สำรวจ “วัดร้าง” ในบางกอก วัดที่ไม่ได้ใช้ถูกแบ่งพื้นที่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นอยู่ร่วม

วิหารของวัดภุมรินทร์ราชปักษี เนื่องจากทิ้งร้างไปไม่ได้ถูกซ่อมแซมสมัยหลังจึงยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้

“วัดร้าง” โดยความหมายคือพุทธสถานที่หมดหน้าที่ใช้งานอย่างเป็นทางการไปแล้ว มีตั้งแต่การขาดพระสงฆ์จำพรรษาประจำวัด การถูกยุบรวมกับวัดอื่น ๆ ไปจนถึงถูกทำลายโดยภัยหายนะ สงคราม จนกระทั่งกลายเป็นเศษซากโบราณสถาน บางแห่งเหลือไว้เพียงชื่อและตำแหน่งที่จดจำต่อ ๆ กันมา

เราอาจคุ้นเคยกับ “วัดร้าง” ในรูปแบบของซากอิฐปูน สถูปเจดีย์ ที่กระจัดกระจายตามเมืองโบราณเช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี อยุธยา แต่สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังมี “วัดร้าง” ตกค้างอยู่ในย่านชุมชนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันสำหรับคนในท้องถิ่น แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วนับเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวและเข้าถึงยาก

Advertisement
แผนที่กรุงเทพฯ แสดงตำแหน่งวัดร้างในกรุงเทพฯ ที่ค้นพบทั้งหมดจำนวน 22 วัด (1) วัดภุมรินทร์ราชปักษี (2) วัดสวนสวรรค์ (3) วัดน้อยทองอยู่ (4) วัดพิกุลใน (5) วัดอังกุลา (6) วัดใหม่วิเชียร (7) วัดร้างบางบอน (วิหารหลวงพ่อขาว) (8) วัดสี่บาท (9) วัดนาค (10) วัดโคกโพธิ์ราม (11) วัดปู่เถร (วัดตะเข้-โคกพระเถร) (12) วัดหน้าพระธาตุ (13) วัดไก่เตี้ย (14) วัดเงิน (15) วัดทอง (16) วัดรังษีสุทธาวาส (17) วัดวงศมูลวิหาร (18) วัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) (19) วัดบวรสถานสุทธาวาส (20) วัดสุวรรณคีรี (21) วัดกระดังงา และ (22) วัดใหม่เชิงเลน

การสำรวจศึกษาวัดร้างในกรุงเทพฯ (พบทั้งในเอกสารและหลักฐานโบราณคดีจำนวน 22 แห่ง) ที่ยังหลงเหลือร่องรอยให้ดูได้นั้น อาจนับได้ว่าช่วยเติมเต็มข้อมูลของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนการเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ลงมาจนกระทั่งถึงสมัยที่บ้านเมืองขยายตัวออกไปจากศูนย์กลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลายประการที่มีส่วนทำให้ศาสนสถานหลายแห่งต้องทิ้งร้างลง จากวัดร้างต่าง ๆ นับสิบวัดที่กล่าวถึงมานั้นอาจมองถึงประเด็นสำคัญได้ดังนี้

การทิ้งร้าง คือการหยุดอายุการใช้งานของวัด

วัดร้างบางแห่งทำให้สามารถพิสูจน์อายุสมัยด้านรูปแบบศิลปกรรมได้ชัดเจนกว่าวัดที่ยังมีการใช้งานต่อเนื่องที่จะมีการซ่อมปฏิสังขรณ์ลงมาแม้จนปัจจุบัน ขณะที่วัดร้างนั้นจะหยุดกิจกรรมต่าง ๆ เอาไว้อย่างน้อยจนถึงสมัยที่ทิ้งร้างหรือถูกยุบจากความเป็นวัด เพราะจะไม่เกิดกิจกรรมที่ทำให้มีการบำรุงรักษาศาสนสถานอีกต่อไป เว้นเสียแต่เป็นงานของชาวบ้านที่เข้ามาปรับปรุง

จะเห็นได้จากวัดร้างบางแห่งที่ยังคงมีงานฝีมือช่างหลวงอยู่ แต่เมื่อทิ้งร้างไปแล้วก็ขาดการซ่อมแซม ทำให้ยังปรากฏหลักฐานศิลปกรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่งชัดเจนโดยไม่ถูกรบกวนมาก เช่น วัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่ยังคงมีวิหาร 2 หลัง ปรากฏปูนปั้นรุ่นอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ในขณะที่วัดใกล้เคียงคือวัดดุสิดารามนั้นถูกบูรณะต่อเนื่องจนไม่สามารถจับรายละเอียดได้ว่าเป็นงานสมัยแรกสร้างจริง

