“มาร์กาเร็ต บราวน์” ตำนานสตรีผู้รอดจากไททานิก เผยวิถีชีวิตที่ดิ้นรนจนกลายเป็นเศรษฐินี

ภาพถ่าย มาร์กาเร็ต บราวน์ ผู้รอดชีวิต เรือไททานิก
(ซ้าย) ภาพถ่าย มาร์กาเร็ต "มอลลี" บราวน์ ผู้รอดจากเหตุเรือไททาริกอับปาง ถ่ายระหว่าง 1890-1920 จาก Bain News Service / ไฟล์ Public Domain (ขวา) ภาพถ่าย มอลลี บราวน์ ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย ภาพจาก Bain News Service / ไฟล์ public domain

โศกนาฏกรรม “เรือไททานิก” ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ฐานะความสูญเสียครั้งใหญ่ของการเดินเรือ เหตุการณ์เรืออับปางเกิดขึ้นเมื่อเรือชนกับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 เวลา 23.40 น. และอับปางเวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 จากการสอบสวนแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 ราย มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คน ผู้รอดชีวิตซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งคือ มาร์กาเร็ต บราวน์

เหตุการณ์บนเรือ

ค.ศ. 1912 ในค่ำคืนเหนือท้องทะเลบนเรือโดยสารลำยักษ์อันโอ่อ่าหรูหราเป็นประวัติศาสตร์อย่าง “เรือไททานิก” มาร์กาเร็ต บราวน์ ผู้โดยสารหญิงในเรือที่อยู่ระหว่างอ่านหนังสือและพักผ่อนบนเตียง ห้องนอนอันหรูหราของเธออยู่ด้านหน้าสุดของชั้นบีบนเรือไททานิก เธอรู้สึกถึงความผิดปกติขึ้นบนเรือ พร้อมกับเห็นชายผู้หนึ่งที่ใบหน้าซีดเผือดมาบอกให้เตรียมลงเรือชูชีพ

เธอตัดสินใจกลับเข้าไปในห้อง หยิบเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สามารถให้ความอบอุ่นกับร่างกายพร้อมเงินจำนวนหนึ่ง แล้วขึ้นเรือตามที่เจ้าหน้าที่บอก โดยไม่มีอาการตื่นตระหนกแต่อย่างใด

อลิซาเบธ มาโฮน ผู้เขียนหนังสือ “นางฉาวในประวัติศาสตร์” บรรยายว่า เธอกับคนบนเรือชูชีพช่วยกันพายออกมาได้ไม่เท่าไหร่ เรือลำโตที่ถูกขนานนามว่าไม่มีวันจมได้ก็หักออกจากกันเป็นสองท่อน

เหล่าลูกเรือเห็นหายนะที่เกิดขึ้นต่างพากันอกสั่นขวัญแขวน ไร้ซึ่งความหวังที่จะมีชีวิต มีเพียงแค่มาร์กาเร็ต บราวน์ ที่ปลุกกำลังใจทุกคน พร้อมกับแบ่งเสื้อคลุมให้ผู้โดยสารบางคนที่สวมแค่ชุดนอน มีรายงานว่า เธอโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ประจำเรือชูชีพว่า ควรจะหันเรือกลับไปตรวจหาผู้รอดชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่กลัวว่าหากหันเรือกลับ อาจเสี่ยงถูกผู้รอดชีวิตกรูมาแย่งกันแล้วฉุดเรือชูชีพจนคว่ำ และภายหลังยังมีข้อโต้เถียงกันว่า เรือชูชีพที่เธอโดยสารลงมานั้นได้หันกลับไปช่วยเหลือผู้อื่นจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวยังทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงจากวีรกรรมที่เธอพยายามช่วยเหลือผู้โดยสาร และยังเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ความวิปโยคบนเรือไททานิก จากหญิงผู้มีจุดเริ่มต้นจากฐานะที่ต่ำต้อย สู่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะสตรีผู้ช่วยชีวิตลูกเรือไททานิกที่อับปางลงขณะอยู่บนเรือชูชีพ

