ตำนาน “เหมืองทองคำโต๊ะโมะ” เหมืองเก่าร้อยปี แรงบันดาลใจ “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน

เหมืองทองคำโต๊ะโมะ บ้านโต๊ะโมะ นราธิวาส
แหล่งแร่ทองคำ ที่โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

“เหมืองทองคำโต๊ะโมะ” ตั้งอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นเหมืองทองคำที่เก่าแก่มากที่หนึ่ง สร้างรายได้ให้กับและพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต และเป็นสถานที่ที่ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนชื่อดังอย่าง พนมเทียน ในการเขียนนิยายชื่อดัง

โต๊ะโมะเป็นที่กล่าวถึงมานานว่ามีทองคำอยู่จำนวนมาก หยางปิงหนาน ผู้เขียนหนังสือ ไฮลุ ได้รับการบอกเล่าเรื่องทองคำที่โต๊ะโมะมาจาก แส้ชิงกา (เกิด พ.ศ. 2308) ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวยังปัตตานี เล่าว่า มีฝรั่งเข้ามาขุดทองอยู่ก่อนแล้ว การเดินทางจากคลองน้ำจืดเมืองปัตตานีเข้าไปยัง เหมืองทองคำโต๊ะโมะ ใช้ระยะเวลาราว 10 วัน แต่ถ้าเดินทางจากคลองกลันตันใช้ระยะเวลาราว 3-4 วัน เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนที่เดินทางมาร่อนทอง จึงนิยมจอดเรือที่ท่าเรือกลันตันมากกว่าเข้ามาทางปัตตานี

Advertisement

แส้ชิงเกา เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เมืองปัตตานีในยุคนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม เจ้าเมืองปัตตานีนำทองจากภูเขาดังกล่าวส่งไปเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหากษัตริย์สยามปีละ 30 ชั่ง

เหมืองทองคำโต๊ะโมะเริ่มเป็นที่รู้จักและเข้าสู่ยุค “ตื่นทอง” เมื่อ ฮิวซิ้นจิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน เข้ามาร่อนทองคำในบริเวณนี้ เดิม ฮิวซิ้นจิ๋วทำการค้าขายอยู่บริเวณชายแดนสยามกับมลายู ราวสมัยรัชกาลที่ 4-5 เขากับเพื่อน ๆ อีกหลายสิบคนมาร่อนทองในบริเวณนั้น โดยเริ่มตั้งแต่ปลายลำน้ำสายบุรีที่บ้านกาลูบี เลาะขึ้นไปจนเกือบถึงเขตมลายู ต่อมาก็พบว่าบริเวณต้นน้ำมีปริมาณทองคำตกค้างอยู่มากกว่าปลายน้ำ ข่าวนี้จึงแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้ผู้คนเริ่มเข้ามาร่อนทองกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อรัฐบาลสยามทราบเรื่อง จึงแต่งตั้งให้ ฮิวซิ้นจิ๋ว เป็นผู้เก็บผลประโยชน์จากการทำเหมืองนี้ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระวิเศษสุวรรณภูมิ” จากรัชกาลที่ 5 ทำหน้าที่ส่งส่วยอากรค่าสัมปทาน ค่าขุดแร่ทองคำให้แก่แผ่นดิน

เหมืองทองคำโต๊ะโมะ ของดีนราธิวาส

อนุตร ทองบัว อดีตศึกษาธิการอำเภอสุคิริน ในช่วงนั้นมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอปาโจ ได้บอกเล่าเรื่องราวของเหมืองทองโต๊ะโมะไว้ในบทความเรื่อง “ของดีของจังหวัดนราธิวาส” เมื่อ พ.ศ. 2523 ไว้ว่า

บริเวณที่ทำเหมืองแร่ทองคำ ได้แก่บริเวณสองฝั่งของต้นแม่น้ำสายบุรี บนสันเขาโต๊ะโมะ ตลอดไปจนถึงสันเขาลิจอ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เป็นแหล่งที่พบว่ามีแร่ทองคำมาก การค้นพบและทำแร่ได้กระทำกันมาประมาณ 100 ปีเศษมาแล้ว โดยชาวจีนชื่อ ฮิวซิ้นจิ๋ว (บิดาของหลวงวิเศษสุวรรณภูมิ หรือปู่ทวดของ “พนมเทียน” หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง)

