ย้อนอดีตก่อนยุค “ทองคำราคาพุ่ง” เมืองไทยมี “แหล่งทองคำ” ที่ไหนบ้าง?

เหมืองทองคำโต๊ะโมะ บ้านโต๊ะโมะ นราธิวาส
แหล่งแร่ทองคำ ที่โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

ทุกวันนี้ที่ลุ้นกันยิ่งกว่าหุ้นก็คือ “ทองคำราคาพุ่ง” ที่ช่วงกลางเดือนเมษายน ปี 2567 ราคาทองคำแท่ง 96.5% ขึ้นไปแตะบาทละ 41,600 บาท เมื่อทองคำมีทั้งคุณค่าและมูลค่า แล้วในเมืองไทยมี “แหล่งทองคำ” อยู่ที่ไหนบ้าง

“ทองคำ” เป็นแร่โลหะที่มนุษย์รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อ 6,000 กว่าปีมาแล้ว ดังที่ค้นพบว่าแหล่งอารยธรรมในอดีตมีการใช้ทองคำในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ในอียิปต์ พบทรัพย์สมบัติที่ทำจากทองคำ หรือตบแต่งด้วยทองคำหลายพันชิ้น

แต่กว่าโลกจะเริ่มการบริโภคทองคำอย่างแท้จริง ก็เมื่อศตวรรษที่ 18 หลังจากมีการค้บพบทองคำ ที่รัฐแคโลไรนา สหรัฐอเมริกา และพื้นที่อื่น ต่อมา ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) มีการค้นพบแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จนกลายเป็น “ยุคตื่นทอง”

หลังจากนั้นก็เกิดการตื่นทองในอีกหลายพื้นที่ของโลกต่อเนื่อง เช่น ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2510) ค้นพบแหล่งทองคำ ที่วิทวอเตอร์สแรนด์ แอฟริกาใต้ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ที่รัฐยูคอน แคนาดา โดยแหล่งผลิตทองคำสำคัญของโลกอยู่ที่ จีน, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, เปรู, รัสเซีย, แคนาดา และอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทย แม้ในเอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับบันทึกถึงการใช้ทองคำตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ไม่พบหลักฐานการทำเหมืองหรือแหล่งแร่ทองคำ จนถึงสมัยอยุธยาใน พ.ศ. 2283 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงมีการพบ “แหล่งทองคำ” ที่ตำบลบางสะพาน เมืองกุยบุรี (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ร่อนได้ทองคำ 90 ชั่งเศษ และโปรดให้นำไปปิดมณฑปพระพุทธบาท ที่เมืองสระบุรี

ถึง พ.ศ. 2415 ตรงกับรัชกาลที่ 5 ประชาชนที่ บ้านบ่อทอง และบ้านหนองสังข์ อำเภอกบินทร์บุรี เมืองปราจีนบุรี ค้นพบทองคำ จึงโปรดให้พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ไปครองเมืองปราจีนบุรี ทั้งมีพระราชประสงค์ให้ไปจัดทำเหมืองทองคำ แต่กลับเป็นว่าเกิดการฉ้อโกงทองคำ จนประชาชนมาร้องเรียน

พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้ง กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (ปัจจุบัน คือกรมทรัพยากรธรณี)  เพื่อควบคุมการทำเหมืองแร่ในขณะนั้นที่มีอยู่หลายแห่ง เช่น ที่กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี, ที่ลุ่มน้ำโขง อำเภอเชียงทอง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ประมาณ พ.ศ. 2468 ไทยได้ร่วมลงทุนกับฝรั่งเศส ทำเหมืองทองคำ ที่บ้านบ่อทองอีกครั้ง ในขนาดเหมืองที่ใหญ่กว่าเดิม แต่เลิกกิจการไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461)

พ.ศ. 2479-2483 บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ชื่อ Societe’ des Mine d’or de Litcho ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ทำเหมืองแร่ทองคำ ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส สามารถผลิตทองคำได้ประมาณ 1,900 กิโลกรัม

นอกจากแหล่งแร่ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบร่องรอยการทำเหมืองทองคำในหลายแห่ง (แต่ไม่ทราบความเป็นมา) เช่น บ้านผาฮี้ ดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, บ้านบ่อทอง อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ, เขาร่อนทอง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ฯลฯ

ส่วนการทำเหมืองแร่ทองคำในปัจจุบัน ได้แก่ แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย, แหล่งแร่ทองคำชาตรี บริเวณรอบต่อจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์ ที่ได้รับอายุประทานบัตรถึง พ.ศ. 2571

แหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพแร่ทองคำสูงที่สุดของไทยมีจำนวน 5 แนวด้วยกัน คือ  1. แนวแร่ทองคำ เลย-เพชรบูรณ์-ปราจีนบุรี 2. แนวแร่ทอง เชียงราย-แพร่-ตาก 3. แนวแร่ทองคำ ชลบุรี-นราธิวาส (เริ่มจากชลบุรี ระยอง และต่อเนื่องไปถึงนราธิวาส) 4. แนวแร่ทองคำ เชียงราย-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน 5. แนวแร่ทองคำ กาญจนบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-พังงา ทั้งหมดมีปริมาณสำรองแร่ทองคำที่เป็นไปได้ประมาณ 140 ตัน

ส่วนข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำของไทยในปี 2566 ว่า เป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการทองคำผู้บริโภคสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มขึ้นถึง 9% จาก 38.4 ตันในปี 2565 เป็น 42.1 ตันในปี 2566 การเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น 

ส่วนปี 2567 คงไม่ต้องพูดถึง เพราะ “ทองคำราคาพุ่ง” คือคำตอบในตัวอยู่แล้ว 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สมศักดิ์ โพธิสัตย์. “ทองคำ อนันตนิมโลหะ” ใน, วารสารสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2536).

สำนักทรัพยากรแร่  กรมทรัพยากรธรณี. แผนที่และข้อมูลแหล่งแร่ของประเทศไทย ทองคำ 2559.

“ธปท. ติดโผตุนทองคำมากสุด เช็กสถิติ 5 ปี แบงก์ชาติไหนซื้อเยอะ” ใน,  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  (26 กุมภาพันธ์ 2567)


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2567