ถูกคุมขัง-ทรมาน ชะตากรรม “ชายรักร่วมเพศ” กว่าแสนราย ภายใต้ยุคนาซี

เกย์ ชายรักร่วมเพศ นาซี ค่ายกักกัน Buchenwald
นักโทษรอการเรียกตัวที่ค่ายกักกัน Buchenwald เครื่องแบบของพวกเขาจัดประเภท "ตราสามเหลี่ยม" พร้อมติดหมายเลขประจำตัว, เยอรมนี 1938–41 (ภาพจาก United States Holocaust Memorial Museum, courtesy of Robert A. Schmuhl)

ช่วงที่นาซีเยอรมันปกครองประเทศเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. 1933-1945 นาซีได้สร้างขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ชาวยิวเป็นหลัก รวมทั้งจับกุมและสังหารชาวสลาฟ ชาวโรมา (ยิปซี) ผู้พิการ นักโทษการเมือง รวมไปถึงกลุ่ม “ชายรักร่วมเพศ” ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญของนาซี พวกเขาถูกนำตัวไปค่ายกักกันดังเช่นชาวยิว และต้องประสบความทารุณโหดร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ

สาเหตุที่นาซีรังเกียจกลุ่มคนรักร่วมเพศ เพราะเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ความเสื่อมทรามของสังคมเยอรมัน และขัดกับแนวคิดความเป็นชาติพันธุ์อารยัน ที่ต้องการให้ผู้คนมีความรักต่างเพศ เพื่อสร้างครอบครัว ผลิตประชากรชาวอารยัน เสริมสร้างความยิ่งใหญ่ให้รัฐ นำสู่นโยบายของพรรคนาซีในการรณรงค์ต่อต้านรักร่วมเพศในเยอรมนี

เมื่อนาซีเข้ามามีอำนาจในวันที่ 30 มกราคม ปี 1933 ก็เริ่มทำลายวัฒนธรรมและเครือข่ายของเกย์ในเยอรมนี ด้วยการสั่งปิดบาร์เกย์และจุดนัดพบต่าง ๆ ของเกย์ทั่วประเทศ และสั่งการให้ตำรวจเฝ้าระวังพื้นที่นัดพบของคนรักร่วมเพศมากขึ้น ทำให้เกย์ติดต่อกันได้ยากขึ้น อีกทั้งยังสั่งปิดหนังสือพิมพ์ วารสาร และสำนักพิมพ์ของชุมชนคนรักร่วมเพศ 

ต่อมานาซีได้เพิ่มมาตรการต่อต้านรักร่วมเพศอย่างเข้มข้น โดยมอบอำนาจให้ตำรวจสามารถจับกุมและกักขังคนกลุ่มนี้โดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดีตั้งแต่ปลายปี 1933 ซึ่งกลุ่มคนรักร่วมเพศส่วนหนึ่งถูกคุมขังในค่ายกักกัน พอถึงปี 1934 เกสตาโป (ตำรวจลับ) ได้สั่งให้กองกำลังตำรวจท้องที่ส่งรายชื่อผู้ชายทุกคนที่เชื่อว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ให้อยู่ภายใต้ชื่อ “บัญชีสีชมพู” เป็นเหมือนการขึ้นบัญชีดำที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ช่วงปี 1934-1936 นาซียกระดับการต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศมากขึ้น มีทั้งการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ชายรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมร้ายแรง กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินคดีและประหัตประหารผู้ชายที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) คนสนิทของฮิตเลอร์ ยังได้ก่อตั้ง สำนักงานกลางแห่งไรช์เพื่อต่อต้านการรักร่วมเพศและการทำแท้ง (Reichszentrale zur Bekämpfung der Homosexualität und der Abtreibung) เมื่อปี 1936 เพื่อปราบปรามรักร่วมเพศและการทำแท้ง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่ออัตราการเกิดของชาวเยอรมัน

การดำเนินการดังกล่าว ทำให้สังคมเยอรมันยิ่งมีอคติและความเกลียดชังต่อคนรักร่วมเพศ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้นาซีจับกุมชายรักร่วมเพศได้ง่ายขึ้น เพราะตำรวจสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน คนรู้จัก หรือเพื่อนร่วมงาน ที่เป็นหูเป็นตาและแจ้งตำรวจ

นั่นจึงทำให้เกย์บางคน โดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวยพยายามซ่อนเร้นรสนิยมทางเพศของตนและปฏิบัติตามกรอบของสังคม บางคนเลิกติดต่อกับเพื่อนหรือถอนตัวจากพื้นที่สาธารณะ บางคนย้ายไปอยู่ชนบท เมืองใหม่ หรือต่างประเทศ ส่วนบางคนตัดสินใจแต่งงานเพื่อเอาตัวรอด ทำให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวเลขผู้ถูกจับกุมในข้อหาดังกล่าวลดน้อยลง และอีกปัจจัยหนึ่งเพราะความต้องการกำลังพลเพิ่มสูงขึ้น ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบเป็นจำนวนมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชายรักร่วมเพศอีกไม่น้อยที่ถูกจับกุมและลงโทษตลอดช่วงสงคราม