ฮิวซิ้นจิ๋ว เข้ามาค้าขายในไทย มาเลเซีย และทราบจากคนพื้นเมืองว่า มีแร่ทองคำอยู่ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำสายบุรีดังกล่าว จึงนำพรรคพวก 40-50 คน เข้ามาค้นหา… การค้นหาแร่ทองคำ ใช้วิธีการร่อนตามแม่น้ำสายบุรี ตั้งแต่บ้านกะลูบีขึ้นไปตามต้นน้ำเกือบจดประเทศมาเลเซีย และพบว่า ใกล้ต้นน้ำมากเท่าใดก็พบแร่ทองมากขึ้นเท่านั้น ข่าวนี้สะพัดออกไป จึงมีนักแสวงโชคซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เข้าไปตั้งหลักแหล่งหาทอง ซึ่งใช้วิธีร่อน ว่ากันว่าวันหนึ่ง ๆ จะได้ทองคำคนละ 1-2 สลึง เป็นรายได้ดีทีเดียวในสมัยนั้น

ต่อมารัฐบาลไทยมอบหมายให้จีนชื่อ อาฟัด (จีนฮกเกี้ยน) บุตรชายของฮิวซิ้นจิ๋ว ทำแร่สืบแทนบิดาและทำหน้าที่ประหนึ่งนายอำเภอรักษาผลประโยชน์ รวมทั้งเก็บภาษีจากราษฎรที่เข้าไปทำแร่ ให้เป็นรายได้ของรัฐเปรียบเหมือนนายอำเภอโต๊ะโมะสมัยนั้น สำหรับที่แว้งซึ่งเป็นที่ตั้งตัวอำเภอ จีนอาฟัดมอบหมายให้ ขุนสุรกิจโกศล เป็นผู้รักษาราชการแทน ภายหลังจีนอาฟัดได้รับพระราชทานทินนามเป็น “หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ”

ทองคำที่หาได้สมัยนั้นส่งไปขายที่เมืองสงขลา โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ (ความจริงแล้วการใช้ช้างขนลากจำพวกเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนทองคำให้คนนำออกได้คนละแท่ง) ประมาณ พ.ศ. 2473 ได้มีชาวอังกฤษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำในบริเวณดังกล่าว ประมาณ 2-3 ปี แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเลิกกิจการไป ถือว่าครั้งนี้เป็นการเปิดเหมืองครั้งแรก ประมาณ พ.ศ. 2475 บริษัทฝรั่งเศสได้ส่ง หัวหน้าคนที่ 2 มาควบคุมการทำเหมืองแร่ที่โต๊ะโมะ ชื่อ เอช เซียร์ เยียร์เนียร์

ส่วนหัวหน้าคนที่ 1 อยู่ที่ฝรั่งเศส และเข้ามาเมื่อทองคำในเหมืองเดิมหมดและต้องสำรวจหาแหล่งใหม่ โดยใช้เครื่องมือเจาะเอาดินมาสำรวจบริเวณภูเขาใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ว่ามีทองคำหรือไม่ พอสำรวจเสร็จแล้วก็กลับฝรั่งเศส ทำอย่างนี้ทุกครั้ง และพบว่า บนภูเขาโต๊ะโมะและภูเขาลิจอมีแร่ทองคำ ปะปนกับหินภูเขามากมาย เนื้อทองก็บริสุทธิ์ มีเปอร์เซ็นต์สูง

ฝรั่งเศสจึงขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยเป็นเวลา 20 ปี พร้อมกับขอซื้อเหมืองทองของนายฝั่ง (หรือชื่อหนุ่ม – ลูกชายของเพื่อนหลวงวิเศษสุวรรณภูมิ) เจ้าของเหมืองบน ส่วนหลวงวิเศษสุวรรณภูมิเป็นเจ้าของเหมืองล่าง ปัจจุบันเหมืองบนคือบริเวณบ้านไอปาโจ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน หรือเป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอปาโจเดิม มีเหมืองอยู่ 1 แห่ง และมีหลุม 5 หลุม

การดำเนินกิจการทำเหมืองทองคำของฝรั่งเศสประสบผลสำเร็จ มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 เครื่อง (โดยใช้ช้างชักลากเครื่องจักรมาจากมาเลเซีย) ฝรั่งเศสสามารถผลิตทองคำแท่งได้วันละ 30 กก. ทองคำแต่ละแห่งมีน้ำหนัก 12, 17 และ 25 กก.

