ที่มาระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงการสุดลับของอเมริกา

การทดสอบ ระเบิดปรมาณู
นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่กำลังผูกโยงระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก เพื่อดึงขึ้นบนหอคอย ที่สถานีทดลองระเบิดทรินิตี้ รัฐนิวเม็กซิโก วันที่ 6 กรกฎาคม 1945 (ภาพจาก “แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2”)

ที่มา “ระเบิดปรมาณู” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงการสุดลับของอเมริกา

เดือนสิงหาคม 1939 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนจดหมายถึง ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ กล่าวถึงงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากอานุภาพของยูเรเนียม ไอน์สไตน์กล่าวว่าสงครามยุคใหม่จะเกิดขึ้น จากผลลัพธ์ในการสร้างระเบิดที่มีพลานุภาพสูงสุด การทิ้งระเบิดดังกล่าวเพียงลูกเดียวสามารถทําลายท่าเรือทั้งท่ารวมถึงบริเวณใกล้เคียง และขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพราะขณะนั้นเยอรมันเริ่มตระหนักถึงความสําคัญของการวิจัยนี้ และสั่งระงับการขายยูเรเนียมจากยุโรปให้อเมริกาแล้ว

จดหมายฉบับนั้นได้ผลตอบรับตามวัตถุประสงค์

รูสเวลท์จัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านยูเรเนียม” ที่นําโดยไลแมน บริกส์ กําหนดให้รายงานเกี่ยว กับสถานะการวิจัยปรมาณูของอเมริกาทั้งหมด เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 คณะกรรมการรายงานกลับไปว่ายูเรเนียม “จะเป็นแหล่งพลังงานให้ระเบิดที่มีอานุภาพทําลายล้างรุนแรงกว่าทุกๆ อย่างที่เคยรู้จักกันมา”

คณะกรรมการยูเรเนีม เอส-1 (จากซ้ายมาขวา) แฮโรลด์ ซี.อูเรย์, เออร์เนสต์ โอ. ลอว์เรนซ์, เจมส์ บี. โคแนนท์, ไลแมน เจ.บริกส์, อี.วี. เมอร์ฟรี แลอาเธอร์ คอมป์ตัน เมื่อ 13 กันยายน 1942 (ภาพจาก “แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2”)

รูสเวลท์เห็นชอบให้คณะนักวิทยาศาสตร์เริ่มต้นทํางานพัฒนาระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 โดยกําหนดให้กองทัพเป็นผู้รับผิดชอบและบริหารงานโครงการโดยรวม และใช้ชื่อรหัสโครงการว่า “โครงการแมนฮัตตัน เพราะคนจํานวนมากที่เกี่ยวข้องพํานักอยู่ในศูนย์วิจัยทั้ง 10 แห่ง ในแมนฮัตตัน”

งานทั้งหมดเริ่มอย่างเป็นความลับขั้นสุดยอด แม้จะมีผู้เกี่ยวข้องในโครงการแมนฮัตตันราว 5,000 คน แต่แทบไม่มีใครรู้วัตถุประสงค์สูงสุดของโครงการ ต่างคนต่างทําหน้าที่ภายในขอบเขตจํากัดที่ตนเชี่ยวชาญ องค์กรที่เป็นหัวใจของงานวิจัยนี้คือคณะกรรมการยูเรเนียม เอส-1 (ภายหลังตัดคําว่า “ยูเรเนียม” ทิ้งไปเพื่อรักษาความลับ)

ด้วยเงินทุนดําเนินโครงการแมนฮัตตันนั้นที่มีให้ไม่จํากัด ทางคณะกรรมการเริ่มดึงตัวนักวิทยาศาสตร์ระดับสุดยอดของโลกจากหลายประเทศมาเข้าร่วม รวมถึงนักทฤษฎีฟิสิกส์คนสำคัญ โรเบิร์ต ออพเพนไฮม์เมอร์ ที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยการคํานวณค่าของนิวตรอนเร็ว (fast neutron) ซึ่งมีความจําเป็นอย่างยิ่งต่อการทําความเข้าใจมวลวิกฤต (critical mass) และ การจุดระเบิดอาวุธชนิดนี้

หลังการทดลองประสบความสําเร็จ ลีโอ ซีลาร์ด หนึ่งในทีมงานสําคัญเบื้องหลังโครงการสร้างอาวุธปรมาณูของอเมริกา จัดการร่างคําร้องที่มีนักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนฮัตตันรวม 69 คนร่วมลงนามคัดค้านการใช้ระเบิดนี้ไปใช้กับพลเรือน แม้ในเวลานั้นสงครามกับเยอรมนีจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ แฮร์รี ทรูแมน (ประธานาธิบดีที่รับตำแหน่งต่อจากรูสเวลท์) ก็ได้รับคําแนะนําจากแกนนําทางทหารให้ใช้ระเบิดนี้กับญี่ปุ่น

ซีลาร์ดและนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมลงนามคําร้องระบุไว้ในคําร้องว่า

เราผู้มีรายนามปรากฏต่อท้ายนี้ขอยื่นคําร้องที่ทําขึ้นด้วยความเคารพไว้ ดังนี้ ประการแรก ท่านควรใช้อํานาจในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อออกคําสั่งไม่ให้อเมริกาพึ่งพาระเบิดปรมาณูในสงครามครั้งนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการกําหนดเงื่อนไขเป็นทางเลือกให้ฝ่ายญี่ปุ่น โดยเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างละเอียด และญี่ปุ่นซึ่งล่วงรู้ถึงเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นปฏิเสธที่จะยอมจํานน ประการที่ 2 ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าว ท่านควรเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าจะใช้หรือไม่ใช้ระเบิดปรมาณู การชี้ขาดดังกล่าวควรกระทําหลังผ่านการพิจารณาข้อเสนอในคําร้องนี้ รวมถึงความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ประธานาธิบดีทรูแมนเองก็บันทึกถึงอานุภาพของระเบิดนี้ไว้ในไดอารี่ของเขา เมื่อรู้ผลความสําเร็จของการทดลองว่า “เราได้ค้นพบระเบิดที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์โลกแล้ว มันอาจเป็นไฟประลัยกัลป์ที่เคยพยากรณ์เอาไว้ในยุคแห่งลุ่มน้ำยูเฟรติส หลังโนอาห์สร้างเรืออาร์คสําเร็จ”