อย่างไรก็ตาม วัดร้างหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ในอาณาเขตศูนย์กลางกรุงเทพฯ ยังคงถูกใช้งานต่อมาในฐานะอื่น ๆ และยังได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีตลอดมา (จนดูแทบไม่เหมือนวัดร้าง) บางครั้งจึงยากจะชี้ชัดได้ว่าเป็นงานในสมัยแรกสร้างจริง เพราะถูกซ่อมตามแบบเดิมจนมีสภาพดี ดังเช่น วัดบวรสถานสุทธาวาส (อยู่ในพื้นที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ กรมศิลปากร) วัดรังษีสุทธาวาส (ยังรวมอยู่เป็นคณะหนึ่งภายในวัดบวรนิเวศวิหาร) วัดวงศมูลวิหาร (เป็นศาสนสถานของกองทัพเรือภายในกรมอู่ทหารเรือ)

ซากโบราณสถานที่ชำรุดสามารถสังเกตร่องรอยสร้าง-ซ่อม หรือรูปแบบศิลปกรรมชัดเจนมากขึ้น

สภาพที่ชำรุดของวัดร้าง ทำให้เผยร่องรอยของงานปฏิสังขรณ์ในสมัยโบราณ รวมทั้งเทคนิคการก่อสร้างโบราณออกมาให้เห็น ซึ่งจะไม่มีทางพบเห็นในวัดที่ยังรักษาสภาพเอาไว้ เช่น กรณีของอุโบสถวัดสวนสวรรค์ บางยี่ขัน ที่ปูนฉาบผนังภายนอกหลุดร่วงลงทำให้เห็นเทคนิคการปฏิสังขรณ์ในอดีตสมัยหลังจากการสร้างว่ามีการใช้ก้อนอิฐก่อปิดอัดหน้าต่างบางบานเอาไว้แล้วฉาบปูนปิดทึบ ทำให้ช่องหน้าต่างไม่รับกับช่วงเสาติดผนัง ซึ่งหากวัดนี้ยังไม่ทิ้งร้างก็คงยากจะเห็นร่องรอยดังกล่าว

เช่นเดียวกัน โบราณวัตถุจำพวกพระพุทธรูปปูนปั้นหรือหินทราย หากถูกทิ้งจะทำให้ยางรักทองคำเปลวหรือปูนที่ปั้นฉาบไว้หลุดร่วงออกมา เผยให้เห็นพุทธลักษณะดั้งเดิม มีตัวอย่างชัดเจนสุดคือหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตรฯ ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานที่วัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) เมื่อวัดทิ้งร้างก็ถูกอัญเชิญมาจนปูนกะเทาะออก ทำให้พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองศิลปะสุโขทัยขนาดใหญ่ และมีความสำคัญมาจนทุกวันนี้

รวมไปถึงพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาที่ตกค้างตามวัดร้างในกรุงเทพฯ เช่น วัดอังกุลา บางระมาด วัดพิกุลใน บางบำหรุ ก็ยังพอทำให้วิเคราะห์อายุสมัยของวัดและชุมชนได้ว่าเก่าแก่ก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา

ช่องหน้าต่างอุโบสถวัดสวนสวรรค์ที่ถูกก่อปิดในสมัยหลัง เห็นได้เพราะปูนฉาบหลุดร่วงลงตามความชำรุด

ร่องรอยเหล่านี้เปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบอายุสมัยแรกสร้างและการซ่อมแซมในสมัยหลังได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดอายุศิลปกรรมเป็นอย่างมาก

ในทางกลับกันก็มีวัดร้างที่ไม่พบหลักฐานใด ๆ แล้ว เพียงแต่ยังมีคนจดจำชื่อและตำแหน่งอย่างกว้าง ๆ ได้ เช่น วัดกระดังงา ในคลองบางระมาด ข้างวัดจำปา ซึ่งกลายเป็นสวนและบ้านเรือนคนไปหมดแล้ว

คนสมัยหลังที่เข้ามาใช้พื้นที่ทำพิธีกรรมในวัดร้าง

คติเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่วัดร้างยังคงตกตะกอนอยู่ในผู้คนชุมชนโดยรอบวัดร้างบางแห่งทำให้วัดร้างเหล่านั้นถูก “ปลุก” ขึ้นมาให้กลายเป็นพื้นที่พิธีกรรมอีกครั้ง หลังจากที่ทิ้งร้างทำลายไปจนเกือบหมดสภาพแล้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความขลังของสถานที่หรือรูปเคารพที่ยังคงอยู่ภายในวัดร้างนั้น เช่น หลวงพ่อดำ วัดอังกุลา บางระมาด ซึ่งชาวบ้านในย่านดังกล่าวทุกวันนี้ยังนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์และมีบริวารเป็นกุมารทอง “พี่จุก พี่แกละ พี่เปีย” ซึ่งให้คุณด้านการบนบานศาลกล่าว จนเมื่อสำเร็จตามสิ่งที่บนไว้ก็จะแก้บนด้วยวัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น ว่าว ตะกร้อ

