ร่องรอยหลักฐานทหารที่ “รักเพศเดียวกัน” ในสงครามโลก สมรภูมิชีวิตที่จำต้องปิดซ่อน

(Photo by TASS / AFP)

ในประวัติศาสตร์หากเอ่ยคำว่า “นักรบ” หรือ “ทหาร” ทุกคนต้องนึกถึงบุรุษที่ร่างกายกำยำถืออาวุธเอาไว้ในมือ พร้อมเผชิญหน้ากับข้าศึกหรือความยากลำบากในสนามรบ พวกเขาได้รับการยกย่องในความเสียสละกล้าหาญต่อแผ่นดินเกิด และกลายมาเป็นตำนานที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่าง

แต่ภายนอกที่แลดูเข้มแข็งและฮึกห้าวเมื่ออยู่ในสนามรบนั้น กลับมีบางคนที่มีความรู้สึกและความต้องการที่แปลกจากบุรุษเพศทั่วไป แม้เขาอาจจะดูว่ามีลักษณะเป็นชายสมชายจากรูปลักษณ์ภายนอกและท่าทีที่แสดงออกมาในฐานะนักรบ แต่ในเรื่องของรสนิยมทางเพศนั้น พวกเขากลับชื่นชอบความรักระหว่างเพศเดียวกัน

เช่นเดียวกับในช่วงสงครามโลก ชายหนุ่มนับล้านถูกส่งไปรบในแนวหน้า พวกเขาล้วนแล้วมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายวัฒนธรรมและเชื้อชาติ รวมถึงหลากหลายรสนิยมทางเพศอีกด้วย โดยเฉพาะชายที่นิยมชมชอบเพศชายด้วยกัน แม้มันจะเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคนั้น และแทบทุกกองทัพจากหลากหลายประเทศต่างก็บัญญัติโทษของการรักร่วมเพศเอาไว้ค่อนข้างรุนแรง แต่ความรักของพวกเขาก็ซ่อนเร้นเอาไว้พอ ๆ กับปฏิบัติการลับในสงคราม

(ภาพประกอบ) ทหารสนิทสองคนจูบกันเพื่อแสดงความยินดีที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะในสงครามเหนือเยอรมนี (คำบรรยายใต้ภาพเดินอธิบายว่า “Old friends kiss each other on May 08, 1945. We have won!”) (Photo by TASS / AFP)

สนามรบไม่ใช้สถานที่น่าอภิรมย์และเมื่อเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงจุดที่มีแต่การรบราฆ่าฟัน ความรู้สึกต้องการทางเพศหรือความนึกคิดเกี่ยวกับเพศคงแทบจะจางหายไปจากจิตใจของทหารหนุ่มเหล่านี้ แต่กับทหารบางนายที่มีความรู้สึกชื่นชอบเพศเดียวกันกลับมีความคิดที่แตกต่างออกไป แม้จะมีวินาทีแห่งความเป็นความตายรอพวกเขาอยู่เบื้องหน้า หรือรอบ ๆ กายของพวกเขาจะเต็มไปด้วยอันตรายนานัปการ แต่สำหรับทหารที่มี “ความรู้สึกพิเศษที่ยากจะอธิบายให้ใครได้รู้” พวกเขามองว่าเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้อยู่ใกล้ชิดเพื่อนทหารที่พวกเขารัก

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพชาติมหาอำนาจในยุคนั้นทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่เยอรมนี ล้วนแล้วแต่มีกฎข้อบังคับที่ห้ามเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศไปในเชิงชื่นชอบเพศเดียวกัน ซึ่งกฎข้อบังคับเหล่านี้กลับย้อนแย้งและเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด ทหารยศต่ำ ๆ หรือลูกจ้างในกองทัพที่มีพฤติกรรมหรือการแสดงออกในเชิงรักร่วมเพศ จะถูกลงโทษและตีตราในสังคมว่าพวกเขาคือ “บุคคลที่สังคมรังเกียจ”

แต่ช่างน่าเย้ยหยันที่ชนชั้นปกครอง หรือพวกขุนนางบางคนในสังคมยุคนั้น กลับมีข่าวลือหรือเรื่องราวซุบซิบว่าพวกเขา “ชอบไม้ป่าเดียวกัน” ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี เจ้าชายฟิลิปป์ ซู ออยเลนแบร์ก ผู้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1907 จากเรื่องรักร่วมเพศ และทรงมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับการที่พระองค์ปฏิบัติต่อ ไคเซอร์ วิลเฮล์ม พระมหากษัตริย์ของจักรวรรดิเยอรมนีอย่างอ่อนโยน และดูแลไคเซอร์เป็นอย่างดีกว่าพระชายาของพระองค์เอง

