วัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กับ พระอัฏฐารศ พ่อขุนรามฯ ทรงช้างไปไหว้

วัดสะพานหิน สุโขทัย
วัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ภาพถ่ายโดย ธวัชชัย รามนัฏ)

วัดสะพานหิน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของ เมืองสุโขทัย ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป จนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา

ที่แห่งนี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ น่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า “…ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน…” ซึ่ง “พระอัฏฐารศ” ที่ปรากฏในศิลาจารึกนั้น เข้าใจว่าหมายถึง พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัยที่วัดสะพานหินนี่เอง และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ “รูจาคีรี” เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม 15 ค่ำ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ว่า

“…วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เที้ยรย่อมทองงา…ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา…”

“พระอัฏฐารศ” ที่วัดสะพานหิน เมืองสุโขทัย (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

บริเวณลาน วัดสะพานหิน เมืองสุโขทัย มีกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย

1. ฐานวิหาร 5 ห้อง ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืน ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”

2. ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน กระจายทั่วไปบนลานวัด มีอยู่องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานกว้าง 4×4 เมตร อยู่ตรงเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก

3. สะพานหิน ที่เป็นทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันออก ทอดยาวจากถนนเชิงภูเขาจนถึงลานวัด ปูด้วยหิน ยาวประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้ ทางด้านทิศเหนือมีทางขึ้นอ้อมเขา เข้าใจว่าน่าจะเป็นทางช้างขึ้น

[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กรกฎาคม 2562