ชีวิตที่ยากลำบากของ มาร์กาเร็ต บราวน์

มาร์กาเร็ต โทบิน บราวน์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1867 ในฮันนาบาล พ่อแม่ของเธอเป็นผู้อพยพชาวไอริชที่ทำงานหนักและมีฐานะยากจน เธอเข้าเรียนในสถานศึกษาละแวกที่พักอาศัย เมื่ออายุ 13 ปี ก็ออกมาทำงานในโรงงานยาสูบ เพื่อหาเงินมาจุนเจือภายในครอบครัว ต่อมาได้ย้ายไปลีดวิลล์ โคโลราโด เพื่อดูแลบ้านให้กับพี่น้องของเธอ เธอทำงานที่ร้านขายของอย่างพรมเย็บผ้า และผ้าม่านในห้างสรรพสินค้า

ด้วยความที่บราวน์เป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างใหญ่ ผมแดง และเป็นคนโผงผาง และละแวกถิ่นที่เธอพักอาศัยก็มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในไม่ช้าเธอได้พบกับ เจมส์ โจเซฟ บราวน์ วิศวกรเหมืองแร่เงิน เขาเป็นชายที่มีอายุมากกว่าถึง 13 ปี เป็นคนฉลาด ชอบสมาคม และมีความทะเยอทะยาน ทั้งสองแต่งงานกันในเดือนกันยายน ปี 1886 ที่โบสถ์ในลีดวิลล์ ขณะเธออายุได้ 19 ปี หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่ก็มีลูกด้วยกันสองคน คือ ลอว์เรนซ์ กับเฮเลน

ชีวิตครอบครัวของบราวน์นั้น ทั้งสองต้องทำงานอย่างหนัก สมัยที่เธอยังไม่แต่งงาน เธอเคยคิดว่าจะครองโสดจนกว่าจะมีคนมาเสนอตัว โดยคนที่ว่าต้องสามารถมอบสิ่งที่เธอปรารถนาให้กับพ่อที่แก่ชราและเหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิต (แต่งงานกับคนมีฐานะนั่นเอง)

แต่สุดท้ายมาร์กาเร็ต บราวน์ ก็เลือกที่จะแต่งงานกับชายที่มีฐานะไม่ต่างกัน ด้วยเหตุผลว่า ฉันก็ตัดสินใจว่าฉันควรจะแต่งงานไปกับชายที่ยากจนที่ฉันรัก ดีกว่าคนรวยที่ดึงดูดฉันด้วยเงิน”

ยกระดับสถานะ

จนกระทั่งหลายปีต่อมา ราคาแร่เงินทรุดหนัก ส่งผลต่ออาชีพและรายได้ของครอบครัว แต่ เจมส์ โจเซฟ บราวน์ กลับค้นพบทองคำในเหมืองลิตเติลจอนนี่ ความพยายามและความอุตสาหะในการทำเหมืองของสามีทำให้บริษัทไอเบ็กซ์ไมน์นิ่ง เจ้าของเหมืองแร่ดังกล่าว ยกหุ้นจำนวนเกือบ 13,000 หุ้น พร้อมกับตำแหน่งคณะกรรมการให้กับเขาในปี 1891 ส่งผลให้สถานะของครอบครัวบราวน์พลิกผันกลายเป็นมั่งคั่ง

ปี 1894 เธอและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่เดนเวอร์ ในคฤหาสน์ย่านแคปปิตอลฮิลล์ และมีบ้านในชนบท ด้วยความโดดเด่นในการแต่งตัวที่นำสมัยในขณะนั้น อย่างการสวมหมวกปีกกว้าง และไม้เท้าที่ตกแต่งด้วยดอกไม้ ทำให้เธอเป็นที่สนใจในเดนเวอร์ซึ่งเป็นสังคมชั้นสูง แต่ก็ไม่ได้เป็นที่พอใจในสังคม เนื่องจากอุปนิสัยการแสดงออกที่เป็นธรรมชาติ ความมีชีวิตชีวา และความเป็นชาวไอริช-คาทอลิก มากเกินไป

