“ออปเพนไฮเมอร์” บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ออปเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู
ภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์ ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน รับบทโดย คิลเลียน เมอร์ฟีย์ และจูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ตัวจริง (ภาพจาก Universal Pictures และ Wikimedia Commons)

ออปเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้สร้างอาวุธทำลายล้าง จนทำให้สหรัฐอเมริกาเอาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงกลายเป็นวีรบุรุษของชาติในฐานะผู้คิดค้นอาวุธสุดล้ำหน้า ช่วยให้สงครามอันยาวนานจบลง หากชีวิตของเขากลับพลิกผัน เมื่อถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ กลายเป็นศัตรูแห่งชาติจนชื่อเสียงด่างพร้อย

ออปเพนไฮเมอร์ ฉายแววอัจฉริยะ

หากนึกถึงระเบิดปรมาณู เราอาจจะนึกถึงภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ E = mc2  ซึ่งนำมาใช้สร้างระเบิดปรมาณู ทว่า ระเบิดปรมาณูไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้หาก “ออปเพนไฮเมอร์” นักฟิสิกส์ทฤษฎี ไม่ได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการอภิมหาโครงการที่ชื่อว่า “โครงการแมนฮัตตัน” (Manhattan Project) ซึ่งระดมพลนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิมาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอาวุธที่จะนำมาใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2

Advertisement

ออปเพนไฮเมอร์ หรือชื่อเต็ม จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1904 ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชายผู้อพยพชาวเยอรมัน ซึ่งร่ำรวยจากการนำเข้าสิ่งทอในนครนิวยอร์ก เขามีน้องชายหนึ่งคน คือ แฟรงก์ ออปเพนไฮเมอร์ (Frank Oppenheimer) 

ออปเพนไฮเมอร์เป็นเด็กไม่ค่อยชอบเข้าสังคม จึงมักถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ ทำให้เขาชอบปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือ มีหนังสือแนวที่ชื่นชอบคือวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ 

การอ่านหนังสือทำให้ออปเพนไฮเมอร์ดำดิ่งไปในโลกของวิทยาศาสตร์ เขาศึกษาเรื่องแร่ธาตุอย่างถ่องแท้ ถึงกับเขียนจดหมายไปถึงสมาคมแร่วิทยานิวยอร์ก (New York Mineralogical Club) สมาคมเก่าแก่ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับแร่วิทยาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สมาคมประทับใจในความเก่งกาจของออปเพนไฮเมอร์ จนเชิญไปบรรยายในระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่รู้ว่าเขาอายุเพียง 12 ปี 

ออปเพนไฮเมอร์ในวัย 19 ปี เข้าเรียนสาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาข้ามไปลงเรียนวิชาชั้นสูงโดยไม่ต้องลงเรียนวิชาพื้นฐาน ช่วงนั้นชายหนุ่มได้เรียนเคมีและฟิสิกส์ ควบคู่กับการเรียนภาษาละติน กรีก บาลี สันสกฤต และปรัชญาตะวันออก พร้อมกับการตีพิมพ์บทกวี และจบการศึกษาในเวลา 3 ปี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 

หลังสำเร็จการศึกษา ออปเพนไฮเมอร์ค้นพบว่า ตนเองหลงใหลในฟิสิกส์ จึงเริ่มต้นทำงานด้านฟิสิกส์ในระดับปริญญาโท โดยเป็นนักวิจัยในห้องทดลองคาเวนดิช มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1925 ซึ่ง เจ.เจ. ธอมสัน (J. J. Thomson) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1906 ตกลงรับเขาเป็นนักเรียนที่คาเวนดิช 

การวิจัยในห้องทดลองทำให้ออปเพนไฮเมอร์ตระหนักว่า พรสวรรค์ของเขามีไว้สำหรับฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ไม่ใช่เชิงทดลอง  

ปี 1927 แม็กซ์ บอร์น (Max Born) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี เชิญออปเพนไฮเมอร์มาที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงน เพื่อศึกษาทฤษฎีร่วมกันในระดับปริญญาเอกที่เยอรมนี ซึ่งขณะนั้น นักฟิสิกส์ชื่อดังต่าง ๆ ในยุโรปกำลังพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ออปเพนไฮเมอร์ซึ่งได้พบนักฟิสิกส์เหล่านั้น จึงหลงใหลในทฤษฎีควอนตัม 