ขณะที่ภายใต้ความโดดเดี่ยวที่ดูเย่อหยิ่งของไคเซอร์ วิลเฮล์ม ซึ่งซ่อนความอบอุ่นที่แสนอ่อนโยนเอาไว้ พระองค์ทรงชื่นชอบมิตรภาพเฉกสุภาพบุรุษพึงกระทำต่อกัน มากกว่าจะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษให้อิสตรีหลงใหล และทรงมีความคิดเห็นส่วนพระองค์ว่า มารยาทที่สุภาพบุรุษพึงปฏิบัติต่อสุภาพสตรีช่างเป็นเรื่องที่น่าสะอิดสะเอียนอย่างยิ่ง นั่นจึงทำให้พระองค์ปลีกตัวออกห่างจากสังคมในกรุงเบอร์ลินที่ต้องพบปะสตรีมากหน้าหลายตาจากหลากหลายชนชั้น และทรงพระเกษมสำราญกับการอยู่ร่วมกับเหล่าบรรดาแม่ทัพนายกองในกรมทหารของพระองค์ที่พอทสดัม แต่ถึงแม้จะมีเรื่องให้ประชาชนนำไปนินทาเช่นนี้ พระองค์กลับสั่งให้ทหารของพระองค์ทุกคนในกองทัพห้ามแสดงออกซึ่งการรักร่วมเพศใด ๆ เป็นอันขาด แม้จะมีคำสั่งเช่นนี้แต่มีนายทหารเยอรมันยศสูงบางคนที่แอบมีสัมพันธ์สวาทกับทหารในการบังคับบัญชาของตนเอง

ทางด้านกองทัพอังกฤษ เมื่อกองทัพเริ่มประสบกับการบาดเจ็บล้มตายของทหารเป็นจำนวนมาก สังคมอังกฤษก็ให้ความสำคัญกับภาระหน้าที่ที่ชายหนุ่มพึงกระทำต่อประเทศชาติ ชายชาตรีอังกฤษควรเชิดหน้าและตบเท้าเข้าสู่สนามรบอย่างองอาจ หาควรแสดงตนว่าอ่อนแอขลาดเขลา สังคมอังกฤษในช่วงนั้นมีมุมมองของชายที่ชื่นชอบเพศเดียวกันว่า เป็นการแสดงออกอันไม่พึงประสงค์ที่หาควรมีในบุรุษเพศ เมื่อเกิดเป็นชายก็ควรแสดงออกถึงความเข้มแข็งองอาจ ไม่ใช่นุ่มนิ่มเยี่ยงสตรีเพศ ดังนั้น พวกรักร่วมเพศไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการแสดงออกของคนขายชาติอีกด้วย

กองทัพสหรัฐอเมริกา แม้พวกเขาจะเชิดชูบูชาในเรื่องของสิทธิเสรีภาพเพียงใดก็ตาม แต่เสรีภาพและสิทธิเหล่านี้ก็ไม่มีในกองทัพสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น สังคมอเมริกันก็เฉกเช่นเดียวกับชาติประชาธิปไตยอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ พัฒนารูปร่างของสังคมประเทศตัวเองที่ต้องลองผิดลองถูกผ่านช่วงเวลาอันยาวนาน เสรีภาพบางอย่างอาจจะมีในสังคมและมันอาจจะเหนือกว่าบางประเทศ แต่เสรีภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันมองว่ามันเป็นเรื่องต้องห้ามในการแสดงออก รักร่วมเพศแม้จะไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษเป็นลายลักษณ์อักษร แต่คนอเมริกันบางกลุ่มก็เหยียดคนรักร่วมเพศพอ ๆ กับสีผิวของคนแอฟริกันอเมริกันในช่วงนั้น

Blue Discharge หรือ ที่ทหารอเมริกันพากันเรียกว่า Blue Ticket อันหมายถึงเอกสารปลดประจำการจากการเป็นทหาร เอกสารสำคัญที่ทหารจะต้องเก็บติดตัวไว้หลังจากจบหน้าที่การเป็นทหารแล้ว และมันยังส่งผลต่อการสมัครงานหรือการใช้ชีวิตพลเรือน เพราะเป็นหนึ่งในเอกสารที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ หรือหน่วยงานของรัฐจะขอดูเมื่อไปสมัครงานหรือติดต่อธุระ และเจ้าตั๋วสีน้ำเงินนี้กลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้บังคับบัญชาที่ต้องการสั่งปลดทหารในการบังคับบัญชาของตนเองที่พบว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากหน่วยของตนเอง เมื่อทหารสักคนของหน่วยถูกจับได้ว่าเขามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมของเขาจะถูกบันทึกลงในเอกสารปลดประจำการ และนั่นคือการตีตราคน ๆ หนึ่งให้สังคมรังเกียจไปตลอดกาล