ทรูแมนสอบถาม พลเอก จอร์จ มาร์แชล ประธานคณะเสนาธิการทหารอเมริกาว่า หากสั่งการยกพลขึ้นบกบุกญี่ปุ่นจะเกิดการสูญเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด คำตอบที่ได้คือ “การบุกดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียของฝ่ายอเมริกันอย่างต่ำที่สุดราว 250,000 นาย”

ทรูแมนเตือนญี่ปุ่นว่าตนมีอาวุธร้ายแรงน่ากลัวชนิดใหม่และเรียกร้องให้ยอมจํานน แต่เขาถูกปฏิเสธ ทรูแมนก็สั่งการให้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกใส่ญี่ปุ่น

จุดที่จะเป็นเป้าหมายทิ้งระเบิด มีการหารือกันอย่างเคร่งเครียดนานหลายเดือน ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 รายชื่อเมืองเป้าหมายร่างขึ้นมาประกอบด้วย อ่าวโตเกียว คาวาซากิ โยโกฮามา นาโงยา โอซาก้า โกเบ เกียวโต ฮิโรชิมะ คูเระ ยาฮาตะ โคคุระ ชิโมะโนะเซกิ ยามะกุจิ คุมาโมโต้ ฟุกุโอกะ นางาซากิ ซาเซะโบะ แต่ถึงเดือนกรกฎาคมรายชื่อก็เหลือเพียง ฮิโรชิมะ โคคุระ นีงาตะ และนางาซากิ สุดท้ายสรุปกันในวันที่ 31 กรกฎาคม ว่าเป้าหมายคือ ฮิโรชิมะ

เมื่อเลือกเป้าหมายได้ก็ต้องเลือกทีมปฏิบัติการทิ้งระเบิด

พันเอก พอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ นักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มากประสบการณ์ ได้รับเลือกในภารกิจนี้  วันที่ 6 สิงหาคม 1945 ทิบเบตส์ นําเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-29 บรรทุก “ลิตเติลบอย” ระเบิดยูเรเนียม-235 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร เจ้าหน้าที่บนเครื่องอีก 10 กว่านาย ไม่มีใครรู้ว่าระเบิดที่บรรทุกคือระเบิดอะไร ทิบเบตส์เปิดเผยความลับให้รับรู้กันหลังออกเดินทางแล้ว 4 ชั่วโมง แต่ความลับที่เขาไม่ได้เปิดเผยก็คือเขามีไซยาไนด์อีกกว่าสิบเม็ดสําหรับแจกจ่าย ให้ทุกคนกินในกรณีที่เครื่องบินถูกยิงตก ผู้บังคับบัญชายังกําชับว่าใครก็ตามที่ปฏิเสธการกินไซยาไนด์ให้ยิงทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นจับใครเป็นเชลย

แล้วฮิโรชิมะก็ถูกทําลายล้างเพราะอํานาจระเบิดดังกล่าว

ฮิโรชิมะ หลังจาก การทิ้งระเบิด
6 สิงหาคม 1945 ภาพมุมสูงเมืองฮิโรชิมะ หลังจากการทิ้งระเบิด (ภาพจาก “แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2”)

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นประเมินว่าอาคารบ้านเรือนเกือบ 70% ในเมืองฮิโรชิมะถูกทําลายยับ อีก 6-7% ได้รับความเสียหาย มีคนเสียชีวิตจากการระเบิดและพายุเพลิงที่เกิดขึ้นตามมา 70,000-80,000 คน คิดเป็น 30% ของประชากรในเมือง ประชาชนอีกหลายพันคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีไปตลอดชีวิต

ลการทําลายล้างของ “ระเบิดปรมาณู” น่าตื่นตระหนก แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้

ทรูแมนจึงสั่งการให้ทิ้งระเบิดลูกที่ 2 คราวนี้เป็นระเบิดพลูโทเนียม ระเบิดลูกใหม่มีชื่อเล่นว่า “แฟตแมน” หนัก 4,670 กิโลกรัม ทิ้งลงที่นางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คนเพราะระเบิดนี้

นอกจากนี้อเมริกายังเตรียมการที่จะทิ้งระเบิดลูกที่ 2 แล้ว แต่ในวันที่ 14 สิงหาคม ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเสียก่อน

ระเบิดปรมาณู ฮิโรชิมา นางาซากิ
(ซ้าย) การระเบิดที่ฮิโรชิมา (ขวา) การระเบิดที่นางาซากิ [ภาพโดย George R. Caron (ซ้าย) และ Charles Levy (ขวา)]
การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ และนางาซากิ เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกว้างขวาง ขณะที่ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าเป็นหนทางเดียวที่จะชนะญี่ปุ่นได้ อีกหลายฝ่ายก็ประณามว่าเป็นการล่วงละเมิดอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ

เรื่องเดียวที่ไม่มีการถเถียงเรื่องคือ อานุภาพทำลายล้างของมัน และหวังว่าจะไม่มีการนำมาใช้อีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

Garvin Mortimer- เขียน, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์-แปล. แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2563