วัดร้างบางแห่งยิ่งน่าสนใจตรงที่มีการแบ่งพื้นที่ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นมาอยู่ร่วมกันด้วย ที่พบมากสุดคือ “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่” ที่เป็นอารักษ์ในต้นไม้ใหญ่ ซึ่งขึ้นโอบคลุมซากโบราณสถาน จนกระทั่งบริเวณวัดร้างนั้นเปรียบเหมือนที่ชุมนุมกันของเครื่องขมังเวทย์นานาชนิด

ในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา คือการกลับเข้าไปฟื้นฟูวัดร้างให้กลายเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง คือมีพระสงฆ์จำพรรษาและมีกิจกรรมทางศาสนาเป็นกิจวัตร เกิดขึ้นกับวัดร้างตามชานเมืองย่านฝั่งธนบุรีหลายแห่ง โดยกระบวนการเริ่มจากมีพระภิกษุธุดงค์หรือพระเถระจากวัดอื่น ๆ ได้บุกเบิกเข้าไปยังวัดร้าง หรืออ้างว่าฝันเห็นคนโบราณมาชี้นิมิต จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาให้เป็นสำนักสงฆ์ก่อน ภายหลังจึงได้ขอวิสุงคามสีมาจากกรมการศาสนาให้รับรองการเป็นวัดในที่สุด กรณีดังกล่าวได้แก่ วัดป่าเชิงเลน วัดโคกโพธิ์ราม และวัดปู่เถร (วัดตะเข้ หรือวัดโคกพระเถร)

ภาวะที่น่าเป็นห่วงของวัดร้างเหล่านี้คือ การก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุและปรับปรุงพื้นที่จนหลักฐานโบราณคดีและศิลปกรรมที่อาจเคยมีได้สูญหายไปจนไม่อาจสืบค้นได้

วัดร้าง เติมเต็มประวัติศาสตร์-โบราณคดีของพื้นที่บางกอก-กรุงธนบุรี-กรุงเทพมหานคร

รายงานการสำรวจวัดวาอารามทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาของ น. ณ ปากน้ำ เมื่อราว พ.ศ. 2513 ให้ภาพที่กระจ่างมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของบ้านเมืองบริเวณกรุงเทพฯ ก่อนการเกิดเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ามีชุมชนกระจายตัวกันมาตั้งแต่ราวต้นหรือก่อนกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่และศิลปกรรมเก่าแก่ตามวัดต่างๆ “สมัยนั้นจะเรียกว่าเมืองอะไร ไม่มีใครรู้”

จากนั้นเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนปลาย ย่านแถบนี้ได้เจริญมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากขุดคลองลัดบางกอกในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ราว พ.ศ. 2087-88) และในที่สุดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเลือกบางกอกเป็นที่มั่น ตั้ง “กรุงธนบุรี” ขึ้นก่อนแล้วพัฒนามาเป็น “กรุงรัตนโกสินทร์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในที่สุด ศิลปะรัตนโกสินทร์จึงเฟื่องฟูขึ้นสืบต่อมาในพื้นที่นี้

ข้อมูลของวัดร้างหลายแห่งที่ น. ณ ปากน้ำ ไม่ได้กล่าวถึงในรายงานนั้น กลับช่วยขับให้แนวคิดนี้เด่นมากยิ่งขึ้น ตรงที่ว่าวัดร้างหลายแห่งที่ยังคงมีงานศิลปกรรมและกำหนดอายุได้นั้นก็ตกอยู่ในราวสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัดบางแห่งที่พบพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาที่อาจทำให้ยืนยันอายุของชุมชนที่เกิดขึ้นได้ เช่น วัดอังกุลาในคลองบางระมาด พบพระพุทธรูปหินทราย (หลวงพ่อดำ) สมัยต้นอยุธยา และชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายดินเผาสมัยอยุธยาตอนปลาย อันเป็นหลักฐานสำคัญที่สอดคล้องกับวรรณคดีโบราณคือ “โคลงกำสรวลสมุทร” ที่ระบุย่าน “บางระมาด” เอาไว้ในเส้นทางเดินเรือของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และบางระมาดนี้ยังคงเป็นชุมชนลงมาจนกระทั่งปลายกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบันด้วย