ออปเพนไฮเมอร์จบปริญญาเอกในปี 1927 ด้วยวัยเพียง 23 ปี และรับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ สังกัดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย การทำงานที่นี่ทำให้เขารู้จักเพื่อนในแวดวงนักวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งต่อมาจะมีส่วนร่วมกับออปเพนไฮเมอร์ในอนาคต 

“โครงการแมนฮัตตัน” ทดลองลับสุดยอด

หลังสหรัฐฯ เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1941 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็รู้ข่าวว่า ฝ่ายนาซีเยอรมนีกำลังคิดค้นอาวุธเคมีที่มีอานุภาพร้ายแรง คือ ระเบิดปรมาณู ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ฝ่ายสัมพันธมิตรอาจพ่ายแพ้ย่อยยับ 

สหรัฐฯ จำเป็นต้องเร่งสร้างระเบิดปรมาณูให้เสร็จก่อนนาซี จึงระดมนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิ มาทำงานใน โครงการแมนฮัตตัน เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมี นายพล เลสลี โกรฟส์  (General Richard Groves) เป็นผู้นำโครงการ และมีออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ 

ออปเพนไฮเมอร์ลาออกจากการเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อมาทำงานในโครงการแมนฮัตตัน เขาสามารถทำให้นายพลโกรฟส์ประทับใจจากการอธิบายการออกแบบและการสร้างระเบิดปรมาณู พร้อมกับความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งฟิสิกส์ เคมี โลหะวิทยา อาวุธยุทโธปกรณ์ และวิศวกรรม และแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มุ่งมั่นทะเยอทะยานอย่างล้นเปี่ยม จนนายพลโกรฟส์ชื่นชม 

ออปเพนไฮเมอร์เป็นคนเลือกสถานที่ตั้งโครงการด้วยตนเอง เมื่อเป็นภารกิจลับสุดยอด ที่ตั้งจึงต้องห่างไกลจากบ้านเรือนและผู้คน รวมทั้งต้องมีระบบคุ้มกันที่แน่นหนา ที่สุดก็ปักหลักบริเวณภูเขายอดราบ (Mesa) แห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือรัฐนิวเม็กซิโก ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2,200 เมตร และห่างจากเมืองกว่า 64 กิโลเมตร 

โครงการแมนฮัตตันขยายพื้นที่จนเป็นเมืองขนาดเล็ก มีการสร้างตึกรองรับนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับสุดยอดราว 6,000 คน ตึกทุกหลังทาด้วยสีเขียวเพื่อให้กลมกลืนไปกับผืนป่า เวลากลางคืนบนท้องถนนจะไม่มีแสงไฟ มีรั้วลวดหนามล้อมเพื่อกันคนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า ประชาชนหรือศัตรูจึงไม่อาจรับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการแมนฮัตตัน 

หลังจากซุ่มพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง ในที่สุดการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกก็เกิดขึ้นเมื่อ 16 กรกฎาคม ปี 1945 เวลา 05.30 น. กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ห่างจากลอสอาลาโมสไปทางใต้เกือบ 320 กิโลเมตร 

ขณะที่ออฟเพนไฮเมอร์เห็นผลการทดสอบ เขารำลึกถึงถ้อยคำในคัมภีร์ภควัทคีตา คัมภีร์ศาสนาฮินดูว่า 

“I am become Death, the Destroyer of Worlds” 

“ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล”

ระเบิดปรมาณู “ตราบาป” ในใจ 

หลังการทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรกไม่นาน ออปเพนไฮเมอร์ได้เสนอให้ แฮร์รี่ ทรูแมน (Harry Truman) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด นำสู่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 

ในวันทิ้งระเบิด ออปเพนไฮเมอร์และทีมงานต่างโห่ร้องยินดีกับความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ออปเพนไฮเมอร์ก็รู้สึกเสียดายที่พัฒนาอาวุธนี้ไม่ทันใช้กับนาซีเยอรมัน

