รู้จักเรือกลไฟลากรังดิเอร์ “ไททานิคแห่งแม่น้ำโขง” โดยฝรั่งเศส และจุดอวสานของเรือ

เรือกลไฟลากรังดิเอร์ ด้านข้างเห็นชื่อ Lagrandiere ชัดเจน ถ่ายที่หนองค่าย พ.ศ. 2450 (ภาพจากกรมศิลปากร)
ภาพวาดลายเส้น พลเรือเอกลากรังดิเอร์ จากหนังสือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ของเติม สิงหัษฐิต (วิภาคพจนกิจ) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก คลังวิทยา พ.ศ. 2499

พลเรือเอกลากรังดิเอร์ (Admiral Lagrandier) แม่ทัพเรือภาคตะวันออกของเอมเปอเรอนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ผู้ยึดไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ปัจจุบัน (เขมรว่า ไพรนคร) ในพ.ศ. 2406 และผนวก 3 มณฑลภาคใต้จากตือดึ๊กหว่างเด๊เวียดนามเป็น โคชินจีน (Cochinchine) ของฝรั่งเศส จนบังคับให้สมเด็จพระนโรดมแห่งกัมพูชายอมอยู่ในอารักขา และรุกเข้าอ่าวตังเกี่ย ผนวกเวียดนามทั้งหมด พ.ศ. 2424 ตลอดจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือลาว พ.ศ. 2436 ต่อมาเป็นบุคคลสําคัญยุคล่าอาณานิคมนั้น

ครั้นฝรั่งเศสสร้างเรือกลไฟลําแรกของแม่น้ำโขงขึ้นจึงตั้งชื่อว่า “เรือลากรังดิเอร์” ขึ้นล่องไซ่ง่อน หลวงพระบาง

การคมนาคมทางบกจากเวียดนามเข้าลาวนั้นใช้เทือกเขาอัมนัมเป็นเขตแดน ทั้งสูงและสลับซับซ้อนยิ่ง มีช่องทางผ่านได้ไม่กี่ทาง ต้องใช้ช้างเป็นพาหนะบางฤดูกาล ถึงกระนั้นช้างยังสะอื้นไห้ ฝรั่งเศสจึงตั้งบริษัท “Companie des Messageries Fluviales des Cochinchine” ขึ้น โดยรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนปีละ 4,000,000 ฟรังก์

เอาไซ่ง่อนบนแม่น้ำไซ่ง่อนเป็นกิโลเมตรที่ศูนย์ วกเข้าสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงทวนน้ำถึงหลีผี ก.ม.ที่ 720 เมืองปากเซ ที่ตั้งแขวงจําปาศักดิ์ ก.ม.ที่ 869 เมืองสุวรรณเขต (สะหวันนะเขต) ก.ม.ที่ 1,126 เวียงจันท์ ก.ม.ที่ 1,584 (ปัจจุบันเรียกท่าหลักสี่หรือท่าดินแดง) สุดท้ายที่หลวงพระบาง ก.ม.ที่ 2,111

ทั้งลงทุนปักหลักซีเมนต์กิโลเมตรหลักร่องน้ำลึก (หัวทาสีเขียว) หลักอันตรายมีแก่งหินใต้น้ำ (ทาหัวสีแดงน่ารัก) เป็นระยะ ๆ โดยมีสถานีรับ-ส่งคน, สินค้า, เติมฟื้น และจ้างพนักงานประจําสถานีทั้งนําร่องอีกด้วย

