ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
แร่ไพไรต์ “ทองคนโง่” สินแร่สำคัญ คล้ายทองคำจนหลายคนเข้าใจผิด
ทองคนโง่ (Foolish Gold / Fool’s Gold) คือแร่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ไพไรต์ (Pyrite) หรือเหล็กซัลไฟต์ ไทยเราเรียกว่า “เพชรหน้าทั่ง” เพราะมีรูปผลึกเป็นเหลี่ยมลูกบาศก์ ส่วนใหญ่จะเห็นหน้าผลึกเป็นรูป 5 เหลี่ยม จำนวน 12 หน้า ทำให้ดูคล้ายเหลี่ยมผลึกเพชร
คำว่า “ไพไรต์” มาจากภาษากรีก คือ “Pyr” หมายถึง ไฟ เพราะชาวกรีกโบราณเห็นว่าเมื่อนำแร่ชนิดนี้ไปตีกระทบกับเหล็กกล้าจะเกิดประกายไฟ ใช้สำหรับจุดไฟได้ ต่อมายังถูกนำมาใช้เป็นวัสดุจุดระเบิดของปืนสมัยแรกด้วยการกระทบกับหินฟลินท์
ไพไรต์เป็นแร่ประกอบของเหล็กและกำมะถัน มีผลึกเป็นเหลี่ยมลูกเต๋า ผิวเรียบมันสีทองเหลืองหน้าผลึกชัดเจน ในไทยพบได้มากทางภาคใต้ตามแหล่งแร่ดีบุก เป็นแร่ที่พบได้ทั่วไปในหลายจังหวัด เช่น สงขลา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เพชรบูรณ์ แพร่ ฯลฯ
แหล่งแร่ไพไรต์ใหญ่ ๆ ของไทยคือ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
อันที่จริงไพไรต์ไม่ใช่โลหะมีค่าหายากอะไร บางแหล่งทำเหมืองแร่ชนิดนี้เพื่อเอาทองคำกับทองแดงที่เกิดปะปนกันอยู่ด้วยซ้ำ ส่วนมากใช้ประโยชน์จากแร่นี้ด้วยการนำมาทำกรดกำมะถัน กรดตั้งต้นสำหรับผลิตกรดอื่น ๆ อีกที เพื่อใช้ในการทำสีย้อม หมึก ยารักษาเนื้อไม้ และยาฆ่าเชื้อโรค หรือทำเป็นรัตนชาติขายในชื่อ “มาร์คาไซต์”
สำหรับวงการพระเครื่อง พระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อผงด้านหลังจะโรยด้วยไพไรต์ เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศจะเห็นเป็นสีทองเปล่งปลั่งคล้ายทองคำ ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงยุคตื่นทอง (The Gold Rush) คนจำนวนไม่น้อยสับสนระหว่างไพไรต์กับทองคำ เป็นที่มาของฉายา Foolish Gold หรือ “ทองคนโง่” นั่นเอง
ไพไรต์ยังเป็นส่วนหนึ่งของตำนานและความเชื่อมากมายในหลายชนชาติ ในละตินอเมริกา ชาวอินคาและแอซแท็กจะนำไพไรต์ชิ้นใหญ่มาขัดให้เป็นแผ่น มีด้านเรียบหนึ่งด้าน ส่วนอีกด้านจะสลักเสลาเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ใช้จ้องมองด้านเรียบที่เป็นมันเงาเหมือนกระจกเพื่อทำนายอนาคต
พวกเขายังเชื่อว่าการพกพาแร่นี้จะเพิ่มเสน่ห์หรือแรงดึงดูดทางเพศในเพศชายได้ แต่หากพกติดตัวนานเกินไป พลังของหินจะทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจ และการวางไพไรต์ไม่ห่างตัวหญิงเพิ่งคลอดบุตรจะช่วยบรรเทาอาการปวดหรือเหนื่อยล้าได้
ชาวอินเดียนในอเมริกาเหนือเชื่อว่าไพไรต์คือ ศิลาแห่งอำนาจและเวทมนตร์ หมอผีชาวอินเดียนจึงใช้แร่นี้เป็นเครื่องรางทำนายโรค หรือแม้แต่ประดับชุดในพิธีกรรมปัดเป่าโรคร้าย
ชาวจีนเชื่อว่าหากวางรูปสลักหรือตุ๊กตาไพไรต์ไว้ใกล้หน้าต่างจะให้คุณเรื่องการทำมาค้าขายรุ่งเรือง หากวางไว้ข้างประตูจะช่วยป้องกันสิ่งร้าย ๆ ที่จะเข้ามาในบ้าน
คนไทยสมัยโบราณเองเชื่อว่าไพไรต์ หรือ “เพชรหน้าทั่ง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการนำไพไรต์มาประดับหัวแหวนเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับเหล็กไหล แต่อาจมีค่าไม่เท่าเหล็กไหล (เพราะไพไรต์หาได้ง่ายกว่า) และเครื่องรางจากไพไรต์สามารถป้องกันเสนียดจัญไร และคมมีดคมหอกในสงครามได้
ไพไรต์จึงอยู่ในการรับรู้ของคนโบราณนานมากแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะหากเห็นก็คิดว่าเป็นทองคำ ดังฉายา “ทองคนโง่” นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาชื่อ “แม่น้ำโขง” กับตำนานทองคำติดไม้ถ่อเรือ หนุนพ่อค้าสร้างบ้านแปงเมือง
- ตำนาน “เหมืองทองคำโต๊ะโมะ” เหมืองเก่าร้อยปี แรงบันดาลใจ “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ภักดิ์ ทรงเจริญ. (ไม่ระบุปี). ทองน่ารู้. สำนักงานเลขานุการกรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. (Online PDF)
กรมทรัพยากรธรณี. ไพไรต์ (Pyrite). สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.dmr.go.th/pyrite/
Kseniia Pavlova. This stone might drive you crazy. Retrieved February 29, 2024. From https://forpost-sz.ru/en/museum/stone-stories/pyrite
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2567