แต่เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกที่นางาซากิ เมื่อ 9 สิงหาคม ปี 1945 ออปเพนไฮเมอร์และทีมงานหลายคนไม่พอใจอย่างมาก เพราะไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องใช้ระเบิดลูกที่สองกับญี่ปุ่นที่บอบช้ำอย่างหนักจากผลของระเบิดปรมาณูลูกแรก

ความเสียหายหลังทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นรุนแรงกว่าที่ออปเพนไฮเมอร์คาดคิด กลายเป็นตราบาปในใจของเขาจวบจนลมหายใจสุดท้าย 

ออปเพนไฮเมอร์เดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม โดยแสดงความรังเกียจต่อปฏิบัติการดังกล่าว และปรารถนาจะเห็นการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเมื่อถึงเดือนตุลาคม ปี 1945 เขามีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดีทรูแมน และคร่ำครวญกับทรูแมนว่า เขารู้สึกมือเปื้อนเลือด ทรูแมนโกรธและจบการสนทนา พร้อมบอกกับ ดีน อาคีสัน รองรัฐมนตรีต่างประเทศ ว่า “ผมไม่ต้องการเห็นไอบ้านั่นในออฟฟิศนี้อีกต่อไป” 

ออปเพนไฮเมอร์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับจริยธรรม เพราะแม้เขาจะสามารถสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้มนุษยชาติ แต่ผลงานของเขากลับเป็นสิ่งเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตผู้บริสุทธิ์มากมาย 

ถูกตีตรา “คอมมิวนิสต์” 

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของโครงการแมนฮัตตันได้เผยแพร่สู่สาธารณชน สื่อต่างพร้อมใจกันขนานนามออปเพนไฮเมอร์ว่า “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ในฐานะวีรบุรุษของชาติ ได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Time ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1948 และนิตยสาร Life ในเดือนตุลาคม ปี 1949 

ปี 1947 ออปเพนไฮเมอร์รับคำเชิญจากลูอิส สเตราส์ (Lewis Strauss) เข้าทำงานเป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาขั้นสูง (The Institute for Advanced Study-IAS) ที่ปรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ และทำงานเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติ (Atomic Energy Commission-AEC) หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมและควบคุมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรมาณู

แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เข้าสู่ช่วงสงครามเย็น สองขั้วมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ ผู้นำโลกเสรี กับสหภาพโซเวียต ผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ ขับเคี่ยวอย่างรุนแรง สหรัฐฯ ซึ่งประมาทว่า ตนเองมีอาวุธปรมาณู กลับต้องหวาดหวั่น เมื่อโซเวียตสร้างระเบิดปรมาณูสำเร็จในปี 1949 

บรรดานักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ หลายคนเห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ ต้องสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังในการทำลายมากกว่าระเบิดปรมาณูหลายพันเท่า แต่ออปเพนไฮเมอร์กลับไม่เห็นด้วย

ออปเพนไฮเมอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและนักบริหารที่เยี่ยมยอด หากยังอ่อนหัดทางการเมือง เพราะเขาเข้าใจว่าในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติ จะทำให้นักการเมืองและนักการทหารรับฟังข้อเสนอการยุติการสร้างอาวุธร้ายแรง แต่นั่นกลับไปขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ในรัฐบาล  

พวกเขาจึงหาช่องทางเล่นงานออปเพนไฮเมอร์ โดยกล่าวหาว่า เขาเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นสายลับให้โซเวียต ที่อาจนำความลับการสร้างระเบิดปรมาณูไปบอกฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นการทรยศต่อชาติ เนื่องจากคนใกล้ตัวออปเพนไฮเมอร์ คือ แคทเทอรีน พิวนิง (Katherine Puening) ภรรยา และ แฟรงก์ น้องชายของเขา เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา 

ออปเพนไฮเมอร์ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ดังเช่นภรรยาและน้องชาย จึงโดนหางเลขไปด้วย 

