เปิด UNSEEN “วัดป่าสัก” โบราณสถานที่มีปูนปั้นสวยที่สุดในยุคต้นล้านนา

วัดป่าสัก ต้นไม้ เจดีย์ สวน

“วัดป่าสัก” ถือเป็นวัดหนึ่งในภาคเหนือ ที่มีความโดดเด่นมากมาย ทั้งในแง่เจดีย์ ปูนปั้นซึ่งต่างได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมหลายรูปแบบ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มี “ปูนปั้น” สวยที่สุดใน ยุคต้นล้านนา 

UNSEEN “วัดป่าสัก”

“วัดป่าสัก” ปรากฏหลักฐานใน “พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน” ว่าถือกำเนิดขึ้นจาก “พญาแสนภู” โดยที่มาของชื่อนั้นมาจากการที่พระองค์โปรดฯ ให้ปลูกต้นสักขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่วน “ชินกาลมาลีปกรณ์” วรรณกรรมพุทธศาสนาภาษาบาลี ก็เคยกล่าวถึงโบราณสถานแห่งนี้เช่นกันว่าาสร้างขึ้นในปี 1875

Advertisement

จากความโดดเด่นและงดงามเป็นพิเศษจึงทำให้นักวิชาการหลายคนสันนิษฐานว่า วัดป่าสักน่าจะเป็นวัดแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในยุคนั้น เห็นได้จากเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอดที่เรือนธาตุมีซุ้มจระนำ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับรูปแบบมาจากเจดีย์ศิลปะพม่าสมัยเมืองพุกาม หรือเจดีย์จากเมืองหริภุญไชย 

ส่วน “ลวดลายปูนปั้น” กลับแตกต่างออกไป เพราะคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย และจีนผสมผสานกันอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ช่องกระจกทรงหยักโค้งลายดอกไม้ และสัตว์มงคล ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิด

เจดีย์ประธานของวัดป่าสักนับเป็นเจดีย์ในศิลปะล้านนาตอนต้นเพียงองค์เดียวที่มีงานปูนปั้นประดับคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด และแสดงให้เห็นถึงความชำนาญของช่างล้านนา เพราะสามารถรวบรวมศิลปกรรมแต่รูปแบบไว้ได้อย่างลงตัว

ไม่ว่าจะเป็น “ฝักเพกา” ที่ประดับกรอบซุ้ม ซึ่งเป็นที่นิยมมากในศิลปะพม่า สมัยพุกาม, พระพุทธรูปนูนต่ำปางลีลาที่ทั้งล้านนาปรากฏให้เห็นแค่ที่แห่งนี้ รวมไปถึง “กาบล่าง” ซึ่งทำเป็นตัวสัตว์และลายหน้ากาลนิยมในศิลปะพม่าสมัยพุกามเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ปูนปั้นวัดป่าสัก” จึงได้รับขนานนามว่าเป็นปูนปั้นในศิลปะล้านนาตอนต้น หรือ ยุคต้นล้านนา ที่งดงามที่สุด

อย่างไรก็ตาม “เจดีย์” ดังกล่าวก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากอีกฟากฝั่งของกลุ่มนักวิชาการว่า “ปูนปั้น” ที่วัดป่าสักซึ่งเห็นกันอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้เก่าแก่ถึงขั้นยุคต้นล้านนาหรือราว 600 ปีที่แล้ว แต่อาจจะบูรณะในช่วงที่พม่าปกครองเชียงแสน เมื่อไม่กี่ 100 ปีก่อนหน้าก็เป็นได้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2566