ยุทธการดับแผนนิวเคลียร์ “นาซีเยอรมัน”

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขบวนพาเหรด นาซีเยอรมัน กรุงวอร์ซอ โปแลนด์
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชมขบวนพาเหรดทหารนาซีในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1939

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องจักรสงครามของกองทัพเยอรมันพิชิตประเทศต่างๆ ในยุโรปให้มาอยู่แทบเท้าของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำ “นาซีเยอรมัน”

อุตสาหกรรมสงครามและวิทยาศาสตร์เยอรมันสร้างยุทโธปกรณ์ได้ล้ำหน้าชาติต่าง ๆ ของยุโรปในตอนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า ชาติที่แพ้สงครามไปเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วจะกลับมาเข้มแข็งเกรียงไกร จนสามารถยกพลบุกประเทศต่าง ๆ และพิชิตลงได้ในระยะเวลาไม่นาน

ตลอดช่วงสงคราม กองทัพเยอรมันไม่หยุดพัฒนาอาวุธของตนเอง อันเนื่องมาจากสถานการณ์สงคราม และการปรับตัวเข้ากับภัยคุกคามของอาวุธกองทัพเยอรมันที่ฝ่ายพันธมิตรเริ่มปรับตัว โครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธต่าง ๆ มีขึ้นทั้งในประเทศเยอรมนี และในพื้นที่ยึดครองของกองทัพเยอรมันในบางประเทศของยุโรป และหนึ่งในอาวุธที่เยอรมันกำลังพัฒนาอยู่นั้นคือ อาวุธทำลายล้างสูง ซึ่งในตอนนั้นมนุษยชาติยังไม่ล่วงรู้ แต่พวกนาซีกำลังซุ่มพัฒนามันขึ้นมา และเมื่ออาวุธมหัศจรรย์ของฮิตเลอร์ชิ้นนี้สำเร็จลงเมื่อใด โลกจะได้เห็นอำนาจการทำลายล้างของมัน และชื่ออาวุธมหัศจรรย์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูงชนิดนี้ก็คือ “อาวุธนิวเคลียร์”

“ผมไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาอธิบาย” นี่เป็นคำกล่าวของ แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมัน หลังจากเขาทราบข่าวการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น อำนาจการทำลายล้างของอาวุธชนิดนี้เกินจินตนาการ ที่แม้แต่ผู้สร้างมันขึ้นมาก็มิอาจคาดการณ์

กองทัพเยอรมันเริ่มโครงการลับของตนที่เรียกว่า อูรานเฟอไอน์” (Uranverein) หรือ ยูเรเนียมคลับ” (Uranium Club) โดยเริ่มต้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1939 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ออตโต้ ฮาน และฟริซ สตราสมาน พบการแตกตัวของปฏิกิริยานิวเคลียร์โดยไม่ได้ตั้งใจ
ผลของการค้นพบของเยอรมัน มีส่วนสำคัญอย่างมากในโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ชื่อ โครงการแมนฮัตตัน” (Manhattan Project) ของสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้น

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามโลกจากโครงการนิวเคลียร์ของเยอรมันในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 เมื่อนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ของอเมริกา เพื่อเตือนให้ทราบว่า “เป็นไปได้ที่เยอรมันจะสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ขึ้นในมวลยูเรเนียมจำนวนมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังงานอานุภาพมหาศาล” จึงทำให้สหรัฐอเมริกาต้องร่วมแข่งขันในเวทีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยเชื่อว่าใครก็ตามที่มีอาวุธชนิดนี้ในการครอบครองจะสามารถชนะสงครามได้

ถึงแม้ ฮิตเลอร์ และ นาซีเยอรมัน จะแน่วแน่ในการพัฒนาและวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง แต่กลับมีปัญหาอันเนื่องมาจากนโยบายของฮิตเลอร์และพรรคนาซี อันมาจากนโยบายกีดกันและต่อต้านชาวเยอรมันเชื้อสายยิว นักวิทยาศาสตร์ระดับ “หัวกะทิ” ในประเทศเยอรมนีจำนวนมากถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายกักกัน พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานและเสียชีวิตอยู่ภายในค่าย บางส่วนที่เล็ดลอดการจับกุมและกวาดล้างต่างพากันหลบหนีออกนอกประเทศ

นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้หนีไปอยู่ในประเทศที่เป็นคู่สงครามกับเยอรมนี ทั้งในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งโดยส่วนมากพากันหนีมาอยู่ที่อเมริกา พวกเขามีส่วนสำคัญอย่างมากใน “โครงการแมนฮัตตัน” ที่อเมริกากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้โครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเยอรมันขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก

อีกปัญหาหนึ่งในโครงการนิวเคลียร์ของเยอรมันก็คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อันมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างกันและอยู่ห่างไกลกัน รวมทั้งสภาพของพื้นที่ก็ส่งผลต่อความยากลำบากในการประสานงาน ใน ค.ศ. 1942 ในการประชุมร่วมกับ อัลเบิร์ต ชเแปร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทโธปกรณ์และการผลิตเพื่อการสงคราม ไฮเซนแบร์ก หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมัน ได้กล่าวถึงปริมาณที่จำเป็นของ U-235 หรือ ยูเรเนียม 235 และมีคำพูดที่ก่อให้เกิดความน่าสนใจเล็ก ๆ ขึ้นมา เมื่อเขาใช้คำว่า ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่หลายคนในตอนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การพัฒนานิวเคลียร์จะสามารถนำไปพัฒนาอาวุธในลักษณะใด รวมทั้งข้อสงสัยที่ว่ามันจะใช้ได้จริงหรือไม่

เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 เมื่อ นาซีเยอรมัน เปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบ การผลิตและใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม ถูกเน้นไปที่การพัฒนาอาวุธพื้นฐานต่าง ๆ ที่ไม่ต้องใช้เวลาและการวิจัยอะไรให้ยืดยาว อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมันก็ยังคงดำเนินต่อไป

วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันเปิดฉากยุทธการ “อุนเทอร์นีเมิน เวเซอรือบุง” (Unternehmen Weserübung) และเคลื่อนพลโจมตีประเทศนอร์เวย์ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศเยอรมัน ประสานการบุกนอร์เวย์อย่างเป็นระบบ กองทัพนอร์เวย์พยายามสู้รบต้านทานอย่างสุดความสามารถ เพียงระยะเวลา 2 เดือนในการรบ กองทัพนอร์เวย์ที่อ่อนด้อยเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการรบ ก็ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพเยอรมันในที่สุด

เยอรมันสถาปนารัฐบาลหุ่นเชิดภายใต้การนำของ วิคคุน ควิสลิ่ง ชาวนอร์เวย์ที่ถูกเรียกว่า “คนขายชาติ” แต่รัฐบาลนอร์เวย์ภายใต้การนำของ กษัตริย์ฮาคอนที่ 7 (King Haakon VII) ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอร์เวย์ขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

หลังจากยึดครองประเทศนอร์เวย์ได้แล้ว กองทัพเยอรมันใช้ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศนี้เป็นฐานปฏิบัติการของเรือดำน้ำและเรือรบในการรังควานเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยของกองทัพพันธมิตร แต่ประเทศที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนเหนือของยุโรปอย่างนอร์เวย์ กลายเป็นสถานที่สำคัญในส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมัน และสถานที่นั้นก็อยู่ที่ เมืองเวมอร์ก (Vemork)

โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ เมืองเวมอร์ก ประเทศนอร์เวย์
โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่เมืองเวมอร์ก ประเทศนอร์เวย์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1906 รัฐบาลนอร์เวย์ได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานที่ อันจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มี บริษัท นอร์ส ไฮโดร (Norsk Hydro) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะให้กำลังการผลิตไฟฟ้า 108 เมกะวัตต์ ในบริเวณน้ำตกยือกัน (Rjukan waterfall) ที่เมืองเวมอร์ก ใช้เวลาก่อสร้างถึง 5 ปี ก่อนจะเปิดทำงานใน ค.ศ. 1911 มันเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้เงินลงทุนอย่างมาก และต้องได้รับการระดมทุนจากต่างประเทศ หลังจากเริ่มเปิดใช้งาน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังเป็นแหล่งพลังงานให้แก่โรงงานผลิตปุ๋ยโดยวิธีการใหม่ ซึ่งถูกคิดค้นโดย คริสเตียน เบอเคอลานด์

หลังจากนั้น บริษัท นอร์ส ไฮโดร ได้ตระหนักถึงโครงการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือการผลิต “น้ำมวลหนัก” (Heavy Water) ด้วยวิธีการอิเล็กโทรไลซิส หรือกระบวนการแยกอะตอมของน้ำ การผลิตเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1934 และที่นี่เองจะกลายเป็นสถานที่แห่งแรกบนโลก ที่สามารถผลิตน้ำมวลหนักเพื่อการพาณิชย์เป็นแห่งแรกของโลก มีปริมาณผลิตถึง 12 เมตริกตันต่อปี

ใน ค.ศ. 1940 รัฐบาลฝรั่งเศสซื้อหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ของบริษัท นอร์ส ไฮโดร และนำเข้าน้ำมวลหนักจากนอร์เวย์ ก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมันซึ่งตอนนั้นฮิตเลอร์ขึ้นเถลิงอำนาจแล้ว ก็เคยเสนอขอซื้อหุ้นในบริษัท แต่นอร์เวย์มีความกังวลว่า การให้เยอรมันเข้ามาถือหุ้นและซื้อน้ำมวลหนักเหล่านี้ไป มีความเป็นได้สูงที่พวกเขาจะนำไปใช้ในทางทหาร จึงตอบปฏิเสธ แต่เมื่อเยอรมันพิชิตนอร์เวย์และฝรั่งเศสลงได้ ก็เป็นการเปิดทางให้การนำน้ำมวลหนักมาใช้เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สามารถดำเนินต่อไปได้ นักวิทยาศาสตร์เยอรมันหวังจะนำเอาน้ำมวลหนักเหล่านี้ไปใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ก่อนหน้าที่นอร์เวย์จะถูกพิชิต น้ำมวลหนักจำนวนมากถูกลับลอบขนออกไปจากนอร์เวย์สู่ฝรั่งเศส หน่วยข่าวกรองกองทัพเยอรมันพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงมาให้ได้ แต่หลังจากที่กองทัพเยอรมันเคลื่อนพลบุกฝรั่งเศส และกองทัพฝรั่งเศสหมิ่นเหม่ใกล้จะปราชัย ก็มีความพยายามอีกครั้งที่จะนำสิ่งเหล่านี้หลบหนีไปให้พ้นเงื้อมมือของพวกนาซี แฟดเดอริค โจลิโยท คูรี นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวฝรั่งเศสและผองเพื่อนรีบนำมันหลบหนีไปพร้อมกับทหารอังกฤษที่กำลังถอนกำลังออกจากฝรั่งเศส โชคดีที่พวกเขาหนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

อย่างไรก็ตาม พวกเยอรมันยังคงยึดโรงงานผลิตน้ำมวลหนักเอาไว้ และบีบบังคับให้ชาวนอร์เวย์ทุกคนที่เคยทำงานที่นี่ ต้องร่วมมือผลิตน้ำมวลหนักขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

การนำน้ำมวลหนักไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์นั้น มันจะถูกใช้เพื่อลดความเร็วของนิวตรอนที่วิ่งตรงไปยังวัสดุที่สามารถเกิดปฏิกิริยาฟิชชันได้ โดยความหมายก็คือ ตามหลักทางฟิสิกส์โมเลกุลของตัวหน่วง จะถูกนิวตรอนวิ่งมาชนและมีการดูดนิวตรอนบางส่วนเอาไว้ จึงทำให้นิวตรอนนั้นถูกดูดซับไป และยังทำให้อะตอมของยูเรเนียมที่ถูกชนด้วยนิวตรอนลดลง