(ภาพประกอบ) ทหารพักผ่อนระหว่างการสู้รบอย่างใกล้ชิด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ภาพโดย Montague Glover จาก https://mediadrumworld.com/2017/07/27/11559/)

นอกจากนี้ พวกเขาจะถูกยกเลิกสิทธิผลประโยชน์ที่ทหารอเมริกันคนหนึ่งพึงมีโดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกอเมริกัน และเขาจะต้องมีปัญหาในการหางานเพราะนายจ้างจะตระหนักถึงพฤติกรรมที่ถูกบันทึกลงในหนังสือปลดประจำการ

เมื่อสังคมของประเทศตนเองไม่ให้การยอมรับ พวกเขาจำต้องซ่อนอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเอาไว้ให้มิดชิดและแนบเนียนพอที่จะไม่ให้เพื่อนทหารหรือผู้บังคับบัญชาของตนเองได้ล่วงรู้ ทหารอังกฤษคนหนึ่งถึงกับบันทึกเอาไว้ว่า “เมื่อผมได้รับการเลื่อนยศเป็นจ่าสิบเอกและการที่ผมมียศสูงขึ้น ผมไม่สามารถแสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมาได้เลย มีพลทหารของผมสองสามคนที่ผมดูแล้วเขาน่าจะเป็นเหมือนผม และผมเองก็มีโอกาสที่จะมีอะไรกับพวกเขา แต่ประเด็นก็คือเมื่อคุณมองดูตัวเองและรู้ว่า นี่มันคือเรื่องคอขาดบาดตายเชียวนะ? ผมต้องพูดกับตัวเองว่าไม่ ผมต้องห้ามใจตัวเองให้ได้ ผมกำลังนำเอาความรู้สึกตัวเองที่เสี่ยงต่อโอกาสที่จะโดนจับขึ้นศาลทหาร และจะปล่อยใจให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ผมต้องอดทน”

แม้พวกเขาจะซ่อนความรู้สึกและเก็บความลับส่วนตัวเอาไว้ได้ แต่บางครั้งพวกเขาบางคนก็มิวายที่จะโดนเพ่งเล็งจากเพื่อนทหารหรือนายทหารของตนเองอันเนื่องมาจากการที่ตัวเขา “ไม่มีกิจกรรมทางเพศใด ๆ”

บ่อยครั้งที่ทหารบางนายจะถือหนังสือที่มีภาพวาบหวิวของสตรีนุ่งน้อยห่มน้อย เดินหายไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง หรือหลบอยู่ตรงมุมใดมุมหนึ่งในค่ายทหารหรือในหลุมของตนเอง มันคือการไปคลายเครียดด้วยการ “สำเร็จความใคร่ให้ตนเอง” สำหรับทหารที่อยู่ในสนามรบนาน ๆ แล้ว สิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องปกติที่ในบางเวลาที่พวกเขาอาจจะมีอารมณ์ทางเพศขึ้นมา และมันเป็นกิจวัตรเลยก็ว่าได้เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาทั้งหมดได้รับคำสั่งให้ไปพักที่แนวหลัง

แน่นอนว่านอกจากบาร์หรือสถานที่การสุมหัวกันดื่มกินของพวกทหารแล้ว สถานบริการทางเพศที่มีหญิงงามเมืองไว้รอบริการพวกทหาร ย่อมเป็นที่หมายสำคัญของเหล่าบรรดาชายหนุ่มกลัดมันเหล่านี้ที่จะต้องรีบไปต่อแถวใช้บริการ ไม่ว่าคุณจะยศสูงหรือต่ำการปลดปล่อยความต้องการทางเพศจากการที่ชีวิตตนเองไม่มีกิจกรรมทางเพศเลย นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทหารทุกคนอยากจะทำก่อนตาย แต่หากทหารคนใดมิใยดีต่อความสุขแบบเพศชายแสดงว่าทหารคนนั้นอาจจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ทหารบางนายจำต้องแสแสร้งแสดงออกเช่นนี้เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตตนเอง พวกเขาจำต้องทำทีกอดคอเพื่อนทหารเดินเข้าไปในซ่องโสเภณี จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการและทำตนให้ดูเหมือนชายหื่นกามให้มากที่สุด

