เปิดชีวิตของ ซึโตมุ ยะมะกุจิ ผู้รอดจากระเบิดปรมาณูทั้งที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ

ซึโตมุ ยะมะกุจิ (Tsutomu Yamaguchi) ผู้โชคดีที่รอดชีวิตระเบิดปรมาณูถึง 2 ครั้ง ที่ฮิโรชิมา (6 ส.ค. 2488) และนางาซากิ (9 ส.ค. 2488) ท่ามกลางผู้เสียชีวิตหลายแสน แม้ว่าจะมีผู้รอดชีวิตราว 100 คน จากการทิ้งระเบิดทั้งสองครั้ง แต่ยะมะกุจิเป็นเพียงคนเดียวที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่ารอดชีวิตจากระเบิดสองครั้งนั้น

ซึโตมุ ยะมะกุจิ (16 มีนาคม 2459 – 4 มกราคม 2553) ชาวเมืองนางาซากิ เป็นวิศวกรที่ทำงานในบริษัท มิตชูบิชิ (Mitsubishi) ในเดือนสิงหาคม 2488 ยะมะกุจิเดินทางไปเมืองฮิโรชิมาเพื่อติดต่อธุรกิจให้กับบริษัท และนั่นทำให้เขาต้องพบการกับทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกในโลก จากฝีมือของสหรัฐอเมริกา

6 สิงหาคม 2488 เวลา 8.15 ระเบิดปรมาณู ขนาด 3 x 0.7 เมตร น้ำหนัก 4,400 กิโลกรัม ชื่อ Little Boy ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ผู้ที่อยู่ในรัศมีเขตศูนย์กลางจะเสียชีวิตทันที่โดยไม่รู้สึกตัว และร่างกายจะแปรสภาพเป็นเถ้าถ่านในชั่วพริบตา การทิ้งระเบิดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 240,000 คน

แต่ยะมะกุจิรอดชีวิตแม้จะได้รับบาดเจ็บ หากเขาเลือกเดินทางออกจากฮิโรชิมากลับบ้านที่นางาซากิ ที่ทำให้เขาต้องเจอระเบิดปรมาณูเป็นครั้งที่ 2 ในอีก 3 วันต่อมา

ยะมะกุจิมาถึงนางาซากิในตอนเช้าวันที่ 8 สิงหาคม เขาโซเซไปโรงพยาบาลในสภาพที่มีรอยไหม้ดำที่มือและใบหน้า จนแพทย์ที่ทำรักษาซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนก็จำเขาไม่ได้ ก่อนจะเข้าบ้านไปสร้างความตกใจให้คนในครอบครัวอีกรอบ

ซึโตมุ ยะมะกุจิ
ซึโตมุ ยะมะกุจิ (Tsutomu Yamaguchi) (Photo by JIJI PRESS / JIJI PRESS / AFP)

9 สิงหาคม 2488 ยะมะกุจิเข้าบริษัทเพื่อรายงานเหตุการณ์ (วันที่ 6 สิงหาคม) ที่เกิดขึ้นในฮิโรชิมาให้กับผู้อำนวยการบริษัท แต่หัวหน้างานของยะมะกุจิกลับกล่าวตำหนิว่า เขาเป็นบ้าไปแล้ว เป็นไม่ได้ที่ระเบิดเพียงลูกเดียวจะทำลายเมืองทั้งเมืองได้อย่างไร? ทว่าในเพียงอีกไม่กี่นาที หัวหน้าของเขาก็ได้รับคำตอบที่ชัดเจนด้วยตนเอง

เวลา 11.02 ของวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ระเบิดประมาณูลูกที่ 2 ขนาด 3.5 x 1.5 เมตร น้ำหนัก 4,500 กิโลกรัมชื่อว่า Fat Man มีขนาดของแรงระเบิดเท่ากับระเบิด ที.เอ็น.ที. 22 กิโลตัน ซึ่งรุนแรงกว่า Little Boy ที่ฮิโรชิมา แต่สภาพภูมิศาตร์ของเมืองที่เป็นเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ สลับกัน ทำให้ผลการทำลายไม่รุนแรงเท่าที่ฮิโรชิมา ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 74,000 คน

ยะมะกุจิยังโชคดี เขายังคงรอดชีวิตอีกครั้ง เมื่อตั้งสติได้เขารีบตรงกลับมาที่บ้านด้วยความเป็นห่วงคนในครอบครัว บ้านพังเสียหาย หากภรรยาและลูกปลอดภัยดี เพราะพวกเขาสองลงหลุมหลบภัยได้ทันระหว่างออกไปหาซื้อยาสำหรับผิวหนังที่ถูกเผาไหม้ของยะมะกุจิ

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ผลกระทบจากระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ครั้ง ที่ยะมะกุจิพบเจอก็แสดงผลออกมากับร่างกายของเขา เช่น ผมเริ่มร่วง, แผลที่แขนกลายเป็นเนื้อร้าย, อาเจียนไม่หยุด, เป็นไข้, กินอาหารและดื่มน้ำแทบไม่ได้ ฯลฯ แต่ยะมะกุจิก็ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จนสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ

ยะมะกุจิ เรียบเรียงความทรงจำอันโหดร้อยและน่ากลัวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทกวี แต่ก็หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ ประมาณปี 2543 บันทึกของยะมะกุจิตีพิมพ์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านอาวุธปรมาณู ปี 2549 ยะมะกุจิเดินทางไปกล่าวปาฐกถาเพื่อสนับสนุนการลดอาวุธปรมาณู ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่หประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารเมื่อปี 2552 ด้วยวัย 93 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

The Man Who Survived Two Atomic Bombs, https://www.history.com/news/the-man-who-survived-two-atomic-bombs, สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2563

Tsutomu Yamaguchi Japanese engineer, translator, and educator,  https://www.britannica.com/biography/Tsutomu-Yamaguchi, สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2563

เอกสาร อะตอมวาไรตี้ 2, งานเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติภาพ กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2563