พูดง่าย ๆ ก็คือ น้ำมวลหนักคือสิ่งจำเป็นในการวิจัยพลังงานของปฏิกิริยานิวเคลียร์ ให้อยู่ในระดับที่มนุษย์สามารถควบคุมได้

กองทัพพันธมิตรล่วงรู้มาว่า นาซีเยอรมัน กำลังวิจัยและพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงชนิดนี้อยู่ พวกเขาเฝ้าติดตามความคืบหน้าของโครงการ และพยายามอย่างมากในการหาข่าวความคืบหน้า หน่วยใต้ดินที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ให้ข้อมูลความคืบหน้ามาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเหล่าบรรดาหน่วยใต้ดินของนอร์เวย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาเสี่ยงชีวิตตนเองในการล้วงข้อมูลสำคัญออกมา มีทักษะการหลีกเร้นอย่างมีชั้นเชิง ทำให้กองทัพเยอรมันเจอปัญหาในการปราบปรามกองกำลังใต้ดินเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากประเทศอื่น ๆ ที่พวกนาซียึดครองอยู่

ความลำบากอย่างแรกสำหรับของกองทัพเยอรมันก็คือ ภูมิประเทศของนอร์เวย์เป็นแนวชายฝั่งยาว รวมทั้งยังมีอากาศหนาว เยอรมันจำต้องกระจายกำลังออกไป นอกจากนี้ ภูมิประเทศอันยาวเหยียดของนอร์เวย์ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศสวีเดน ที่ประกาศเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ ทำให้หน่วยใต้ดินนอร์เวย์มักจะก่อกวนทหารเยอรมัน และหลบหนีข้ามพรมแดนไปหลบซ่อนอยู่ในสวีเดน โดยใช้ช่องทางธรรมชาติผ่านข้ามไปได้อย่างง่ายดาย

ชาวนอร์เวย์รักชาติจำนวนมากจำต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของข้าศึก แต่พวกเขาไม่หวาดหวั่นที่จะต่อสู้เพื่อลดทอนหรือทำลายศักยภาพการทำสงครามของพวกเยอรมัน แต่ก็มีชาวนอร์เวย์บางส่วนซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นทหารในกองทัพและพลเรือนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ พากันหลบหนีออกจากประเทศไปรวมกันอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อันเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่ยืนหยัดสู้รบกับเยอรมันในยุโรปตั้งแต่เริ่มต้นของสงคราม หลังจากการล่มสลายของฝรั่งเศส และการล่าถอยข้ามช่องแคบของกองทัพอังกฤษ

นั่นจึงทำให้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ปฏิบัติการรบนอกแบบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ Unconventional Warfare จึงได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ กองทัพอังกฤษและเหล่าบรรดาผู้รักชาติจากประเทศที่ถูกกองทัพเยอรมันยึดครอง จะร่วมมือกันฝึกและออกปฏิบัติการหลังแนวรบของเยอรมันไปตลอดช่วงสงคราม

เรื่อง : KruBen WarHistory และสามารถรับชมสาระความรู้ในประวัติศาสตร์สงครามและความขัดแย้งของมนุษย์ได้ที่ช่องยูทูบ KruBen WarHistory

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

1. https://www.atomicheritage.org/history/german-atomic-bomb-project
2. http://theconversation.com/operation-gunnerside-the-norwegian-attack-on-heavy-water-that-deprived-the-nazis-of-the-atomic-bomb-90360
3. https://www.atomicheritage.org/history/operation-gunnerside
4. https://www.nytimes.com/2018/10/22/obituaries/joachim-ronneberg-dead.html
5. http://large.stanford.edu/courses/2014/ph241/wendorff2/


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566