ไม่มีรายละเอียดว่าบริษัทนี้ตั้งปีใด เข้าใจว่าประมาณ พ.ศ. 2410 ขึ้นไป โดยอาจขึ้นล่องไซ่ง่อน-พนมเปญ หรือขึ้นมาแค่เมืองเชียงแตง ปัจจุบันคือเมืองสะตรึงแตรงของกัมพูชา ซึ่งอยู่ในอํานาจสยามยุคนั้น หรือขึ้นมาไกลกว่านั้นก็คงหยุดแค่เมืองโขง เพราะแม่โขงทลายเทือกเขาระดับน้ำสูงถึง 200-300 เมตร เกิดเกาะแก่งน้ำไหลเชี่ยวกรากตั้งสี่พันดอน (เปรียบเทียบจนเป็นเมืองสีทันดรต่อมา) ซึ่งเรียกว่า “หลี่ผี” มีช่องโสมพะมิต, ช่องสาระเพ, ช่องช้างเผือก, ช่องปะเพ็ง (หรือพะเพ็ง) สุดปัญญามนุษย์จะเดินเรือผ่านไปมาได้ แต่ฝรั่งเศสที่ใช้เทคนิคทันสมัยคือ สร้างทางรถไฟยาว 5 กิโลเมตร กว้าง 0.80 เมตร ที่ดอนเดช เข้าใจว่าหลัง พ.ศ. 2436 แล้ว

แผนที่แสดงบริเวณแก่งหลี่ผี (ช่องโสมพมิด) แสดงการวางรางรถไฟพิชิแก่งหลี่ผี

ผมก็ได้แต่งง ๆ คิดว่าใช้เรือกลไฟ 2 ลำขนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าหัวดอนท้ายดอนกัน แต่อ่านบันทึกเก่า ๆ ว่าไปโดยเรือลําเดียวตลอดทาง สอบถามคนเก่า ๆ ว่าฝรั่งเศสใช้รถจักรไอน้ำลากเรือกลไฟขึ้นทางรถไฟนี้และปล่อยขึ้นล่องหัวดอนท้ายดอน ก็ยังไม่เชื่อจนเห็นภาพชัด ๆ นี้

สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพเคยประทับเรือลากรังดิเอร์ตรวจ เมืองหนองคายถึงนครพนม พ.ศ. 2449 แต่ทรงบันทึกว่า “เรือลาแครนเดีย” เข้าใจว่าอ่านแบบอังกฤษดังนี้

“ลาเครนเดียเป็นเรือกลไฟที่ใช้ฟืรเป็นเชื้อเพลิง เป็นเรือสำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งแต่ข้าหลวงใหญ่ใช้เดินทางไปมาตามแม่น้ำโขง เป็นเรือขนาดใหญ่ที่ตัวเก๋งมีห้องนั่ง ห้องนอนและห้องกินข้าว มีดาดฟ้านั่งอยู่ชั้นบนและในเรือยังมีครัวหุงต้นอย่างบริบูรณ์ทุกอย่าง เมื่อจะจอดตามท่าต่าง ๆ ก็มีสะพานเรือทอดออกไปทำให้เรือเทียบท่าได้สะดวก”

ทั้งทรงถ่ายภาพเรือกลไฟประวัติศาสตร์มาให้รุ่นเรา และทรงพระนิพนธ์ไว้ละเอียดตั้งแต่ออกจากเมืองหนองคาย วันที่ 7 มกราคม 2449 (พ.ศ. 2450 แบบสากล) แวะทุกสถานีเมืองถึงนครพนม วันที่ 10 มกราคม

“เรทอมาถึงหน้าเมืองนครพนม ที่เมืองบนฝั่งก็ยิงสลุตถวายต้อนรับ แล้วเรือเทียบฝั่งเมืองนครพนมเวลา 11.00 เวลาขึ้นเรือลาเครนเดียยิงปืนสลุตด้วย เป็นเขตที่ให้เขาส่งเพียงนี้”