ส่วนวัดร้างที่ตกค้างอยู่ตามชุมชนสองฝั่งลำน้ำเก่าในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ก็ทำให้เห็นได้ว่าชุมชนแต่เดิมมีความหนาแน่นมากเพียงใด เช่น วัดสุวรรณคีรี คลองชักพระ (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ใต้วัดคูหาสวรรค์ลงมา แม้จะเป็นวัดขนาดเล็กแต่อายุสมัยอาจเก่าถึงสมัยอยุธยา ก็เป็นหนึ่งในวัดที่กระจุกตัวอยู่ในจุดสำคัญของบางกอกเก่า อันมีวัดคูหาสวรรค์ วัดทองศาลางาม วัดกำแพง วัดโบสถ์อินทรสารเพชร ตั้งอยู่เรียงชิดติดกัน และลึกเข้าไปในพื้นที่สวนที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาเก่านี้ ก็ได้พบวัดใหม่วิเชียร (หลังวัดราชสิทธาราม) ที่เป็นวัดรุ่นรัตนโกสินทร์ที่เกิดจากการขยายตัวชุมชนเข้าไปในพื้นที่ลึกจากเส้นทางน้ำ

เส้นทางคมนาคมสำคัญอีกทาง คือลำคลองที่เชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนและหัวเมืองทางใต้ลงไป คือคลองด่านหรือคลองสนามชัย จากบันทึกและคำบอกเล่าทำให้ทราบว่าวัดวาอารามสองฟากฝั่งคลองเส้นนี้ล้วนเคยเป็นวัดร้างมาเกือบทั้งสิ้นจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง และถูกฟื้นฟูบูรณะโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม) วัดนางนอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังได้พบวัดร้างอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่มีหลักฐานบ่งบอกความสำคัญและความเก่าแก่ของคลองด่าน คือ วัดสี่บาทและวัดนาค ฝั่งตรงข้ามวัดกก บางขุนเทียน โดยเฉพาะวัดนาคนั้นมีพระพุทธรูปประธานขนาดมหึมามีพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง และใบเสมาหินทรายแดงขนาดย่อมแกะสลักลวดลายซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ยืนยันว่าคลองด่านนั้นเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลทางใต้ของกรุงศรีอยุธยามาช้านาน และชุมชนบริเวณนั้นก็เคยเป็นชุมชนใหญ่ด้วยมีวัดเรียงรายติดกันสองฝั่งคลองรวมแล้วถึง 3 วัดด้วยกัน แต่เหลือเพียงวัดเดียวในปัจจุบันคือวัดกก

ชิ้นส่วนใบเสมาหินทรายแดงขนาดใหญ่พบปะปนอยู่กับชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลางที่วัดนาค ริมคลองด่าน บางขุนเทียน

นอกจากนี้ แม้จะไม่เหลือหลักฐานอะไรไว้มาก แต่วัดร้างหลายแห่งช่วยทำให้กำหนดขอบเขตชุมชนย่านบางกอกในอดีตได้ เช่น วัดโคกโพธิ์รามและวัดปู่เถรที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางพรมและคลองบางระมาด ซึ่งเคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าถึงสมัยอยุธยาจำพวกเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน-แม่น้ำน้อยสมัยอยุธยา และเป็นตำแหน่งสุดท้ายทางตะวันตกของบางกอกที่มีร่องรอยของวัด แสดงว่าเป็นจุดสิ้นสุดของชุมชนก่อนที่จะออกไปสู่พื้นที่รกร้างกว้างใหญ่จรดแม่น้ำนครชัยศรี-ท่าจีนอีกไกลออกไป ซึ่งกว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกบุกเบิกเป็นเรือกสวนไร่นาก็ตกเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่มีการขุดคลองภาษีเจริญและคลองทวีวัฒนาแล้ว

ขณะเดียวกัน เราไม่พบร่องรอยของวัดร้าง (หรือวัดที่ยังไม่ร้าง) ซึ่งมีอายุถึงสมัยอยุธยาที่อยู่ลึกเข้าไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ (หรือฝั่งพระนคร) อันเป็นที่ลุ่มต่ำกว้างใหญ่ไม่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนเลยจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กลับมีวัดร้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของพระนคร และตามริมฝั่งแม่น้ำไม่ไกลซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนกรุงเทพฯ ยุคแรก เช่น วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดรังษีสุทธาวาส วัดพระยาไกร เป็นต้น