มีเรื่องเล่าจากอดีตหญิงเยอรมันที่เคยขายบริการทางเพศให้กับทหารเยอรมันในแนวหน้าว่า ครั้งหนึ่งเธอได้พบกับทหารนายหนึ่งเดินเข้ามาในห้องที่เธอรอบริการลูกค้า เธอตระเตรียมเครื่องแต่งกายและที่นอนเอาไว้เพื่อประกอบกามกิจของพวกเขาและเตรียมตนเองให้พร้อมบริการลูกค้าคนนี้ แต่กลายเป็นว่า ทหารนายนี้ขอนั่งลงที่เตียงข้าง ๆ เธอ และขอปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ใด ๆ พร้อมกับยินดีจ่ายเงินเพิ่มให้เธอเพื่อไม่ให้เธอแพร่งพรายเรื่องนี้แก่ใคร พร้อมกับให้เธอทำทีเหมือนคนที่พึ่งมีเพศสัมพันธ์เสร็จใหม่ ๆ เมื่อเปิดประตูห้องออกไปข้างนอก สุดท้ายการร่วมห้องของชายหญิงที่ดูจากภายนอกแล้วเหมือนกำลังเสพสุขกันอยู่ภายในห้อง  กลายเป็นการนั่งคุยถามสารทุกข์สุขดิบและเปิดใจถึงเรื่องราวชีวิตของคนสองคน ที่สงครามและความจำเป็นนำพาให้พวกเขามาเจอกัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น ชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชายรักชายก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ในบางประเทศรักร่วมเพศกลายเป็นโทษตายหรือการโดนส่งไปอยู่ในค่ายกักกัน ตัวอย่างเช่นในเยอรมนีช่วงที่ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ แนวคิดของนาซีที่แทรกซึมเข้าไปยังทุกสัดส่วนของสังคมเยอรมันที่พยายามจะสร้างชาวเยอรมันที่สมบูรณ์แบบ ปราศจากชาติพันธุ์อันไม่พึงประสงค์ตามแนวทางของพรรคนาซี และกำจัดบุคคลใดก็ตามในสังคมที่อ่อนด้อยและน่ารังเกียจ ทั้งคนโรคจิต คนปัญญาอ่อน คนพิการ และพวกรักร่วมเพศ ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายในการโดนกำจัดทิ้งไปจากสังคม

หนึ่งในสมาชิกพรรคนาซีที่ร่วมก่อตั้งพรรคมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ อย่าง แอร์นส รืมฮ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเอสเอ อันเป็นกองกำลังติดอาวุธของพรรคนาซีในช่วงเริ่มแรก เขาถูกจับได้ว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศและฮิตเลอร์เองก็เริ่มไม่ไว้ใจต่อรืมฮและกองกำลังเอสเอ ซึ่งนับวันเริ่มแข็งข้อต่อพรรคนาซีมากขึ้นทุกวัน เขาถูกฮิตเลอร์สั่งประหารไม่นานหลังจากถูกจับ

นอกจากนี้ผู้ที่ถูกจับได้ว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศและถูกส่งมายังค่ายกักกัน พวกเขาเหล่านี้นอกจากจะต้องกลายมาเป็นแรงงานทาสและมีชีวิตอยู่อย่างน่าเวทนาในรั้วของค่ายกักกันแล้ว พวกเขายังถูกพวกนาซีนำตัวไปวิจัยต่าง ๆ อีกด้วย แต่มีบางส่วนที่ยังโชคดีถูกนำไปวิจัยเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลการหาทางรักษาพฤติกรรมรักร่วมเพศของพวกเขา หนึ่งในหมอนาซีที่ดูแลเรื่องการวิจัยนี้คือ คาร์ล แวนนึท ดอกเตอร์ชาวเดนมาร์กที่เป็นสมาชิกของพรรคนาซีและเลื่อมใสในตัวฮิตเลอร์อย่างมาก เขาสมัครเข้ารับใช้กองกำลังเอสเอสและถูกส่งไปทำการทดลองทางการแพทย์ในค่ายกักกันกับผู้ถูกคุมขังที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ในฐานะแพทย์ เขามีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยฮอร์โมนรวมถึงการบำบัดเพื่อ “รักษาอาการรักร่วมเพศ”การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการตามแผนการส่วนตัวของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ หัวหน้าเกสตาโป ซึ่งต้องการให้ “กำจัดการดำรงอยู่ที่ผิดปกติและพวกรักร่วมเพศต้องถูกกำจัดอย่างสิ้นเชิง”