ด้วยข้อหาที่รุนแรง สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI จึงดำเนินการสอบสวนออปเพนไฮเมอร์ อีกทั้งยังดักฟังและติดตามตัวเขาทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แม้ว่าจะหาหลักฐานไม่ได้ แต่ข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ทำให้ชีวิตของเขาต้องด่างพร้อยและแทบพังทลาย แม้ไม่ได้สูญเสียตำแหน่งที่สถาบันการศึกษาขั้นสูงที่ปรินซ์ตัน แต่ออปเพนไฮเมอร์ก็ถูกห้ามเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ AEC ข้อกล่าวหานี้ยังทำให้สื่อมวลชนและชาวอเมริกันสงสัยในตัวเขา จนออปเพนไฮเมอร์ไม่มีโอกาสแสดงตัวทางวิชาการมากนัก เพราะถูกจับจ้องด้วยสายตาเคลือบแคลง

ออปเพนไฮเมอร์ต้องอดทนต่อสู้กับข้อกล่าวหาจนถึงปี 1954 เมื่อ FBI ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ โดยเชิญเพื่อนร่วมงานหลายคนของออปเพนไฮเมอร์มาเป็นพยาน และยืนยันได้ว่า เขายังคงจงรักภักดีต่อสหรัฐฯ ข้อกล่าวหาที่ว่าออปเพนไฮเมอร์ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จึงเป็นอันตกไป แต่เขาก็ถูกปลดออกจากการทำงานให้รัฐไปแล้ว 

“ออปเพนไฮเมอร์” จากผู้พัฒนาสู่ผู้ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์

ตั้งแต่ปี 1954 ออปเพนไฮเมอร์ตัดสินใจไปพักผ่อนกับครอบครัวที่หมู่เกาะเวอร์จินนานหลายเดือน และกลับเข้าสู่วงการวิชาการอีกครั้ง เขายังคงมีจุดยืนต่อต้านโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ มีแผนเร่งผลิตและสั่งสมระเบิดปรมาณูมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับโลกคอมมิวนิสต์ และก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์  

ความกังวลใจดังกล่าวของออปเพนไฮเมอร์ทำให้เขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับอนาคตของวิทยาศาสตร์ และการหาแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคม 

จนกระทั่งปี 1973 จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มอบรางวัลเอ็นริโก รางวัลยกย่องนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติของสหรัฐฯ แก่ออปเพนไฮเมอร์ ในฐานะนักฟิสิกส์ทฤษฎี และผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน 

ออปเพนไฮเมอร์ต่อต้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตราบจนวาระสุดท้าย เขาเสียชีวิตด้วยวัย 62 ปี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 1967 ด้วยโรคมะเร็งลำคอ ที่บ้านในพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ พิธีศพซึ่งจัดขึ้นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่อเล็กซานเดอร์ ฮอลล์ ในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มีนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และทหาร มาร่วมแสดงความอาลัยกว่า 600 คน

ปิดฉากชีวิตบุรุษนาม “ออปเพนไฮเมอร์” นักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้พัฒนาระเบิดปรมาณู ที่หันกลับมาต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตลอดชีวิต 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Atomic Heritage Foundation. n.d. “J. Robert Oppenheimer – Nuclear Museum.” Https://Ahf.nuclearmuseum.org/. https://ahf.nuclearmuseum.org/ahf/profile/j-robert-oppenheimer/.

BANCO, LINDSEY MICHAEL. “THE BIOGRAPHIES OF J. ROBERT OPPENHEIMER: DESERT SAINT OR DESTROYER OF WORLDS.” Biography 35, no. 3 (2012): 492–515. http://www.jstor.org/stable/23541147.

NGThai. 2023. “เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู.” National Geographic Thailand. July 12, 2023. https://ngthai.com/history/50110/oppenheimer-history/.

Rouzé, Michel. 2018. “J. Robert Oppenheimer | Biography.” In Encyclopædia Britannica. https://www.britannica.com/biography/J-Robert-Oppenheimer.

“June 29, 1954: Oppenheimer’s Security Clearance Revoked.” 2020. @Apsphysics. 2020. https://www.aps.org/publications/apsnews/200106/history.cfm.

บัญชา ธนบุญสมบัติ. เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ “ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะ” “ผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล”. มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 43, ฉบับที่ 2240 (21-27 กรกฎาคม 2566): หน้า 47

“ออปเพนไฮเมอร์: ชีวิตน่าพิศวงของ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู.’” 2023. BBC News ไทย. July 17, 2023. https://www.bbc.com/thai/articles/c8057p9nx5ko.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566