นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ที่เสียชีวิตจากงานทดลอง

(จากซ้าย) จอห์น บี. เคอร์ติส, โจเซฟ กลิดเด็น, มารี กูรี

แดเนียล ฟาห์เรนไฮต์ (ค.ศ. 1686-1736) นักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ผู้เปลี่ยนสื่อวัดจากแอลกอฮอล์มาเป็นปรอท ฟาห์เรนไฮต์เดินออกไปนอกอาคารที่มีอากาศหนาวเยือก ทดลองวัดผลกระทบของความเย็นเยือกแข็งบนร่างตัวเขาเอง เขาเสาะหาวิธีวัดพิสัยอุณหภูมิที่มนุษย์จะรอดชีวิตอยู่ได้ หรือในฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงมาก จนเขาแทบขาดใจตาย เขาก็ยังทำการทดลอง

ภาพลายเส้น ฟาเรนไฮต์ขณะทำการทดลอง

ฟาเรนไฮต์ได้ทดลองเปลี่ยนมาใช้ปรอทเป็นสื่อวัด ซึ่งผลที่ได้คือช่วยให้เทอร์โมมิเตอร์รายงานผลได้อย่างแม่นยำในอีกหลายศตวรรษต่อมา แต่การใช้ปรอททำให้เขาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เขาระมัดระวังไม่ให้สารเคมีที่เขาทดลองหลุดเข้าปาก แต่ที่เขาไม่ทราบว่าปรอทซึมผ่านผิวหนัง จนทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตในปี 1736 อายุ 50 ปี

โจเซฟ กลิดเด็น (ค.ศ. 1813-1906) ผู้คิดประดิษฐ์ “ลวดหนาม” ในปี 1873 แม้ปัจจุบันมันอาจไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์น่าทึ่งอะไร แต่ในอดีตยุคหนึ่ง ต้องถือว่าเป็นส่วนสำคัญในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ลวดหนามใช้ทำรั้วล้อมกันทุ่งโล่ง เพื่อนำวัวมาเลี้ยงไว้ในเขตพื้นที่ส่วนตัวที่กำหนดไว้แน่ชัด

เมื่อถึงทศวรรษ 1890 ท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาลในอเมริกา ล้อมด้วยรั้วลวดหนาม ปิดยุคคาวบอยจรม้าตระเวนท้องทุ่งไปโดยสิ้นเชิง กลิดเด็นเป็นร่ำรวยเป็นเศรษฐีแห่งยุคจากรั้วลวดหนาม แต่เขาก็เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อจากบาดแผลที่ไม่ยอมสมาน เพราะก่อนจะมีการค้นคิดยาปฏิชีวนะ บาดแผลเล็กน้อยจากรอยเกี่ยวของรั้วลวดหนาม ลุกลามกลายเป็นความตาย เหมือนคนงานในไร่และสัตว์เลี้ยงที่ได้รับบาดแผลจากรั้วลวดหนามสิ่งประดิษฐ์ของเขา

จอห์น บี. เคอร์ติส (ค.ศ.1827-1897) ผู้ประดิษฐ์หมากฝรั่ง จากประสบการณ์ที่ได้เห็นอินเดียนแดงเคี้ยวยางต้นสปรูซ เคอร์ติสจึงเริ่มทดลองเคี่ยวยางไม้เหนือเตาผิง และหาสูตรที่เหมาะสมทดลองเคี้ยวยางขมหลายสูตร

จนประสบความสำเร็จในปี 1848 และมีการเปิดโรงงานผลิตหมากฝรั่งแห่งแรกในอเมริกา ทั้งความชื่นชอบการเคี้ยวหมากฝรั่ง และความจำเป็นที่ต้องทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยตนเอง เคอร์ติส เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เพราะหมากฝรั่งติดคอ

มารี กูรี (1867-1934) เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1903 สาขาฟิสิกส์ และเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 ครั้ง อีกครั้งในปี 1911 สาขาเคมี เธอเป็นผู้ค้นพบธาตุกัมมันตรังสี 2 ชนิดคือ เรเดียม และโปโลเนียม ซึ่งเปิดไปสู่ความเจริญรุดหน้าของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์

หลังจากได้รับรางวัลโนเบลครั้งหลังในปี 1911 ได้ไม่นาน กูรีต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาอาการซึมเศร้า และโรคไตเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไป จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1934 อายุ 66 ปี ด้วยโรคไขกระดูกฝ่อ ภาวะที่ไขกระดูกได้รับกัมมันตภาพรังสี

สำหรับกูรี มันน่าเศร้ากว่านั้นอีก เพราะงานของเธอยังส่งผลกระทบกับบุตรสาว

อีแรน โชลิโย กูรี (ค.ศ. 1897-1956) บุตรสาวของกูรี เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเช่นเดียวกับมารดา จากงานศึกษานิวตรอน ปี 1938 ทว่าเธอเสียชีวิตในปี 1956 อายุ 58 ปี จากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะได้รับกัมมันตภาพรังสีจากการช่วยงานวิจัยของมารดา

นี่ก็แค่บางส่วนของนักวิทยาศาสตร์ และนักประดิษฐ์ที่เจ็บป่วย และเสียชีวิต เนื่องจากงานทดลองของเขา แต่ทิ้งผลงานไว้ในคนรุ่นหลัง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ไมเคิล ลาร์โก-เขียน, นพดล เวชสวัสดิ์-แปล. ประวัติศาสตร์ความตายฉบับคนดัง. สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2566