นักวิชาการประเมินว่ามีการจับกุมชายรักร่วมเพศราว 100,000 ราย ในช่วงนาซีปกครองเยอรมนี จำนวนนี้ประมาณ 53,400 ราย ถูกตัดสินว่ามีความผิด และคาดว่านักโทษชายประมาณ 5,000-15,000 คน ถูกคุมขังในค่ายกักกันในฐานะผู้กระทำความผิด “รักร่วมเพศ” ซึ่งนักโทษชายเหล่านี้ต้องใส่ชุดนักโทษที่ติดรูปสามเหลี่ยมสีชมพู เพื่อเป็นการจำแนกประเภทนักโทษ 

จากรายงานของผู้รอดชีวิตหลายคน นักโทษ “สามเหลี่ยมสีชมพู” เป็นกลุ่มที่ถูกทารุณกรรมมากสุดในค่าย พวกเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดในระบบแรงงาน และมักถูกผู้คุมค่ายและผู้ต้องขังรายอื่นล่วงละเมิดทางเพศ บางกรณียังถูกเฆี่ยนตีและทำให้อับอายต่อหน้านักโทษคนอื่น ตัวอย่างหนึ่ง คือ ค่ายกักกัน Buchenwald ในเยอรมนี ซึ่งมีการทดลองทางการแพทย์กับนักโทษชายรักร่วมเพศอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น การบังคับตอนอวัยวะเพศ ซึ่งเริ่มทดลองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 1942 

ด้วยกลัวความผิดจากผู้คุมค่าย เพื่อนนักโทษที่มีอคติอยู่แล้วจึงหลบเลี่ยงนักโทษที่ติดรูปสามเหลี่ยมสีชมพูอยู่เสมอ นักโทษชายรักร่วมเพศจึงถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำให้เราไม่อาจทราบจำนวนนักโทษชายรักร่วมเพศที่เสียชีวิตในค่ายกักกันได้ว่ามีเท่าใดกันแน่

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชายรักร่วมเพศในค่ายกักกันของนาซีได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ทว่า ชายรักร่วมเพศในสังคมเยอรมันกลับยังถูกคุมขังในกรอบคิดแบบเดิม พวกเขายังคงถูกตัดสินจำคุกและลงโทษ นอกจากนี้ สังคมเยอรมันก็ยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมาเกือบตลอดศตวรรษที่ 20 ทำให้เกย์หลายคนไม่อยากเปิดเผยประวัติของตนลงบนคำให้การหรือการเขียนบันทึกความทรงจำ ขณะที่คนซึ่งยังมีอคติทางเพศก็ไม่ค่อยยอมพูดถึงกลุ่มรักร่วมเพศในยุคนั้น หากแต่นักวิชาการพยายามที่จะบันทึกประสบการณ์ของชายรักร่วมเพศ โดยใช้บันทึกของตำรวจ ศาล และค่ายกักกัน 

ความพยายามของนักวิชาการและองค์กรเพื่อสิทธิของชาวเกย์ในเยอรมนี ที่ต้องการให้โลกได้ประจักษ์ถึงความโหดร้ายของนาซีที่กระทำต่อกลุ่มคนรักร่วมเพศ ประสบความสำเร็จในปี 1990 เมื่อรัฐบาลเยอรมนียอมรับว่า “กลุ่มรักร่วมเพศที่ถูกข่มเหง” เป็นเหยื่อของระบอบนาซี จากนั้นในปี 2002 รัฐบาลได้ยกเลิกบทลงโทษ “ชายรักร่วมเพศ” ที่นาซีได้บัญญัติไว้และมีผลบังคับใช้อย่างยาวนาน ทำให้เกย์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเงื้อมมือมารของนาซีมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลสำหรับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น  

เดือนพฤษภาคม ปี 2008 มีการเปิดตัวอนุสรณ์สถานคนรักร่วมเพศที่ถูกข่มเหงภายใต้ลัทธินาซี (Memorial to Homosexuals Persecuted Under Nazism หรือ Denkmal für die im Nationalsozialismus verfolgten Homosexuellen) ในสวนสาธารณะ Tiergarten ใจกลางกรุงเบอร์ลิน เพื่อเตือนให้สังคมตระหนักถึงผลลัพธ์ของความเกลียดชังที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน (คลิกชมภาพเพิ่มเติม)

…เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกัน ไม่สมควรมีใครต้องถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณเช่นนั้นอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เหตุผลที่ผู้เขียนใช้คำว่า “รักร่วมเพศ” ในบทความ เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏในยุคนั้น คำว่า “Homosexuality” ในภาษาอังกฤษ และ “Homosexuellen” ในภาษาเยอรมัน ยังคงถูกใช้เรียกแทนบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในยุคนั้นรับรู้และเข้าใจต่อบุคคลที่เป็น LGBTQIA+ ผู้เขียนจึงต้องการใช้คำศัพท์ในยุคดังกล่าว เพื่อถ่ายทอดบริบทและมุมมองของสังคมในยุคนั้นต่อ LGBTQIA+ โดยตรง ไม่ได้มีเจตนาลดทอนคุณค่าของ LGBTQIA+ แต่อย่างใด


อ้างอิง :

United States Holocaust Memorial Museum. Gay men under Nazi regime. https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/gay-men-under-the-nazi-regime

United States Holocaust Memorial Museum.  Classification system in Nazi concentration camps. https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/classification-system-in-nazi-concentration-camps

Memorial to the Murdered Jews of Europe. Memorial to Homosexuals Persecuted Under National Socialism .https://www.stiftung-denkmal.de/en/memorials/memorial-to-the-persecuted-homosexuals-under-national-socialism/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2566