การขนทองออกจากเหมืองตอนนั้นใช้แรงคน โดยเอาทองคำห่อผ้าขาวม้า แล้วม้วนพับผูกเป็นปม โดยให้ปมอยู่ที่หน้าผาก ส่วนทองคำอยู่ที่ก้นด้านหลัง เวลาเดินก็ยื่นหัวไปข้างหน้า คนหนึ่งนำออกได้เพียง 1 แท่ง เวลา 1-2 เดือน จึงจะส่งออกมาคราวละ 16-17 แท่ง โดยส่งออกมาที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงตำบล เพื่อชั่งน้ำหนักและเสียภาษี จากนั้นก็ส่งต่อไปสู่มาเลเซียและฝรั่งเศส

บริษัทฝรั่งเศสทำเหมืองแร่ทองคำที่โต๊ะโมะอยู่ประมาณ 9 ปีเศษ ถึงปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวฝรั่งเศสจึงเลิกกิจการเดินทางกลับฝรั่งเศสทั้งหมด ทั้งที่คงเหลือเวลาสัมปทานอีก 11 ปี แต่ในช่วง 9 ปี โต๊ะโมะเจริญมาก มีบ้านเรือนคับคั่ง ห้องแถวยาวถึง 27 ห้อง มีผู้หญิงกวางตุ้งจำนวนมากจากกัวลาลัมเปอร์ มาขายของเก่าหาเงินทอง หรืออาจเรียกว่ามาขุดทองเช่นกัน!

หลังจากบริษัทฝรั่งเศสเลิกกิจการไปแล้ว บริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่อยู่อาศัยหลบซ่อนของ ขจก. หรือขบวนการโจรก่อการร้าย และ จอม. หรือโจรจีนคอมมิวนิสต์ จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปดำเนินการหาทองอีก เหมืองถูกทิ้งร้างไปประมาณ 30 ปีเศษ ต่อมารัฐบาลได้ตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้น เพื่อจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรเข้าทำกิน จึงได้พบร่องรอยการทำเหมือง และพบเครื่องจักรขนาดใหญ่หลายชนิด รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์การทำเหมืองถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก… สันนิษฐานว่าขณะนี้ยังมีทองคำเหลืออยู่จำนวนมาก เพราะสมาชิกนิคมฯ ร่อนหาตามลำน้ำแต่ละสาย ก็พบทองคำอยู่บ่อย ๆ จำนวนมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่วาสนาและความขยัน

เหมืองทองคำ ทำอย่างไร?

การทำเหมืองทองคำโต๊ะโมะในสมัยหลวงวิเศษสุวรรณภูมิคงจะคึกคักมาก และต่างก็เป็นที่หมายปองของคนทุกผู้ทุกเหล่า ซึ่งมีทั้งคนดีและไม่ดี ดังนั้น หลวงวิเศษสุวรรณภูมิจึงทำหนังสือมาถึงรัฐบาลสยาม เพื่อขออาวุธมาใช้ในการป้องกันการทำเหมืองทองคำ ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 ความว่า

“วันที่ 21 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก 121 ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธุ์… ลงวันที่ 19 เดือนนี้ เรื่องหลวงวิเศษสุวรรณ ขออนุญาตซื้อปืนแลปัสตันสำหรับป้องกันอันตรายในตำบลโต๊ะโมะ ตามที่พระยาสุขุมนัยวินิตเห็นควรอนุญาตให้ซื้อได้นั้นอนุญาต”

เหมืองโต๊ะโมะ
เหมืองโต๊ะโมะ

นอกจากนี้ อนุตร ทองบัว ยังได้เล่า วิธีการทำเหมืองทองคำที่โต๊ะโมะในสมัยเริ่มแรกของบิดาหลวงวิเศษสุวรรณภูมิ ว่า ในยุคนั้นใช้วิธีร่อนหาทองตามลำแม่น้ำสายบุรี เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาดำเนินการ ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทมีกรรมกรประมาณ 1,000 คน แบ่งเป็นแผนกระเบิดหิน ซึ่งมีมือระเบิดคนเดียว ชื่อ นายอุเทน

พวกนี้จะเข้าไประเบิดในเหมืองตามสายแร่ทองคำอย่างน้อย 2 กิโลเมตร ในช่วงตอนเย็นหรือตอนเช้า แผนกเก็บหินจะใช้รถเข็น เข็นไปตามรางเหมือนรางรถไฟ โดยเก็บหินที่ระเบิดมาวางกองไว้ที่ข้างโรงโม่หิน ซึ่งยังใช้วิธีการตำด้วยครกและสาก ซึ่งมีอย่างละ 9 อัน ทํางานวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น คนงานแผนกนี้ได้รับเงินเดือนเพียงคนละ 200-300 บาทเท่านั้น ส่วนแผนกระเบิดหินได้คนละ 800-1,000 บาท

ขั้นตอนการโม่หินต้องคอยรดน้ำอยู่เสมอ เพื่อให้หินแตกละเอียด แล้วไหลมาตามรางพร้อมกับน้ำ ในรางมีผ้าขนสัตว์สีแดง (ผ้าห่มจีนสมัยก่อน) ตัดตามรูปราง ปูตามยาวของราวทั้ง 9 ราง ผ้าขนสัตว์ผืนหนึ่ง ๆ ตัดเป็นผืนเล็ก ๆ ได้ประมาณ 4-5 ผืน เมื่อหินละเอียดเต็มรางก็ปล่อยน้ำให้ไหลออกมา หินก็จะไหลไปตามน้ำ ส่วนทองคำก้อนจะติดอยู่ที่ผ้าขนสัตว์ ไม่ได้ไหลไปพร้อมกับหินและน้ำ

