ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร |
เผยแพร่ |
หนึ่งในวัดที่คนกรุงเทพฯ หลายคนจะต้องเคยได้ยินและรู้จักกัน คือ “วัดพระยาไกร” เพราะเป็นทั้งชื่อของชุมชน ชื่อแขวงการปกครอง ชื่อสถานีตำรวจนครบาล และยังเคยเป็นปลายทาง-ต้นทางของเรือด่วนสายนนทบุรี-วัดพระยาไกร (ซึ่งตอนนี้กลายเป็น นนทบุรี-วัดราชสิงขร แทน)
แต่เคยเอะใจหรือไม่ ว่าวัดพระยาไกรนี้ตั้งอยู่ตรงไหน ทำไมเวลาเข้าพรรษา ออกพรรษา ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน งานเทศกาลบุญต่าง ๆ ถึงไม่เคยมีข่าวคราวของงานวัดพระยาไกรให้ได้ยินบ้างเลย แม้ใครจะเคยบวชที่วัดนี้ก็ไม่มี
จะเป็นอะไรไม่ได้นอกจากว่า วัดพระยาไกรกลายเป็นวัดที่ร้างไปแล้วนั่นเอง
งานค้นคว้าโดยละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ รวมไปถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวัดพระยาไกรนั้น พรรณี บัวเล็ก และ อภิญญา นนท์นาท ได้เสนอไว้แล้วในบทความเรื่อง “เหลือเพียงนาม ‘วัดพระยาไกร’ ” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2556) ดังนั้น ในบทความนี้คงเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลบางอย่างเท่าที่พอจะสืบค้นได้ให้เห็นภาพของวัดพระยาไกรมากขึ้น
วัดพระยาไกร เป็นชื่อปากที่เรียกของคนทั่วไป แท้จริงแล้ววัดนี้เคยมีชื่อเป็นทางการว่า วัดโชตนาราม (บางที่เขียน วัดโชตินาราม) ด้วยเหตุที่ผู้สร้างคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) หรือเจ้าสัวสือ ซึ่งได้สถาปนาวัดขึ้นแล้วตั้งใจจะถวายให้เป็นวัดหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในรัชกาลนั้นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมีอยู่ทั่วไปในพระนครและหัวเมือง เป็นที่โปรดปรานพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 3 โดยทรงรับเอาวัดที่เชื้อพระวงศ์ขุนนางข้าราชบริพารสร้างไว้เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น วัดโชตนาราม จึงอาจเป็นหนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นโดยเสด็จพระราชกุศลของรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในสมัยนั้น
และเหตุที่เรียกกันว่าวัดพระยาไกร เพราะราชทินนามของท่านผู้สร้างวัดได้เปลี่ยนเป็น พระยาไกรโกษา วัดแห่งนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า วัดพระยาไกร ตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของวัดพระยาไกรเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อได้ตัดถนนเจริญกรุงเข้ามาถึง มีผลให้ที่ดินของวัดถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางทิศตะวันตก (ริมแม่น้ำ) กับทิศตะวันออก ซึ่งในขณะนั้นชุมชนของกรุงเทพฯ เริ่มขยายตัวลงไปตามแม่น้ำทางใต้พระนครมากขึ้น จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรอบของวัดพระยาไกรถูกระบุว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยและธุรกิจของชาวต่างชาติ
สถานภาพของวัดพระยาไกรดูจะไม่มั่นคงตั้งแต่ผู้สถาปนาถึงแก่กรรมลงโดยยังไม่ทันฉลองวัด แต่ได้กัลปนาข้าพระครัวเรือนทาสไว้กับวัดแล้ว อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมิได้รับเข้าเป็นพระอารามหลวง จึงมิได้มีการอุปถัมภ์โดยเจ้านายแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 วัดแห่งนี้จึงทรุดโทรมลง เพราะทายาทของพระยาไกรโกษา ซึ่งเหลืออยู่ในขณะนั้นคือจมื่นเด็กชายสมบูน ไม่สามารถรับภาระการซ่อมแซมดูแลวัดได้ ประกอบกับเหลือพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียง 4-5 รูป
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องข้อพิพาทในการถือครองที่ดินหลวงภายในเขตวัดพระยาไกรอีกมาก ซึ่งรายละเอียดได้รับการค้นคว้าไว้แล้วในบทความที่กล่าวมา
ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2440 ทางราชการจึงให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินของวัดพระยาไกรเพื่อเป็นท่าเรือและคลังสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก จึงเป็นช่วงเวลาที่นับได้ว่าวัดพระยาไกรหมดสภาพความเป็นวัดแต่นั้นเป็นต้นมา และทางบริษัทฯ ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารอุโบสถ-วิหารเป็นสำนักงาน แล้วในภายหลังคงจะรื้อถอนลงจนหมดสิ้น สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโกดังสินค้าต่าง ๆ
