ตำนาน “วัดพระยาไกร” กับ “พระพุทธรูปทองคํา” หนักกว่า 5 ตัน ก่อนถูกย้ายสู่วัดไตรมิตร

หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร
หลวงพ่อทองคำ ภาพจาก เฟซบุ๊ก : วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เยาวราช ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ประกอบกับพื้นหลังสำหรับตกแต่งภาพ

ตำนาน “วัดพระยาไกร” กับ “พระพุทธรูปทองคํา” หนักกว่า 5 ตัน ก่อนถูกย้ายสู่ “วัดไตรมิตร”

วัด จัดเป็นศาสนสถานด้านสถาปัตยกรรมที่สําคัญยิ่งในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ส่วนมากจะสร้างเพื่อเป็นบุญกิริยา เพราะว่าวัดเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยตลอดมา

ดังนั้น วัดจึงมีบทบาทเพียงพอที่จะกําหนดประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น ๆ ในบางช่วงบางสมัยได้ และเป็นศูนย์รวมที่ทําให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้บ้านเมือง รวมถึงงานศิลปกรรมด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจแบ่งประเภทออกได้ดังนี้คือ พระอารามหลวง อารามราษฎร์ และสํานักสงฆ์

วัดพระยาไกร สร้างขึ้นเมื่อใด

วัดพระยาไกรมีชื่อเต็มว่า “วัดพระยาไกรโชตนาราม” ตั้งอยู่ในเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และเมื่อไร?

ก่อนอื่นต้องทําความเข้าใจก่อนว่า ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้าขาย หรือที่เรียกว่า “จิ้มก้อง” โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชาวจีน อีกประเด็นหนึ่งคือ ทรงมีเจ้าจอมเป็นชาวจีนทรงพระนามว่า “เจ้าจอมมารดาอําภา” ซึ่งต้นสกุลของเจ้าจอมองค์นี้เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน “แซ่หลิม” ได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีบุตรชายจากเมืองจีนติดตามมาด้วย 2 คนคือ นายอิน กับ นายเริก

นายอิน ทําการค้าขายจนร่ำรวยเป็นเศรษฐี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยาอินทรอากรในสมัยรัชกาลที่ 3 มีภรรยาเป็นชาวจีนอยู่ที่เมืองจีน และเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาอําภาที่เกิดที่เมืองจีน ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่อเจ้าจอมฯ อายุได้ 8 ขวบ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1)

เจ้าจอมมารดาอําภามีพระโอรสและพระธิดา 6 พระองค์ องค์ที่สําคัญคือ พระองค์เจ้าชายปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ที่ทรงเป็นต้นราชสกุล “ปราโมช” นั่นเอง

ส่วน นายเริก ได้เข้ารับราชการดํารงตําแหน่งเป็น “พระยาไกรโกษา” หนึ่งในตําแหน่งเสนาบดีจัตุสดมภ์ในกรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้นสกุล “ไกรฤกษ์” และเป็นผู้สร้างวัดพระยาไกร 

ดังนั้น น่าจะสันนิษฐานได้ว่า วัดพระยาไกรสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสมัยนั้นพระยาไกรโกษารับราชการในตําแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย ซึ่งมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ครั้งดํารงตําแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากรมท่า จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันในฐานะผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ ทรงร่ำรวยมาจากการค้าทางทะเลกับจีนและประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและ ยุโรป ทําให้มีพระราชทรัพย์ที่จะทรงใช้ในการสร้างวัดตามที่พระองค์ทรงสนพระทัย ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการสร้างวัดเป็นถาวรวัตถุ เป็นสถานที่ที่จะอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาของพสกนิกร และพระราชอํานาจในการปกครอง

การสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น เป็นการประยุกต์ดัดแปลงศิลปะจีนให้เข้ามาผสมผสานกับศิลปะไทย เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขนานนามว่า “ศิลปะแบบพระราชนิยม” ซึ่งวัดที่เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้คือวัดราชโอรส

เหตุที่ศิลปะแบบพระราชนิยมเป็นที่แพร่หลายมากในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจเนื่องมาจากว่า ทรงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกประการหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ ทรงนิยมสร้างวัด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าบรรดาขุนนาง พ่อค้า คหบดีในสมัยนั้นจึงสร้างวัดตามบ้าง เพื่อเป็นการเอาใจพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงน่าจะมีการสร้างวัดพระยาไกรขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว และมีรูปทรงสถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยมด้วย ดังที่เสมียนมีได้พรรณนาไว้ในกลอนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ว่า

“ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด เวียนแต่ตรัสถามไถ่ให้ใฝ่ฝัน ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์ ถึงเรื่องปั้นเขียนถากสลักกลึง วัดโน้นแล้ววันนี้ยังรับสั่งเร่ง เตือนตําเบ็งทําไปให้ขําขึง พวกนายด้านนายงานเร่งการตะบึง ให้ทั่วถึงถ้วนวัดจังหวัดราย

ข้อสันนิษฐานประการต่อมาคือ การสร้างวัดในสมัยก่อน หรือก่อนรัชกาลที่ 4 ขึ้นไป เป็นการสร้างในสถานที่ที่เป็นของส่วนตัวเหมือนกับการสร้างบ้านเรือน ดังเช่นในสมัยอยุธยา ผู้ใดมีกําลังคนและทรัพย์สินก็สร้างวัดไว้ให้ลูกหลานได้วิ่งเล่น ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีวัดในครอบครองคือผู้ที่มีอํานาจบารมี ในสมัยนั้นวัดจึงเป็นตัวแปรสําคัญในสังคมนั้น ๆ ที่จะทําให้เจ้าของวัดมีอํานาจบารมีสูงขึ้นหรือตกต่ำลงได้ ดังนั้น การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะในวัดทุกอย่าง เจ้าของวัดต้องสร้างเอง เป็นต้นว่า พระพุทธรูป พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ ฯลฯ เหมือนกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ว่าด้วยเรื่องการสร้างวัด มีความว่า

“…แต่เดิมมาผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาปรารถนาจะสร้างวัด ด้วยมีที่ดินเป็นสมบัติของตน อันจะยกเป็นวัดได้แล้วก็สามารถทําได้ การนิมนต์พระสงฆ์ไปอยู่ในวัดที่ตนสร้างขึ้นก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ที่ปกครองตําบลนั้น เป็นแต่นิมนต์พระภิกษุที่ตนรู้จัก หรือขอจากพระภิกษุที่ตนรู้จักจากวัดใดวัดหนึ่ง พระผู้รับนิมนต์ไปอยู่ครอง หรือพระผู้รับจัดให้หาพระไปด้วยให้ครบจํานวนสงฆ์ แล้วเพียงแต่ตั้งสํานักสงฆ์ขึ้นเท่านั้น ผู้สร้างวัดก็อาจจะทําได้โดยลําพัง…”

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การสร้างวัดในสมัยก่อน ใครก็สามารถสร้างได้ ถ้ามีกําลังคนและกําลังทรัพย์ เช่นเดียวกัน วัดพระยาไกรก็น่าจะสร้างในสมัยนั้นคือสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นระยะที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นราชธานีใหม่ และรวบรวมผู้คน การสร้างวัดจึงเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปจะทําได้ยาก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่เอื้ออํานวย แม้พระยาไกรโกษาจะถวายตัวเข้ารับราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้วก็ตาม (ขุนท่องสื่ออักษรเป็นบรรดาศักดิ์ของพระยาไกรโกษาในสมัยกรุงธนบุรี)

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการสร้างวัดขึ้นเพียง 4 วัดเท่านั้น อาจเป็นว่าไม่มีความจําเป็นมากนัก เพราะสมเด็จพระราชบิดาได้ทรงสร้างวัดไว้มากแล้วก็ได้ คือ พระอารามหลวง 26 วัด ไม่รวมวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพราะถือว่าเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่และปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากที่สุดถึง 60-70 วัด

ฉะนั้นวัดพระยาไกรจึงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยนี้ด้วย ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว

(ซ้าย) องค์พระขณะหุ้มด้วยปูน, (ขวา) องค์พระหลังจากลอกปูนออกแล้ว

วัดพระยาไกร กับพระพุทธรูปทองคํา

วัดพระยาไกรน่าจะสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลของการสร้างวัดเช่นในสมัยอยุธยา ดังนั้นเจ้าของวัดคือ พระยาไกรโกษา จึงต้องบูรณะและปฏิสังขรณ์เอง รวมทั้งพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมมานั้นสร้างขึ้นด้วยทองคํา แต่ไม่มีผู้ใดทราบ เนื่องจากภายนอกนั้นห่อหุ้มด้วยปูนซีเมนต์ปกปิดไว้ตลอดทั้งองค์อย่างมิดชิด จนกระทั่งปูนบางส่วนกะเทาะหลุดออก จึงเห็นเป็นทองคําอยู่ภายใน เมื่อ พ.ศ. 2498

พระพุทธรูปทองคําองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย มีขนาดใหญ่โตมากคือ มีหน้าตักกว้าง 6 ศอก 1 คืบ น้ำหนักประมาณ 5 ตันเศษ มีรูปลักษณะพระพักตร์ยาว คางหยัก สังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทั้งข้างหน้าและข้างหลัง นิ้วเป็นนิ้วมนุษย์ ผิดกับนิ้วพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดพระชินราช ซึ่งมีนิ้ว พระหัตถ์เสมอกันทั้ง 5 นิ้ว และส่วนต่าง ๆ สามารถถอดได้ถึง 9 ส่วนคือ พระพาหาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้ง สอง พระชงฆ์ทั้งสอง พระเพลาทั้งสอง และตรงพระศอ โดยมีกุญแจสําหรับถอดและประกอบกันเข้าแล้วก็สนิทเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ลักษณะของพระพุทธรูปทองคําองค์นี้คล้ายกับหลวงพ่อพระร่วงฯ ที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ

เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร มีผู้สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา หากแต่เป็นเรื่องเล่าขานกันที่เชื่อถือมิได้ บ้างก็ว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ เป็นจํานวน 100 กว่าองค์ นํามาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ด้วย แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคําขนาดใหญ่มาก น่าจะนําไปประดิษฐานไว้ในพระอารามหลวงมากกว่าจะนําไปประดิษฐานที่วัดราษฎร์

อีกประการ ถึงจะหุ้มด้วยปูนมาก็น่าจะเกิดการกะเทาะแตกบ้าง ขณะเคลื่อนย้ายเข้ามากรุงเทพฯ หรือถ้าเป็นพระพุทธรูปทองคําจริงในสมัยก่อนหน้าทําไมจึงไม่ชะลอมาไว้ที่อยุธยาสมัยยังรุ่งเรืองและเป็นราชธานี เพราะว่าเป็นพระพุทธรูปทองคําที่มีขนาดใหญ่มาก และยังเป็นการเสริมบารมีอีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีขุนนางบางคนเห็นประโยชน์ส่วนตัว จึงยักยอกเอาพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แล้วสั่งให้ช่างเอาปูนไล้เสียให้ทั่วองค์พระ เพียงเพื่อให้คนอื่นเห็นเป็นแต่เพียงว่าเป็นพระพุทธรูปปูนเท่านั้น แต่ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ใหญ่ เพราะข้าราชการและเหล่าทหารที่ได้เดินทางไปอัญเชิญพระพุทธรูปจะต้องมีจํานวนมาก การเก็บความลับเรื่องพระพุทธรูปทองคําที่มีขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ทําได้ยากมาก และที่สําคัญในศิลาจารึกได้กล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปในสมัยพ่อขุนรามคําแหงตามหลักฐานที่ว่าหล่อด้วยทอง

ในสมัยนั้นเรียกทองสัมฤทธิ์ว่าทอง ส่วนทองคํานั้นเรียกเพียงว่า “คํา” เฉย ๆ 

จากข้อสันนิษฐานจากศิลาจารึกจะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้หล่อในสมัยสุโขทัย

พระพุทธรูปทองคํา หล่อในสมัยไหน?

ตามข้อสันนิษฐานแล้ว พระพุทธรูปทองคําองค์นี้น่าจะหล่อขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างวัดพระยาไกร ด้วยเหตุผลที่ว่า “…ผู้ใดมีกําลังคนและทรัพย์สินก็สามารถสร้างวัดไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่น…”

เพราะฉะนั้น เมื่อพระยาไกรโกษาสร้างวัดพระยาไกรขึ้นมา จึงจําเป็นจะต้องสร้างพระประธานขึ้นมาด้วย และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่พระยาไกรโกษาได้สร้างพระพุทธรูปทองคําขึ้นมา เพราะได้เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว และเป็นถึงเสนาบดีจัตุสดมภ์ นอกจากนั้น พระยาไกรโกษายังได้ทําการค้าขายร่วมกับพี่น้อง คือ พระยาอินทรอากร ที่เคยร่วมเดินทางมาจากเมืองจีนด้วยกัน เมื่อพระยาไกรโกษาทั้งรับราชการและทําการค้า จึงร่ำรวยมีเงินทองมากมาย