จากนั้นแผนกล้างก็นำผ้าขนสัตว์ไปล้างในบ่อซีเมนต์ โดยเอาผ้าวางกลับเอาด้านทองลงกับบ่อ เหมือนกับการซักผ้าตามแม่น้ำทั่วไป เพื่อให้ทองคำลงไปอยู่ก้นบ่อ แล้วปล่อยน้ำในบ่อออกจนแห้ง เสร็จจึงนำปรอทเทลงบ่อ ปรอทจะดูดเอาทองมารวมไว้ไม่ให้กระจาย รอประมาณ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ปรอทกับทองจำจะแยกตัวจากกัน จึงตกปรอทขึ้นมาจนหมด เหลือแต่ทองคำ จากนั้นจึงตักใส่เบ้าตั้งไฟหลอม

เบ้าหลอมเป็นทรงกระบอก ก้นเรียว ทำด้วยดินจากอินเดีย หนาประมาณเกือบ 1 นิ้ว ใช้เตาหลอมมีที่สูบลมเป่าไฟ เหมือนกับเตาหลอมโรงตีเหล็ก มีเบ้าเล็ก 3 ตัว วางอย่างเตาดินเผาของชาวบ้าน แล้วใช้เบ้าใส่ทองคำใบใหญ่ ซึ่งมีรูปากสำหรับเทด้านหนึ่ง ใส่ทองคำวางลงบนเบ้าเล็ก 3 ตัวนั้นอีกครั้ง สูบลมเป่าไฟจนทองคำละลายเหลว แล้วใช้คีมจับเบ้ามาเททองลงในเบ้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดเท่าซองไพ่ป๊อก ตั้งไว้ให้เย็น แล้วจึงงัดทองออก นำไปล้างแล้วเจาะรูแท่งละ 1 รู มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว

ทั้งนี้ เจาะรูเพื่อสะดวกในการเก็บในบ่อซึ่งลึกมาก ซึ่งต้องใช้เชือกร้อยเข้าไปในรู แล้วหย่อนวางรวมกันในบ่อ เวลาจะนำไปขายก็ดึงเชือกขึ้นมา บ่อนี้มีบันไดลงไป และมียามเฝ้าบ่อทองคำเป็นพวกแขกซิก ผัดเวรกันชุดละ 4 คน ต่างก็ติดอาวุธและมีไฟฉายพร้อม

แม้ต้นตระกูล “วิเศษสุวรรณภูมิ” จะเป็นผู้บุกเบิกเหมืองทองคำโต๊ะโมะ แต่ก็ทำมาได้เพียง 2 รุ่นเท่านั้น เหมืองทองคำถูกทิ้งร้างหลังจากหลวงวิเศษสุวรรณภูมิเสียชีวิต จากนั้น กิจการเหมืองทองคำก็ผลัดเปลี่ยนสู่มือชาวอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ

ทายาทรุ่นต่อมาก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากเหมืองทองคำเท่าใดนัก และไม่ได้ผูกพันกับที่นี่นับตั้งแต่หลังสงครามโลก พนมเทียน กล่าวว่า แม้ตัวเองจะไม่ได้ทรัพย์สมบัติจากเหมืองทองสักเท่าหนวดกุ้ง แต่ก็มีเอกสารสำคัญ เช่น ใบโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทานบัตร และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ พินัยกรรมอันเป็นลายมือฉบับตัวจริงของหลวงวิเศษสุวรรณภูมิ ผู้เป็นปู่

นับตั้งแต่รุ่นพ่อของพนมเทียน ตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ จึงไม่ได้ผูกพันกับเหมืองทองคำโต๊ะโมะ แต่ตอนวัยเด็ก พนมเทียนก็ผูกพันกับท้องถิ่นโต๊ะโมะแห่งนี้

กล่าวกันว่า โต๊ะโมะนี่เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจของพนมเทียนในการเขียนเรื่อง “เพชรพระอุมา” นิยายผจญภัยเลื่องชื่อของพนมเทียน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิเชฐ แสงทอง. (พฤษภาคม-สิงหาคม, 2553). เหมืองทองโต๊ะโมะ สงครามโลกครั้งที่ 2 และพนมเทียน วารสารรูสมิแล. ปีที่ 31, ฉบับที่ 2.

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2548). ปักษ์ใต้ชายแดน. พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์อรุณวิทยา.

กรมศิลปากร. (2546). พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.121-122 ตอน 2, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2563