ที่สำคัญ ได้พบวัดร้างปรากฏอยู่บนแผนที่กรุงเทพฯ ที่ตีพิมพ์ในราว 100 ปีมาแล้ว บริเวณคุ้งแม่น้ำฝั่งตะวันออกทางใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเคยกล่าวถึงว่าเป็นเมือง “พระประแดงเก่า” และมีในพระราชพงศาวดารว่าเคยเป็นเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ทำให้ทราบได้ว่าแต่ก่อนนอกจากพื้นที่ตรง “บางกอก” หรือโค้งแม่น้ำที่ถูกขุดลัดในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชอันจะกลายมาเป็นศูนย์กลางของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

ยังมีชุมชนโบราณอีกแห่งในเขตกรุงเทพมหานครที่เคยมีความสำคัญด้วยคือเมืองพระประแดงเก่า ที่มี “วัดหน้าพระธาตุ” ตั้งอยู่เป็นหลักและมีวัดเล็กวัดน้อยเป็นบริวาร ซึ่งเมืองนี้คงหมดความสำคัญลงเมื่อปากอ่าวทะเลถอยร่นลงไปอยู่ตรงจังหวัดสมุทรปราการหรือปากน้ำ ปัจจุบันวัดเหล่านั้นสิ้นสภาพไปหมดแล้ว เพราะกลายเป็น “ท่าเรือคลองเตย” และชุมชนโดยรอบทั้งหมด

ส่งท้าย…มองวัดร้าง ไม่ได้เห็นแค่ “บางกอก”

ภาพรวมจากประเด็นต่างๆ ดังกล่าวมา อาจสรุปได้ว่าวัดร้างในกรุงเทพฯ ช่วยเสริมทำให้เห็นได้ว่าพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่ใต้นนทบุรีลงมามีชุมชนอยู่แล้ว อย่างน้อยอาจถึงช่วงต้นถึงกลางสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยขอบเขตของพื้นที่ที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานกันนั้นออกไปทางทิศตะวันตกมากกว่าทางตะวันออกที่ยังลุ่มต่ำเจิ่งนอง ส่วนทางใต้ลงมานั้นเคยมีเมืองเก่าที่เรียกกันว่า “เมืองพระประแดงเก่า” ตั้งอยู่ที่ท่าเรือคลองเตยในปัจจุบันตรงคุ้งแม่น้ำใหญ่ แต่รกร้างไปแต่ครั้งใดไม่มีหลักฐาน และทางฝั่งตะวันออกนั้นก็มีวัดร้างที่พบในใจกลางพระนครที่มีประวัติชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

ทั้งหมดนี้แสดงความต่อเนื่องการใช้พื้นที่แถบ “บางกอก” และใกล้เคียงที่ต่อมาจะกลายเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในที่สุด

อย่างไรก็ดี การกำหนดชื่อเรียกเขตการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทางราชการ ทว่าพื้นที่แถบนี้ยังต่อเนื่องกับบริเวณอื่นๆ ซึ่งผู้คนย่อมติดต่อไปมาหาสู่กันด้วยเส้นทางคมนาคมอันมีแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก พื้นที่ที่ไม่อาจละเลยได้คือบริเวณทางเหนือ ได้แก่ นนทบุรี ทางใต้และตะวันตก คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ตามลำดับ หรืออาจเรียกตามปัจจุบันว่า “ปริมณฑล” ของกรุงเทพฯ นั่นเอง

อาณาบริเวณดังกล่าวยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีกับศิลปกรรมสำคัญอยู่ในรูปของ “วัดร้าง” หลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อาจเชื่อมโยงให้ประวัติศาสตร์กระแสหลักชัดเจนมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474. กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530.

กรมศิลปากร. ประวัติและโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2513.

กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2525.

______. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2526.

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์.
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร : เกษมบรรณกิจ, 2514.

ประทีป เพ็งตะโก. “แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ใน รวมบทความทางวิชาการ 72 พรรษาท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2538, น. 73-91.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2549), น. 73-88.

______.“วัดร้างฝั่งธนบุรี,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2552), น. 52-62.

พรรณี บัวเล็ก และ อภิญญา นนท์นาท. “เหลือเพียงนาม วัดพระยาไกร,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2556), น. 52-57.

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “เมืองพระประแดง : จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง,” ใน ดำรงวิชาการ. ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2556).

วิชญดา ทองแดง และ ศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.

______. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2551.

______, บรรณาธิการ. เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ความรู้จากวัดร้างในบางกอก” เขียนโดย รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561