ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ครูบาศรีวิชัย” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” หรือผู้มีบุญญาธิการสูงส่งที่สะสมไว้ข้ามภพข้ามชาติ ครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องเชิดชูจากชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากท่านได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเหลือคณานับ อย่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งยังบูรณะวัดต่าง ๆ มากมาย เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัย, วัดพระเจ้าตนหลวง, วัดพระสิงห์ ทว่ามีอยู่วัดหนึ่งที่ครูบาศรีวิชัยไม่บูรณะ นั่นคือ “วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร” จ. เชียงใหม่ แม้จะเป็นวัดที่สำคัญอย่างมากก็ตาม
“วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร”
วัดเจดีย์หลวงในอดีตคือ “วัดโชติการาม” ว่ากันว่าชื่อของวัดแห่งนี้มีที่มาจาก 2 เรื่องเล่า บ้างก็ว่าเกิดจากอุบาสกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในพระธาตุเจดีย์แห่งนี้มาก จนนำผ้าชุบน้ำมันมาจุดเป็นประทีปจนลุกโชติช่วง บ้างก็ว่าเป็นเพราะความสูงใหญ่ของเจดีย์ที่คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวลุกโชติช่วง จึงทำให้ได้ชื่อว่าวัดโชติการาม
ส่วนประวัติวัด หากอ้างอิงตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1934 โดยพญาแสนเมืองมา โปรดฯ ให้สร้างขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุและอุทิศพระราชกุศลแด่พญากือนา พระราชบิดาของพระองค์ แต่ท้ายที่สุดพญาแสนเมืองมาสวรรคตไปก่อน จึงทำให้พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี มเหสี ทรงสานงานต่อจนเสร็จสมบูรณ์
เรื่องราวที่ถ่ายทอดในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่มีเพียงเท่านี้ ทว่าปรากฏเหตุการณ์ต่อมาใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” วรรณกรรมพุทธศาสนาภาษาบาลี กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2022 พระเจ้าติโลกราช โปรดฯ ให้ หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างเอก เติมแต่งพระเจดีย์องค์นี้ให้ใหญ่ขึ้น ทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบทรงเจดีย์ จาก 5 ยอด เป็นยอดเดียว หรือที่เรียกว่าเจดีย์ “ทรงกระพุ่มยอดเดียว” ซึ่งเป็นที่นิยมมากช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
เจดีย์ประจำวัดแห่งนี้ยังมียอดคล้ายคลึงกับกู่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ในอดีตมีความสูงถึง 80 เมตร จนได้รับการขนานนามว่า “ราชกูฏ” หรือ “กู่หลวง” ทว่าสมัยพระนางจิรประภาเทวี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง จึงทำให้ยอดของเจดีย์หักโค่นลงเหลืออย่างที่เห็นในปัจจุบัน
วัดเจดีย์หลวง เรียกได้ว่าเป็นพุทธสถานแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็น “วัดกลางเมือง” สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่ ซึ่งวัดเจดีย์หลวงถือเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายในเชียงใหม่
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะทราบได้ว่า “วัดเจดีย์หลวง” มีความสำคัญอย่างมาก แล้วทำไม “ครูบาศรีวิชัย” จึงไม่เลือกบูรณะเจดีย์หลวง?
จากการสันนิษฐานของนักวิชาการหลายคน คาดว่าเป็นเพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ในเชียงใหม่ เข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมือง และนั่นอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันสงฆ์ในล้านนา ซึ่งการแปรเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์หลายครั้ง จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่คาดได้ว่าทำไมท่านถึงไม่บูรณะวัดเจดีย์หลวง
อ่านเพิ่มเติม :
- ครูบาศรีวิชัย : “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” กับความขัดแย้งในคณะสงฆ์
- เปิด UNSEEN “วัดป่าสัก” โบราณสถานที่มีปูนปั้นสวยที่สุดในยุคต้นล้านนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.
https://www.silpa-mag.com/history/article_14296
http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~cturdsak/kuba.htm
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2566