การสร้างพระพุทธรูปทองคําขึ้น จึงเป็นเสมือนการเก็บออมทรัพย์สมบัติอีกทางหนึ่งของพระยาไกรโกษาก็เป็นได้ ส่วนการที่พระพุทธรูปทองคําองค์นี้ถอดได้ 9 ชิ้น เป็นหลักของการหล่อพระพุทธรูปโดยทั่วไปอยู่แล้วที่จะต้องหล่อทีละชิ้น แล้วนํามาประสานกันภายหลัง และเป็นความหมายแทนความก้าวหน้าอีกด้วย สําหรับพระพุทธรูปทองคําองค์นี้มิได้ประสานต่อเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะทําเป็นสลักกลมีกุญแจสําหรับถอดออกและประกอบใหม่ได้ มาถึงตรงนี้ทําให้สันนิษฐานได้ว่า พระยาไกรโกษาเป็นผู้มองการณ์ไกล เนื่องจากถ้าเกิดศึกสงครามขึ้นมาก็สามารถถอดออก และขนย้ายได้สะดวกกว่าการขนย้ายพระทั้งองค์

ส่วนการไล้ปูนทั่วองค์พระพุทธรูปก็อาจเป็นไปได้ว่า ประการแรก เพื่อเป็นการป้องกันการครหานินทา เนื่องจากว่าไม่เคยมีผู้ใดสร้างพระพุทธรูปทองคําขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน

ประการต่อมา น่าจะสืบเนื่องมาจากการเสียกรุงแก่พม่า พม่าได้ขนเอาของมีค่ากลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปทองคําด้วย ดังนั้น การที่พระพุทธรูปทองคําต้องไล้ไว้ด้วยปูนก็น่าจะเป็นกลอุบาย ถ้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกก็จะได้รอดพ้นจากอริราชศัตรู

จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ปัจจุบันพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่ วัดไตรมิตร วิทยาราม (วัดสามจีน) ณ วิหารสุโขทัยไตรมิตรมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนตัววัดพระยาไกรก็ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นวัดร้าง หลังจากพระพุทธรูปทองคําองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่ วัดไตรมิตร

พระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ในวัดก็ได้เคลื่อนย้ายไปประดิษฐานตามวัดต่าง ๆ ที่เจ้าอาวาสอัญเชิญไป เช่น ชิ้นส่วนของศิลาจําหลักก็ได้ขนย้ายไปไว้ที่วัดไผ่เงินโชตนาราม เป็นต้น

ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านผู้สูงอายุได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากวัดพระยาไกรร้างลงแล้ว ก็ได้มีบริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก จํากัด ได้มาเช่าทําโรงเลื่อยไม้ ต่อมาเมื่อบริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก จํากัด หมดสัญญาลง ก็ได้มีเอกชนมาขอเช่าทําโรงแรม และยังมีคําบอกเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์ของวัดร้างนี้อีกด้วยว่า ในตอนที่ตอกเสาเข็มเพื่อวางฐานล่าง ก็ปรากฏว่าเสาเข็มตอกไม่ลงและแตกหักหมด ผู้เช่ารายนั้นจึงได้ใช้รถไถ ไถดูก็พบ ซากของช่อฟ้าและโครงกระดูก จึงทําให้มีการยกเลิกโครงการนี้ไป

ปัจจุบัน บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นของกรมการศาสนา และให้บริษัท เอเชียธนะวัฒน์ คลังสินค้า จํากัด เช่าทําเป็นคลังสินค้า

วัดนี้คงเหลือไว้แต่เพียงชื่อ “วัดพระยาไกร” เป็นปริศนาเงื่อนงําให้ค้นคว้ากันต่อไปได้อีกถึงประวัติ ความเป็นมา และความเกี่ยวพันกับ พระพุทธรูปทองคํา เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

ชาลี ศิลปรัศมี. การสร้างบ้านแปลงเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (2325-2395), ม.ป.ท. :ม.ป.พ., 2533.

พุทธโฆสก. วัดของเรา, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2520.

วิยะดา ทองมิตร. สารานุกรมเมืองโบราณ “สวนขวา”. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “วัดร้างกับปริศนาพระพุทธรูปทองคำ” เขียนโดย ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2562