การศึกษาวัดพระยาไกรจึงต้องรวบรวมจากสิ่งต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่ดังนี้
ภาพถ่ายและแผนที่เก่า บอกเล่าวัดพระยาไกร
ที่ตั้งของวัดพระยาไกร แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นสิ่งก่อสร้างอยู่แล้วก็ตาม แต่จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับเก่า ๆ ก็พอจะระบุคร่าว ๆ ได้ว่าตั้งลงไปทางทิศใต้ของวัดราชสิงขรเล็กน้อย และเหนือวัดลาดบัวขาวขึ้นมาทางเหนือตามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือปัจจุบันคือ แนวของถนนเจริญกรุงตอนล่าง และเป็นที่รู้จักกันดีในนามของศูนย์การค้าสมัยใหม่ที่ชื่อ Asiatique the Riverfront นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างของวัดพระยาไกร เท่าที่จะสืบทราบได้ คือ อุโบสถและวิหาร ซึ่งไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ยังพอมีภาพถ่ายเก่าในราวสมัยรัชกาลที่ 5-6 ให้พิจารณาบ้าง
ภาพถ่ายภาพแรก แสดงให้เห็นแผนผังของวัดพระยาไกรเท่าที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้นว่า มีอาคาร 2 หลัง คือ อุโบสถกับวิหาร มีขนาดไล่เลี่ยกัน อาคาร 2 หลังตั้งอยู่ในแนวที่ตัดแกนทิศกัน คล้ายรูปตัว T ในอักษรโรมัน (ไม่ทราบว่าอาคารหลังใดคืออุโบสถและวิหาร) ซึ่งได้พบแผนผังของเขตพุทธาวาสเช่นนี้ในวัดซึ่งออกแบบสร้างหรือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 บางแห่งด้วย เช่น วัดราชโอรสาราม วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น
ส่วนอีกภาพถ่ายหนึ่ง เห็นรูปแบบของอุโบสถ เป็นอาคารแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือเป็นอาคารทรงสูง มีเสารองรับพาไลรอบ หลังคาเครื่องบนซ้อน 3 ชั้น อาจเคยมีตัวลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์อยู่ แต่หักหายไป จึงเป็นอาคารแบบกึ่งรูปแบบประเพณีและกึ่งพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็พบการสร้างอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น เช่น อุโบสถวิหารของวัดราชนัดดา เป็นต้น
ภาพถ่ายเก่าอีกภาพหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก แสดงภายในของวิหารขณะที่ถูกใช้เป็นสำนักงานของโรงเลื่อยบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก มีพระประธานขนาดใหญ่ ฐานยกสูง และมีร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานและเหนือช่องหน้าต่าง ยังพอสังเกตเห็นรูปแบบได้ว่ามีการวาดวิวทิวทัศน์และบ้านเรือนเป็นตึกอย่างฝรั่งอันเป็นอิทธิพลตะวันตกที่เริ่มแพร่หลายในจิตรกรรมแบบประเพณีของไทยช่วงรัชกาลที่ 3 ลงมาเช่นกัน แต่ก็ไม่อาจระบุได้ชัดว่าเป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องอะไรกันแน่
ภาพถ่ายเหล่านี้น่าจะเป็นหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ระบุถึงถาวรวัตถุแท้ ๆ ของวัดพระยาไกรว่าเคยมีอยู่จริง และสามารถวิเคราะห์ได้ถึงรูปแบบศิลปกรรมของวัดพระยาไกรที่ถูกบันทึกเอาไว้ในภาพถ่ายนั้นสอดคล้องกับประวัติที่กล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
พระพุทธรูป 2 องค์
มรดกสำคัญของวัดพระยาไกรที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน คือพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจำนวน 2 องค์ ที่ได้อัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2478
พระพุทธรูปองค์แรก ภายนอกเป็นปูนปั้น ถูกอัญเชิญไปไว้ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม แล้วเมื่อจะเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานยังวิหารที่สร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2498 ปูนที่หุ้มอยู่กะเทาะออกจนเห็นว่าภายในเป็นโลหะมีสีสุกปลั่ง จึงเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่หล่อจากทองคำ และสามารถถอดออกเป็นหลายชิ้นได้ เมื่อนำเอาปูนที่ปั้นหุ้มออกจนหมดจึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยงดงามมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารยอดมณฑปของวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งสร้างแล้วเสร็จไม่นานมานี้เอง ทางวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้มีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้โดยจัดอยู่ในวิหารนั้นเอง ยังนำเอาวัตถุเช่นชิ้นส่วนฐานพระพุทธรูปสลักจากหินอ่อนที่ได้จากวัดพระยาไกร และเศษปูนที่พอกองค์พระเดิมนำมาจัดแสดงอยู่ด้วย
ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย ถูกอัญเชิญไปยังวัดไผ่เงิน ย่านตรอกจันทน์ และยังได้รับความนับถือบูชาจากประชาชนทั่วไป ชื่อว่า “หลวงพ่อสัมฤทธิ์”
วัดไผ่เงิน เดิมชื่อวัดไผ่ล้อม ประวัติวัดกล่าวว่าเมื่อ พ.ศ. 2482 ได้มีการยุบวัดเงินจากคลองเตยเพื่อเวนคืนที่สร้างท่าเรือกรุงเทพฯ มารวมเสนาสนะด้วยกัน แล้วใน พ.ศ. 2486 จึงอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อสัมฤทธิ์จากวัดพระยาไกรมาประดิษฐาน จึงนำเอาชื่อวัดเดิมทั้ง 2 แห่ง นั้นมาเป็นสร้อยชื่อวัดด้วยว่า “วัดไผ่เงินโชตนาราม” และที่น่าสนใจ คือวิหารหลวงพ่อสัมฤทธิ์ที่สร้างในปี พ.ศ. 2501 (ตามจารึกหินอ่อนในวิหาร) นั้นมีชื่อของคณะผ้าป่าสามัคคีชาววัดพระยาไกรติดตามมาร่วมสมทบทุนด้วย
พุทธลักษณะของพระพุทธรูป 2 องค์นี้ตรงกับแบบที่เรียกว่าพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยรุ่นที่สวยสมบูรณ์มากที่สุด กำหนดอายุได้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 โดยพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั้นเมื่อหล่อจะแยกกันเป็นชิ้น ๆ แล้วประกอบกันในภายหลัง ดังเช่นกรณีของพระพุทธรูปทองคำ ที่พบว่าถอดออกจากกันได้
พระพุทธรูปเหล่านี้เชื่อกันว่า คงจะถูกเคลื่อนย้ายจากหัวเมืองเหนือ (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย) ลงมายังกรุงเทพฯ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับหมู่พระพุทธรูปนับพันองค์ภายในอารามต่าง ๆ ของพระนคร และมีบางส่วนซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ไปประดิษฐานไว้ตามวัดที่เชื้อพระวงศ์ขุนนางสร้างปฏิสังขรณ์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าพระยาไกรโกษาซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของรัชกาลที่ 3 คงจะได้รับพระราชทานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 2 องค์นี้มาเพื่อเป็นประธานภายในวัดที่ตนสร้างด้วย
แต่ในสมัยนั้นคงจะยังไม่ทราบกันว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะมีค่ามหาศาล เพราะถูกปูนพอกหุ้มจนมีพุทธศิลป์เปลี่ยนไป มิฉะนั้นวัดพระยาไกรก็คงไม่ต้องสูญเสียสถานภาพความเป็นวัดไปเพราะขาดแคลนบุคลากรและทุนทรัพย์ในการบำรุงรักษาตัววัดเช่นนี้
สรุป
ปัจจุบัน วัดโชตนาราม หรือวัดพระยาไกร เหลืออยู่เพียงชื่อติดปากของย่านสถานที่และเขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร แต่ตัววัดนั้นไม่มีแม้แต่หมุดหมายให้ชี้ได้เลยว่า บริเวณใดเคยเป็นอุโบสถ-วิหาร เพราะผ่านการเปลี่ยนแปลงมานานนับร้อยปี จากการเป็นวัด สู่ท่าเรือ-โรงเลื่อย ของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก จนกระทั่งพื้นที่บริเวณนี้จะต้องผันหน้าที่ใช้งานจากเขตอุตสาหกรรมมาเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ โดยมีชื่อล้อกันกับของเดิมคือ Asiatique the Riverfront
และยังถือว่าเป็นโชคดีกว่าวัดร้างอีกหลายแห่งในบางกอก ที่ยังมีการสนใจค้นคว้าบันทึกเรื่องราวของวัดพระยาไกรจัดแสดงเอาไว้ ทั้ง ณ สถานที่จริงในปัจจุบันและที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ที่ได้จากวัดนี้ เพื่อให้ผู้คนทราบถึงความเป็นมาของวัดที่ไร้ร่องรอยแห่งนี้สืบไปภายหน้า
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนาน “วัดพระยาไกร” กับ “พระพุทธรูปทองคํา” หนักกว่า 5 ตัน ก่อนถูกย้ายสู่วัดไตรมิตร
-
สำรวจ “วัดร้าง” ในบางกอก วัดที่ไม่ได้ใช้ถูกแบ่งพื้นที่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นอยู่ร่วม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564