ที่มาชื่อ “แม่น้ำโขง” กับตำนานทองคำติดไม้ถ่อเรือ หนุนพ่อค้าสร้างบ้านแปงเมือง

แม่น้ำโขง กับ ตำนาน ทองคำ ติด ไม้ถ่อเรือ
แม่น้ำโขง (ภาพจาก www.matichon.co.th)

ชื่อ “แม่น้ำโขง” เป็นคำเรียกจากภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คนพื้นเมืองในวัฒนธรรมลาวเรียกแม่น้ำนี้ว่า “น้ำของ” หรือ น้ำแม่ของ

คำว่า “ของ” มีรากศัพท์มาจากภาษามอญว่า “โคลฺ้ง” กลุ่มไทย-ลาว รับมาใช้แล้วเพี้ยนเป็น คลอง แปลว่าทางคมนาคม เช่น แม่น้ำลำคลอง แต่วัฒนธรรมลาวไม่ออกเสียงควบกล้ำ จึงเรียก “ของ” ส่วนคนภาคกลางออกเสียงว่า “โขง” ไป

หลักฐานจากคำบอกเล่าในมหากาพย์กลอนโคลงสองฝั่งโขงอย่าง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง พระลอ เรียก แม่น้ำโขง ว่า “กาหลง” มาจาก เก้าลวง อันหมายถึงนาคเก้าตัวที่พิทักษ์น้ำโขง

บริเวณสองฝั่งโขงหลายแห่ง เช่น หลวงพระบาง อัตตะปือ ฯลฯ เป็นแหล่งทองคำธรรมชาติมาแต่โบราณ มีกิจกรรมร่อน ทองคำ สืบมาจนทุกวันนี้

ฉะนั้น หากชื่อ “สุวรรณภูมิ” ในคัมภีร์อินเดีย-ลังกา หมายถึง ทองคำ บริเวณสองฝั่งโขงอาจเป็นแหล่งทองคำสำคัญของสุวรรณภูมิได้เช่นกัน

ตามตำนานใน พงศาวดารล้านช้าง มีพ่อค้าชื่อ จันทพานิช ล่องเรือทวนน้ำโขงจากเมืองเวียงจันทน์ไปค้าขายที่เชียงดง เชียงทอง (หลวงพระบาง) แล้วมีทองคำติดไม้ถ่อเรือจำนวนมาก จนได้เป็นพระยา สร้างบ้านเมืองเป็นใหญ่เป็นโต ดังความว่า

“แต่นั้นจิรกาลล่วงมา ยังมีผู้หนึ่งอยู่เวียงจันทรพานิชซา จึงขึ้นมาค้าในเชียงดงเชียงทอง ในคืนวันหนึ่งนั้นท่านก็ฝันว่า มือขวาป่ายพระอาทิตย์ มือซ้ายป่ายพระจันทร์ สองตีนยันกงรถพระสุริยาปรากฏออกมา พานิชจึงไปหาพ่อค้าแก้คำฝันอันเป็นอัศจรรย์ พ่อค้าผู้นั้นว่าผู้น้อยฝันใหญ่ จักได้กินขี้เพื่อน พ่อค้าพาณิชซาจึงเมื้อไหว้มหาเถรเจ้าแก้คำฝัน

มหาเถรเจ้าจึงให้พานิชซาคืนมาหมกขี้ฮ้ากินแล้วสะหัวเสียแล้วมาหาเฮาเทอญ มหาเถรว่าดังนั้นมันก็ตามคำมหาเถรเจ้า แล้วมหาเถรจึงทำนายทายว่า อุบาสกขึ้นเมือเงินคำจักติดสันถ่อขึ้นมา อุบาสกอย่าได้เอาเมือฮวดเชียงทองเงินกำจัดเนืองนองมามากแก้วแหวนหากเหลือตรา ช้างม้ามากมูลมาถวายบูชาอุบาสกดีหลีแล

เมื่อนั้นพานิชซาก็ไหว้มหาเถรเจ้า แล้วก็ขึ้นมา เงินคำติดถ่อขึ้นมา พานิชซาก็บ่เอา มาฮวดเชียงทองเห็นเงินคำหลายหลากสองฝั่งฟากน้ำของ เท่าเอามาให้ทานยาจกคนขอเป็นอันมาก ชาวเมืองเหนหลากแก่ตา ก็จึงอุศยาภิเศกเป็นพระยาในเชียงดงเชียงทอง สร้างบ้านแปงเมืองสืบแนวเนื่องราชวงศาชั้นนั้นแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจากหนังสือ “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน? เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. (มติชน, ปี 2543) [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2566