งระเบิดใส่โรงไฟฟ้าแห่งนี้จนเสียหายอย่างหนัก ฮิตเลอร์สั่งการให้ย้ายสถานที่วิจัยและพัฒนาอาวุธกลับมายังเยอรมนี แต่เรือข้ามฟากซึ่งขนย้ายสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการวิจัยถูกหน่วยใต้ดินนอร์เวย์เข้ามาก่อวินาศกรรม จนทำให้เรืออับปางพร้อมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ

ความฝันของฮิตเลอร์ที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง จึงปิดฉากลงอย่างถาวร แม้จะมีความพยายามที่จะพัฒนามันต่อไป แต่มันก็สายเกินไปเสียแล้ว

รอนแนแบร์กยังนำคอมมานโดเข้าจู่โจมในภารกิจต่าง ๆ ที่มีขึ้นในนอร์เวย์ หลังสงครามเขาคือวีรบุรุษของประเทศอย่างไร้ข้อกังขาใด ๆ ในความเสียสละ เขาได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดของประเทศ โดยรับพระราชทานจากษัตริย์ฮาคอนที่ 7 (King Haakon VII) นอกจากนี้ กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ยังมอบเหรียญกล้าหาญให้แก่เขาด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกเหรียญที่ได้รับล้วนแล้วแต่เป็นการมอบจากมือของผู้นำประเทศแทบทั้งสิ้น

โยอาคิม รอนแนแบร์ก ใช้ชีวิตอย่างสงบหลังสงคราม และเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ จวบจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ด้วยอายุ 99 ปี

เรื่อง : KruBen WarHistory และสามารถรับชมสาระความรู้ในประวัติศาสตร์สงครามและความขัดแย้งของมนุษย์ได้ที่ช่องยูทูบ KruBen WarHistory

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

1. https://www.atomicheritage.org/history/german-atomic-bomb-project
2. http://theconversation.com/operation-gunnerside-the-norwegian-attack-on-heavy-water-that-deprived-the-nazis-of-the-atomic-bomb-90360
3. https://www.atomicheritage.org/history/operation-gunnerside
4. https://www.nytimes.com/2018/10/22/obituaries/joachim-ronneberg-dead.html
5. http://large.stanford.edu/courses/2014/ph241/wendorff2/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566