เมื่อเยอรมันแพ้สงครามใน ค.ศ. 1945 สมาชิกพรรคนาซีและทุก ๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮิตเลอร์หรือพรรคนาซี ถูกจับขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศ พวกเขาถูกตั้งข้อหากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและหมอแวนนึทก็เป็นหนึ่งในนักโทษที่ถูกควบคุมตัว เขารู้ดีว่าตัวเองนั้นคงมิพ้นที่จะถูกลงโทษแต่เขาต่อรองกับทางการอังกฤษเพื่อแลกกับผลการวิจัย และแนวทางการรักษาอาการรักร่วมเพศที่เขาได้วิจัยมาตลอดในช่วงที่เขาอยู่ในค่ากักกัน

ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ถูกไต่สวนและไม่ถูกตั้งข้อหาใด ๆ และนอกจากนี้เขายังเปิดเผยผลการวิจัยให้แก่ทางการเดนมาร์กด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้ทางการเดนมาร์กและอังกฤษตกลงที่จะนำตัวเขาออกมาและส่งไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเขาอาศัยอยู่อย่างเปิดเผยและทำการวิจัยต่อไปเพื่อหาวิธีการรักษาอาการรักร่วมเพศ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1965

(ภาพประกอบ) ภาพนี้ถ่ายระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ค.ศ. 1945 ที่ทหารกองทัพเรือสหรัฐฯได้รับบาดเจ็บ โดยมีเพื่อนทหารพยุงไปยังสถานีช่วยเหลือบนเกาะอิโวจิมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Photo by HO / THE NATIONAL ARCHIVES / AFP)

ชีวิตชายรักชายของทหาร ค่อย ๆ พบแสงสว่างแห่งความหวังในการยอมรับของสังคมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้มันจะไม่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันทีทันใด แต่มันก็ค่อยเป็นคอยไปและมีการเรียกร้องกันมาเรื่อย ๆ เพื่อสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาสามารถแสดงออกมาได้อย่างเสรี ในการเลือกที่จะบอกสังคมว่าตนเองนั้นมีรสนิยมทางเพศแบบใด กว่าที่กองทัพอังกฤษจะยกเลิกกฎหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการรักร่วมเพศก็ต้องรอจนหลัง ค.ศ. 2000 และเช่นกัน กองทัพสหรัฐอเมริกาประกาศให้ยกเลิกและจ่ายเงินชดเชยให้แก่ทหารที่เคยถูกปลดและถูกบันทึกลงในเอกสารปลดประจำการว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ หลังจากที่มีความพยามเรียกร้องและต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน

ชายเหล่านี้ เมื่อพวกเขาจับอาวุธและออกรบในสนามรบ พวกเขาก็เฉกเช่นทหารหรือผู้รักชาติคนอื่น ๆ ที่สละชีวิตของตนเองเพื่อชัยชนะของประเทศ เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็หาควรที่จะหยามศักดิ์ศรีหรือประณามหยามเกียรติเพียงเพราะรสนิยมทางเพศส่วนบุคคลที่พวกเขามี แต่สมควรที่จะได้รับการยกย่องไม่ต่างจากผู้กล้าชายและหญิงคนอื่น ๆ ที่ตบเท้าเข้ามาอาสารับใช้ชาติ ในช่วงเวลาที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองกำลังผจญกับภัยสงคราม

เหล่านี้คือเรื่องราวของทหารที่ “รักเพศเดียวกัน” ในสงครามโลก นับเป็นเรื่อง Y ในห้วงเวลาแห่งสงคราม แต่สำหรับยุคปัจจุบัน เชิญติดตามได้ที่งาน ‘FEED Y Capital’

Feed Y Capital 24 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ที่ SIAM SQUARE ลานจอดรถที่ 3 (SEE FAH) . พบกับนักแสดงซีรีส์ Y มากมาย และงานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

รายละเอียดเพิ่มเติม : feedforfuture.co/feed-read/7152

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Bethan Bell. (2017). Forbidden love: The WW2 letters between two men, from https://www.bbc.com/news/uk-england-38932955

Yorick Smaal. (2017). Belles in battle: how queer US soldiers found a place to express themselves in WWI, from https://theconversation.com/belles-in-battle-how-queer-us-soldiers-found-a-place-to-express-themselves-in-wwii-88019

Anya Crittenton. (2018). How gay men in World War II used drag to navigate an ‘abnormal environment’, from https://www.gaystarnews.com/article/gay-men-world-war-ii-drag/#gs.4dy19p

Wikipedia. Blue discharge, from https://en.wikipedia.org/wiki/Blue_discharge

Ross Benes. (2016). How Exclusion From the Military Strengthened Gay Identity in America, from https://www.rollingstone.com/culture/culture-news/how-exclusion-from-the-military-strengthened-gay-identity-in-america-125267/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2562