ชีวิตในฐานะคุณนายเหมืองทองคำของมาร์กาเร็ต บราวน์ ไม่ได้มีแต่งานเลี้ยงสังสรรค์เพียงอย่างเดียว เธอเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมสตรีแห่งเดนเวอร์ เป็นผู้สนับสนุนผู้พิพากษาเบน ลินด์ซีย์ ซึ่งช่วยก่อตั้งศาลเยาวชนในสหรัฐ สนับสนุนการศึกษาและสิทธิมนุษยชนในโคโลราโด เธอเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าสังกัดเป็นทหาร ช่วยงานการกุศลต่างๆ ในเมือง

เธอมักเดินทางไปยุโรปเพื่อศึกษาละคร ดนตรี วรรณกรรม และภาษา ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนทำให้เธอเข้าร่วมสถาบันคาร์เนกี้อยู่นานปี เรียนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ไม่ใช่แค่ใช้เงินอย่างคนรวย แต่ใช้เงินไปกับการช่วยสังคมและแสวงหาความรู้ด้วย

กิจกรรมที่เธอทำส่งผลต่อชีวิตคู่ในครอบครัว จนเมื่อปี 1909 มาร์กาเร็ตได้แยกทางกับสามี โดยได้คฤหาสน์ และค่าเลี้ยงดูเดือนละ 700 เหรียญ แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังรักกันเหมือนเช่นแต่ก่อน ในปี 1922 หลังการจากไปของสามี เธอประกาศว่าเขาคือสามีที่ดีที่สุดในโลก และจะไม่แต่งงานใหม่

ต้นเหตุที่ทำให้ มาร์กาเร็ต บราวน์ ประสบชะตาบนเรือไททานิก และความดีที่ฝากไว้

ส่วนชะตาที่นำมาร์กาเร็ต บราวน์ มาประสบกับเหตุการณ์เรือไททานิกล่มครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากได้รับข่าวว่าหลานคนโตป่วย ขณะที่เธออยู่ในปารีสกับลูกสาว ทำให้ต้องจองเรือเที่ยวแรกสุดเท่าที่หาได้เพื่อไปดูหลาน หลังเกิดเหตุ เธอได้รับความช่วยเหลือจากเรือคาร์พาเทีย เธอพยายามติดต่อทางโทรเลขกับครอบครัวผู้ประสบเหตุ พร้อมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิตและสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

เธอได้รับรางวัล Legion of Honor ในปี 1932 จากการทำงานช่วยเหลือผู้รอดชีวิตไททานิก และองค์กรของเธอในกลุ่ม Alliance Francais and her relief efforts during the war รวมถึงการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในช่วงสงคราม

ปีเดียวกันนั้น บราวน์ได้จากไปอย่างสงบในวัย 65 ปี ด้วยอาการเนื้องอกในสมอง

ชีวิตของมาร์กาเร็ต บราวน์ สะท้อนให้เห็นถึงการนำความยากลำบากในอดีตมาปรับใช้ในการทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้คน แม้ว่าอาจไม่ได้ถึงกับเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่การกระทำของเธอคือสิ่งที่ยังได้รับการระลึกถึงอีกยาวนาน และเป็นที่กล่าวขานในฐานะ “สตรีผู้ไม่มีวันจม”

“ฉันไม่สนใจว่าหนังสือพิมพ์จะเขียนถึงฉันว่าอย่างไร ตราบเท่าที่พวกเขายังเขียนถึงฉันอยู่” มาร์กาเร็ต โทบิน บราวน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

มาโฮน, เอลิซาเบธ เคอร์รี่. โตมร ศุขปรีชา แปล. นางฉาวในประวัติศาสตร์. กรุงเทพ: มติชน, 2556

MOLLY BROWN. History, Web. <https://www.history.co.uk/biographies/molly-brown>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2561