“อลัน ทัวริง” บิดาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร เพราะรักเพศเดียวกัน

ภาพของอลัน ทัวริง ขณะอายุ 16 ในปี 1928 (ภาพจาก Wikimediacommon)

อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์และนักรหัสวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ สร้างประโยชน์ให้โลกนี้อย่างมหาศาล แต่รสนิยมส่วนตัวเรื่องการรักเพศเดียวกัน ที่ย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้เขาถูกจับกุมเป็นอาชญากร ชีวิตของทัวริงต้องพบจุดจบอย่างน่าเศร้าสร้อย และกว่าจะได้รับการฟื้นฟูเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นเวลาเกือบ 60 ปี หลังเขาจากโลกนี้ไปแล้ว

ทัวริง เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเรียนจบภาควิชาคณิตศาสตร์ จากคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากนั้นไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ระหว่างเป็นอาจารย์อยู่นั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นในปี 1939 รัฐบาลอังกฤษรวบรวมนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิทั่วประเทศ เพื่อมาถอดรหัสเครื่องเอนิกม่า (อุปกรณ์เข้ารหัสในการสื่อสารทางการทหารและอื่น ๆ) ของกองทัพนาซี เยอรมนี ซึ่งทัวริงเองก็เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ที่เข้าร่วมด้วย

การถอดรหัสจากเครื่องเอนิกม่า เป็นเรื่องที่ยากแสนสาหัสมาก ผู้ถอดรหัสต้องมีโค้ดสำหรับการเซ็ตรหัสที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการเซ็ตทั้งหมดมีมากถึง 159 ล้านล้านล้านรูปแบบ นั่นทำให้ฝั่งนาซีมั่นใจในความปลอดภัยของเครื่องเอนิกม่าอย่างมากว่าจะไม่มีวันโดนเจาะรหัสอย่างเด็ดขาด

แต่แล้วทัวริงก็ค้นพบวิธีถอดรหัสของเครื่องเอนิกม่าได้สำเร็จในเดือนมีนาคม ปี 1940 และสามารถถอดใจความของรหัสปฏิบัติการทั้งหลายของกองทัพเยอรมันได้ ทำให้กองทัพอังกฤษสามารถรับมือกับกองทัพนาซีในการทำสงคราม เช่น สามารถวางแผนป้องกันการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน รวมถึงปฏิบัติการทางทหารต่าง ๆ ของกองทัพเยอรมัน ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับฝั่งอังกฤษได้อย่างมาก

แม้ผลงานของทัวริงจะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมาย แต่เรื่องทั้งหมดถือเป็นความลับทางการทหารของรัฐบาล ทัวริงจึงยังไม่ได้รับเครดิตนัก แต่เขาก็ยังคงทำงานให้หน่วยถอดรหัส รวมถึงทำงานวิชาการให้หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขายังได้รับรางวัลจากคุณงามความดีที่ทำ ด้วยการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE จากพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ

ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหนึ่งปี ทัวริงได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถโปรแกรมได้เครื่องแรกของโลก ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งชาติ และสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยมีต้นแบบจาก “Turing Machine” ที่เขาเคยประดิษฐ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั่นเอง

อนาคตทางการงานของทัวริงไปได้ดี เขาคือนักคณิตศาสตร์หนุ่มอนาคตไกล ส่วนชีวิตส่วนตัว เขาเริ่มคบหากับ อาร์โนลด์ เมอร์เรย์ (Arnold Murray) เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี โดยปิดเป็นความลับ แต่วันที่ 23 มกราคม ปี 1952 ขโมยขึ้นบ้านของทัวริง เขาจึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจให้มาจัดการกับหัวขโมย แต่เมื่อตำรวจมาถึงกลับพบหลักฐานว่าทัวริงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายภายในบ้านพัก ซึ่งในทศวรรษที่ 1950 รสนิยมการรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับ และผิดกฏหมายอาญาของอังกฤษอย่างร้ายแรง ทำให้ทัวริงและแฟนหนุ่มถูกจับกุมในที่สุด

เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ชื่อเสียงของทัวริงก็ตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งยังถูกไล่ออกจากงานทั้งหมด ต่อมาศาลมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าทัวริงและเมอร์เรย์มีความผิดจริง และเสนอให้ทัวริงเลือกระหว่างถูกจำคุกกับการฉีดฮอร์โมนให้อัณฑะฝ่อ เพื่อลดความต้องการทางเพศเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเขาเลือกข้อหลัง เพื่อเลี่ยงการติดคุก

หลังการพิจารณาคดีได้ 2 ปี ในวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1954 มีผู้พบทัวริงในวัย 41 ปี เสียชีวิตอยู่ในบ้านพัก จากการชันสูตรศพพบว่ามีสารไซยาไนด์ในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบถึงสาเหตุการตายที่แน่ชัดของทัวริง บ้างสันนิษฐานว่าฆ่าตัวตายเพราะความอับอายจากคดีรักร่วมเพศ หรือถูกฆ่าเพราะล่วงรู้ความลับของรัฐบาลมากเกินไป

เมื่อเวลาผ่าน สังคมเปลี่ยน ความคิดของผู้คนก็เปลี่ยน เมื่อตระหนักถึงเรื่องสิทธิและความหลากหลายมากขึ้น รสนิยมการรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิด ทำให้ในปี 2013 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พระราชทานอภัยโทษย้อนหลังแก่ทัวริง คิดเป็นเวลาถึง 59 ปี นับจากเขาเสียชีวิต

ต่อมาในปี 2017 รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้กฏหมาย อลัน ทัวริง เพื่อยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศ ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และลบชื่อผู้ต้องหากรณีนี้ในอดีตออกจากประวัติอาชญากรรมทุกคน จากนั้นเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษประกาศว่า อลัน ทัวริง ได้รับการคัดเลือกให้ปรากฏอยู่บนธนบัตร 50 ปอนด์ฉบับใหม่ พร้อมกับสิ่งประดิษฐ์ของเขา เพื่อเป็นเกียรติแก่ทัวริงที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ

อลัน ทัวริง ที่ยุคหนึ่งต้องกลายเป็นอาชญากร เพียงเพราะรสนิยมทางเพศไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคม มาวันนี้เขาได้รับการล้างมลทินโดยคนยุคหลัง ที่ตระหนักว่าไม่ว่าใครจะมีความชอบแบบใด ก็ไม่ควรถูกตัดสินให้มีความผิด และไม่ควรนำเรื่องนี้มาตัดสินตัวตนของใครทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Alan Turing. Access February 8th, 2023 from https://www.britannica.com/biography/Alan-Turing

Overlook No More: Alan Turing, Condemned Code Breaker and Computer Visionary. Access February 8th, 2023 from https://www.nytimes.com/2019/06/05/obituaries/alan-turing-overlooked.htm

History of Enigma. Access February 8th, 2023 from https://www.cryptomuseum.com/crypto/enigma/hist.htm

Alan Turing. . Access February 8th, 2023 from https://www.newscientist.com/people/alan-turing/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566