ผมขอรายละเอียดจากสถานทูตฝรั่งเศสทั้งไทย-ลาว แล้วยังไม่ได้ ดังนั้น จึงขอ นปข.เขต นค. และตํารวจน้ำมาร่วมนั่งนิออนพิจารณารายหยาบด้วย ประมาณว่าขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 25 เมตร เครื่องจักรไอน้ำไม่เกิน 200 แรงม้า พื้นหลังคาเรียบ เพื่อบรรทุกสินค้าเพิ่มได้อีก มีราวลูกกรงเหล็กและปิดผ้าใบส่วนหน้า ซึ่งคงใช้เป็นหอบังคับการเรือและคงตะโกนผ่านท่อสังกะสีให้ช่างเครื่อง, ช่างไฟ (โยนฟื้น) เร่งเบาสตีม ต่างกับเรือไทยซึ่งหอบังคับการจะอยู่ท้าย (จึงเรียกนายท้าย?) และดึงเชือกกระดิ่งให้สัญญาณช่างเครื่อง, ช่างไฟ โดยไม่ต้องตะโกนให้เมื่อยปาก

เข้าใจว่าเรือลํานี้จะต่อด้วยเหล็กทั้งลํา และตอนกลางค่อนมาทางท้ายจะมีแท่นปืนกลหนักอยู่ 1 กระบอก ด้วย แสดงว่าเตรียมป้องกันโจรผู้ร้ายหรือข่มขวัญข้าศึกได้อย่างดี (สมเด็จฯ ว่ามียิงสลุตดังกล่าว) ซึ่งคงเป็นความภูมิใจของชาวฝรั่งเศสยิ่งที่พิชิตแม่น้ำโขงสําเร็จ ด้วยวิทยาการล้ำหน้าชาติต่าง ๆ ในอุษาคเนย์นี้สมดังชื่อ แม่ทัพเรือใหญ่

อวสานเรือลากรังดิเอร์ (ไททานิคแม่น้ำโขง) เรือกลไฟลํานี้ได้จอดฉลองวันชาติฝรั่งเศสที่หลวงพระบาง 14 กรกฎาคม และล่องเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นเพื่อกลับไซ่ง่อน เข้าใจว่าเย็นค่ำวันที่ 15 กรกฎาคม 2455 ก็ชนกับแก่งหินใต้แม่น้ำโขง ใต้น้ำฮุงจากเมืองไชยบุรีมาออกแม่น้ำโขงเรียก “แก่งทองชุม”

ทั้งกัปตัน ลูกเรือ ผู้โดยสารเสียชีวิตเกือบหมด รวมทั้งบุคคลสําคัญคือ พลเอกเบลิเยร์ ผู้บัญชาการทหารบกประจําอินโดจีน ดร.รูเพียงดีส์ อาจารย์มหาวิทยาลัยปารีสด้วย ส่วน ม.มาเฮ ผู้สําเร็จราชการลาวประจําเวียงจันท์ตอนนั้นรอดมาได้ แต่ก็เสียชีวิตกับเรือกลไฟลำอื่นในแม่น้ำโขง

ต่อมาผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือว่าฝรั่งเศสออกแบบผิด เพราะไม่รู้ซึ้งถึงสภาพแม่น้ำอันแท้จริง ผมมอง ๆ เรือยาวที่ใช้พายใช้ถ่อโบราณ ซึ่งขุดด้วยซุงทั้งท่อนก็เห็นด้วย เพราะบางตอนที่แก่งมาก เขาก็แบกเรือขึ้นฝั่งให้พ้นก่อน เรือที่ต่อปัจจุบันส่วนมากจะกว้าง 2-2.25 เมตร แต่เพิ่มความยาวแทน

ส่วนนักไสยศาสตร์บางท่านว่า เป็นเพราะฝรั่งเศสไม่เชื่อเจ้าแม่สองนาง (พญานาคี) ผู้รักษาแม่น้ำโขง ไปไม่ลา มาไม่ไหว้ จึงประสบอันตรายหมดทุกลํารุ่นแรก ๆ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ เรือกลไฟลากรังดิเอร์ ‘ไททานิคแม่น้ำโขง’ เขียนโดย สิทธิพร ณ นครพนม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2562